สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปู่เจ้าลาวจก มีจอบเหล็ก อยู่บนดอยตุง จ. เชียงราย

เทือกเขาดอยตุง จ. เชียงราย (ภาพจาก ตำนาน ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สำนักพิมพ์มติชน 2555)

ปู่เจ้าลาวจก เป็นชื่อบรรพชนกษัตริย์ล้านนา (ราชวงศ์พญามังราย) มีหลักแหล่งอยู่บนดอยตุง (จ. เชียงราย)
คำว่า ลาว (ในชื่อลาวจก) หมายถึงผู้เป็นใหญ่ หรือกษัตริย์ แต่นักปราชญ์บางท่านว่ามาจากคำว่า ลัวะ หรือละว้า หมายถึงกลุ่มชนพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร
คำว่า จก (ในชื่อลาวจก) แปลว่า จอบ (ทำด้วยเหล็ก ใช้ขุดดิน เฮ็ดไฮ่บนที่สูง)หมายความว่าปู่เจ้าควบคุมเทคโนโลยีถลุงโลหะก้าวหน้าที่สุดของยุคนั้น แล้วมีเครื่องมือการผลิตก้าวหน้ากว่าคนอื่นๆ
ดอยตุง เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นแลนด์มาร์ก หรือหลักหมายสำคัญของคนยุคแรกเริ่มในดินแดนนี้ (ตุง เป็นสำเนียงล้านนา เรียกคำว่า ธง)

ตำนานดอยตุงเล่าว่าพวกปู่เจ้าลาวจก เอาเหล็กแลกข้าวจากพวก (ไท) ไตอยู่ที่ราบลุ่มในหุบเขาเชียงราย-เชียงแสน (ไท, ไต แปลว่าชาว หรือคน มีหลักแหล่งอยู่ที่ราบลุ่ม ชำนาญทำนาทดน้ำ ยุคแรกเริ่มไท, ไต ไม่ใช่คนไทย จะเป็นใครก็ได้ เผ่าพันธุ์อะไรไม่จำกัด ขอให้อยู่ที่ราบลุ่มและชำนาญทำนาทดน้ำก็ถือเป็นไท, ไต ทั้งนั้น)

สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ว่ากลุ่มชนบนที่สูงชำนาญถลุงโลหะ เช่น เหล็ก, ทองแดง แต่ไม่ชำนาญปลูกข้าว จึงเอาโลหะไปแลกข้าวกับกลุ่มชนทำนาทดน้ำบริเวณที่ราบลุ่ม
พวกอยู่บนที่สูง มักต้องการเปลี่ยนตัวเองเป็นไท, ไต เพื่อทำนาทดน้ำ แล้วทำมาค้าขายสะดวก แต่ต้องรอให้พวกไท,ไต ที่อยู่มาก่อนยอมรับ โดยการเปลี่ยนนับถือผีไท, ไต จึงจะเป็นไท, ไต ได้เหมือนพวกอยู่มาก่อน
ทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าสัญลักษณ์ความเกี่ยวดองของคนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่สูงกับที่ลุ่ม แล้วมีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐ ในที่สุดก็เรียกตัวเองว่าคนไทย (บรรพชนของคนปัจจุบัน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image