ความเข้าใจ (ผิด) เกี่ยวกับ “รามายณะ” (2)

ความเข้าใจ (ผิด) เกี่ยวกับ "รามายณะ" (2)

ความเข้าใจ (ผิด) เกี่ยวกับ “รามายณะ” (2)

รามายณะมีหลายฉบับมากในอินเดีย ว่ากันว่ามีถึงสามร้อยฉบับ แต่ละฉบับมีโครงเรื่องคล้ายกัน เช่น มีแก่นแกนอยู่ที่การรบ

แต่รายละเอียดอื่นอย่างตอนสีดาลุยไฟ พระลพพระกุศครองเมือง บางฉบับก็มี บางฉบับก็ไม่

บางฉบับเป็นการตีความให้เป็นเนื้อหาทางปรัชญาเลย เช่น อาทยาตมรามายณะ อธิบายว่า เรื่องราวของพระรามที่ปรากฏเป็นเพียง “มายา” เท่านั้น พระรามองค์จริงเป็น “พรหมัน” หรือสัจธรรมสูงสุด การจะเข้าใจธรรมขั้นโลกุตระในเรื่องรามายณะได้จะต้องตีความ “ลีลา” เหล่านั้น และต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงแง่มุมที่ลึกลับดังกล่าว

ที่จริงแล้ว ชาวบ้านในอินเดีย โดยมากไม่ได้รู้จักรามายณะฉบับมหาฤษีวาลมีกิ ทั้งที่เป็นฉบับสำคัญที่สุด (มิได้หมายความว่าเป็นฉบับแรกสุด) แต่เพราะเขียนด้วยสันสกฤต ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ใช้

Advertisement

ชาวบ้านจึงมักรู้จักรามายณะผ่านฉบับ “เล่าใหม่” ในภาษาพื้นบ้านอื่นๆ

เช่น ในภาคเหนือของอินเดีย ผู้คนคุ้นเคยกับ “รามจริตมานัส” ของโคสวามีตุลสีทาส (เขียนในภาษาอวธีหรือฮินดีตระกูลหนึ่ง) แถมยังแพรวพราวไปด้วยลีลา “บ้านๆ” และสอดแทรกเรื่องราวทางศาสนาไว้มากจนรัชกาลที่ 6 เคยทรงวิจารณ์ไว้ใน “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” ว่า ไม่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์สักเท่าใด

แต่ฉบับนี้คนอินเดียก็รักชอบเสียจนนำมาสวดขับกันอยู่เสมอถึงปัจจุบัน

Advertisement

ถ้าอยากลองไปฟังขับรามจริตมานัส ไปวัดฮินดู เช่น เทพมณเฑียร เสาชิงช้าหรือวัดวิษณุ ยานนาวาก็ได้ครับ พราหมณ์และศาสนิกท่านสวดกันทุกวันตอนเช้า บางครั้งก็สวดทั้งเล่มเวลามีงานใหญ่ๆ

ส่วนชาวอินเดียภาคใต้ก็มีฉบับสำคัญของตัวเองอย่าง รามาวตารัม ในภาษาทมิฬของกัมพัน เป็นต้น

และน่าจะเป็นที่มา (ส่วนหนึ่ง) ของ “รามเกียรติ์” ของเรา

เพราะรามเกียรติ์เรามีอะไรที่ค่อนไปทางทมิฬอยู่มาก เช่น ตัวละคร ไมยราพณ์ (ทมิฬ-มยิลิราวัณ) มูลพลัม ฯลฯ ที่ไม่มีในฉบับพระวาลมีกิ หรือบางพล็อตบางตอนที่หาในฉบับพระวาลมีกิไม่ได้

ถ้าสนใจโปรดอ่านต่อในหนังสือเกี่ยวกับรามเกียรติ์ของท่านพระยาอนุมานราชธนเถิดครับ

คือหากจะไปเทียบรามายณะของเรากับของพระวาลมีกิ โดยละเลยฉบับชาวบ้านทั้งหลายในอินเดีย ก็เหมือนไปหาของผิดที่

ยิ่งจะชวนให้งงให้สับสนไปกันใหญ่

หากถามว่า เหตุใดรามายณะจึงเป็นวรรณคดีที่สำคัญที่สุดของอินเดีย ผมคิดว่ามีสองเหตุผลใหญ่ๆ คือ

ข้อแรก เพราะรามายณะพัฒนามาจากเรื่องที่ “เก่าแก่” มากๆ

ท่านพระยาอนุมานราชธน เขียนไว้ในหนังสือ “อุปกรณ์รามเกียรติ์” (ใครสนใจเรื่องนี้ควรต้องมีไว้) ว่า นักวิชาการฝรั่ง เช่น ศ.ปิกฟอร์ถ และ ศ.ยโกบี เสนอว่าตำนานพระรามคงเป็นนิทานชาวบ้านมานานแล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้นมันมีเรื่องที่น่าจะเป็นต้นเค้าปรากฏในฤคเวทที่เก่าแก่ที่สุดด้วย

พระรามในรามายณะตรงกับ “พระอินทร์” ในพระเวท ซึ่งเป็นเทพแห่งฝน

พระรามกับพระอินทร์จึง “ตัวเขียว” หรือในบางแห่งว่าสีคล้ำอย่างเมฆฝนใหม่ๆ ไงครับ เพราะเธอคือตัวแทนของฝนทั้งคู่

ส่วน “สีดา” ในคัมภีร์พระเวทนั้น เป็นเทวีแห่ง “รอยไถ” เป็นเทวีแห่งผืนดินและความสมบูรณ์นั่นเอง

ดังนั้น รามายณะ คือภาพจำลองหรือการกลายมาของตำนานในฤคเวท พระอินทร์ (พระราม) คือเมฆฝนผู้ปราบวฤตาสูร (ทศกัณฐ์) อสูรแห่งความแห้งแล้ง แล้วแต่งงานกับแผ่นดิน (สีดา) จนมีลูกคือพืชพันธุ์ (พระลพ มาจาก ลว-แปลได้ว่า เก็บเกี่ยว กุศะ แปลว่าหญ้าคา)

สีดาในรามายณะถึงเกิดจากดิน (เธอถูกฝังแล้ว ถูก “ไถ” ขึ้นมาโดยท้าวชนก) แล้วสุดท้ายก็ลากลับไปสู่ดิน

รามายณะจึงเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ก่อนการนับถือพระรามในฐานะพระวิษณุอวตารด้วยซ้ำ เพราะเป็นอย่าง “นิทานขอฝน” สมัยดึกดำบรรพ์ ที่เล่นตำนาน “สร้างจักรวาล”

ฟ้า (เมฆ) สมสู่ดิน โดยเข้ารบกับความแห้งแล้ง แล้วก่อเกิดสรรพชีพ

อีกทั้ง “การรบ” เป็นแก่นอย่างหนึ่งที่สำคัญด้วย เพราะสมัยโบราณ การฆ่าฟันคือภาพสะท้อนการบูชายัญบน “เวที” (แปลว่าลานบูชายัญก็ได้) คือลานบูชายัญหรือสมรภูมิ

ในยุคเรืองศีลธรรม สงครามช่วยขับเน้นระบบศีลธรรมให้ชัดเจน เช่น ความกล้าหาญ ความสัตย์ ความเมตตา สงครามจึงเป็นพล็อตที่ขาดไม่ได้ของ “อิติหาส” หรือเรื่องของวีรบุรุษ

ดังนั้น สมัยโบราณ การรบพุ่งกันจึงเป็น “พิธีกรรม” อันหนึ่งด้วย มันมีอะไรมากกว่าการเอาชนะเข่นฆ่ากัน

ผมว่านี่คือเหตุผล “ลึกๆ” อันหนึ่งที่การแสดงชั้นสูงของไทย (และบางการแสดงชั้นสูงของแขก) อย่างโขน จึงกำหนดให้เล่นแต่รามายณะเท่านั้น

เพราะสภาพการณ์แบบเดียวกับที่มาของรามายณะ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งใน “เวที” การแสดง (ที่ถูกถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์) นักแสดงเสกสร้างจักรวาลจำลองขึ้นมาบนพื้นที่เล็กๆ นั้น และจำต้อง “ฆ่า” ตัวตนคนแสดง เพื่อไป “สวมใส่” อัตตาใหม่ เป็นเทพ ยักษ์ ลิง ฯลฯ โลดเล่นอยู่ชั่วขณะแล้วตายใหม่อีกครั้ง

เฉกเช่นการบูชายัญของโบราณกาล

การแสดงโขนถึงมีประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อหลายอย่างของตนเอง ที่ผนวกเอาทั้งศาสนาโบราณในท้องถิ่น ศาสนาพราหมณ์ และจักรวาลวิทยาของนาฏดุริยศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน

เป็นการซ้อนทับไปมาหลายชั้นของความศักดิ์สิทธิ์แบบพื้นเมือง แบบพราหมณ์ และความบันเทิง ทั้งโลกโลกีย์และโลกทิพย์

เช่นเดียวกับตัวเรื่องรามายณะเองที่ซับซ้อนเหลือประมาณ

ประการที่สอง รามายณะ ถูกทำให้เป็นวรรณคดีศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งในศาสนาของอินเดีย คือทำให้คนในวรรณกรรมถูกตีความจนสามารถกลายเป็นเทพเจ้าหรือภาวะศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้

รามายณะถูกผนวกเข้ากับการนับถือพระวิษณุในไวษณพนิกาย พระรามเป็นองค์อวตารที่สำคัญของพระวิษณุ เนื่องจากเรื่องรามายณะวางพระรามเป็น “ปุรุโษตมะ” หรือบุรุษอันอุดมดีพร้อม ทั้งยังมีความกรุณาหาที่เปรียบ ควรที่สุดที่จะเป็นอวตารของพระเป็นเจ้า

แต่ด้วยการผนวกรวมเช่นนี้ ก็ทำให้เกิด พระราม “หลายองค์” ขึ้นมา

คือพระรามในรามายณะองค์หนึ่ง ซึ่งมีข้อให้เราคิดแย้งเช่น การนำสีดาไปลุยไฟ หรือพาไปปล่อยในป่า พระรามองค์นี้ดูเหมือนมีความบกพร่องหลายประการในแบบมนุษย์

คณาจารย์ในไวษณพนิกายจึงพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับพระรามโดยเขียนอรรถาธิบายเพิ่มหรือเล่ารามายณะฉบับอื่นๆ อย่างที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว เพื่อแก้ปัญหานี้

เช่น ตีความว่าสีดาไม่ได้ลุยไฟจริงๆ แต่ที่ลุยไฟคือสีดามายา (พระรามจึงไม่ผิดอะไร) หรือแม้แต่เรื่องทั้งหมดนี้ในรามายณะคือมายา เพราะพระเจ้าต้องการแสดงภาวะต่างๆ ให้มนุษย์ได้ดู หรือไม่ก็ตัดบางตอนออกไปเลย เช่น ตอนลุยไฟ

ที่สำคัญคือการขับเน้นบางด้านของพระรามให้เด่นชัด เช่น ด้านของความเมตตากรุณาและอยู่ข้างคนยากคนจน

พระราม (องค์ในทางศาสนา) จึงค่อยๆ แตกต่างกับพระราม (ในรามายณะ) ขึ้นเรื่อยๆ

จนในที่สุด ก็มีนิกายย่อยๆ (ภายใต้ไวษณวะ) ที่ถือเอาพระรามเป็นพระเจ้าสูงสุดก็มี

และในเวลาต่อมา แม้แต่คำว่า “ราม” ได้กลายเป็นมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ซึ่งแปรความหมายไปเป็น “พระเจ้า” มากกว่าจะบ่งถึงพระรามใดๆ ไปแล้ว

จริงๆ นอกจากสองข้อข้างต้น ผมว่า เรื่องรามายณะยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอินเดียที่ทนทุกข์ด้วย เฉกเช่นเดียวับตัวละครผู้ทนทุกข์ทั้งหลายในรามายณะนั้น

วรรณคดีทางศาสนาของอินเดียจึงมีความหมายต่อผู้คน เพราะผู้คนนำตนเองเข้าไปอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น

พระรามจึงกลายเป็นความหวังของชาวบ้านที่เชื่อว่าด้วยความภักดีจะทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือไม่ก็ไปสู่โลกของพระเจ้าที่ดีกว่าโลกเดิม

โคสวามีตุลสีทาสผู้นิพนธ์ “รามจริตมานัส” ถึงบอกว่า รามายณะเป็นเหมือนทะเลสาบ ที่มีท่าลงหลายท่า

นักปราชญ์ราชบัณฑิตอาจลง “ราชฆาฏ” (ท่ายิ่งใหญ่) คือไปหาเอาความรู้ชั้นสูง หรือเรื่องจิตวิญญาณจากรามายณะ

ส่วนคุณแม่บ้านหรือชาวบ้านทั่วๆ ไป อาจลงไปอีกท่า เพื่อเอาข้อคิดและศีลธรรมระดับครอบครัว หรือเอาเรื่องสนุกฟังแก้เบื่อ

ตัวท่านโคสวามีเองท่านว่า จะขอลงท่าน้ำที่ต่ำต้อยที่สุด ขนาดพวกสัตว์พิการ และคนแก่คนยากลงไปได้ เอาพอแค่ได้ดื่มแก้กระหายชุ่มชื่นใจ

ช่างอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง

แต่ท่านคงไม่คิดว่า ทะเลสาปแห่งเรื่องราวของพระรามอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ยังมีคนอื่นๆ ที่อยากจะลงไปใช้อีกมากมาย เช่น เอาไปส่งเสริมพระราชอำนาจ

หรืออย่างร่วมสมัยหน่อยก็มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองขอลงไปใช้ด้วย และดูเหมือนจะใช้อย่างเอิกเกริกกว่าชาวบ้านเสียอีก

และทำให้รามายณะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระดับชาติไป

โปรดติดตามต่อ

นาร้ายณ์ – นารายณ์!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image