Parasite ประวัติศาสตร์บนเวทีออสการ์

Parasite ประวัติศาสตร์บนเวทีออสการ์

Parasite ประวัติศาสตร์บนเวทีออสการ์

ก่อนประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 92 Parasite เดินสายคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ ในเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่ง

อาทิ รางวัลปาล์มทองคำ (Palm d’Or) ที่เมืองคานส์ โดยได้รับการ “สแตนดิ้ง โอเวชั่น” นานกว่าแปดนาที รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 77 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซิดนีย์และมิวนิค รางวัลบาฟต้า (ตุ๊กตาทองอังกฤษ) แม้กระทั่งรางวัลนักแสดงนำกลุ่มซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของ SAG Award หรือสมาคมนักแสดงแห่งอเมริกา

ในส่วนรายได้ Parasite ทำรายได้ทั่วโลกประมาณ 165 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้าง 11 ล้านเหรียญ นับเป็นหนังที่ถูกจับตามองและคนในแวดวงภาพยนตร์พูดถึงมากที่สุด

แต่สำหรับรางวัลออสการ์ คนที่ชื่นชมหนังเรื่องนี้ก็ไม่แน่ใจว่าหนังจะสามารถก้าวผ่านเส้นแบ่งระหว่างภาพยนตร์ต่างประเทศ (นานาชาติ) ยอดเยี่ยม กับรางวัลหลักสาขาอื่นๆ ของออสการ์ได้

Advertisement

ประกอบกับปีนี้มีหนังเต็งรางวัลหลายเรื่อง ตั้งแต่ Joker ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดถึง 11 สาขา ตามด้วยหนังที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเรื่องละ 10 สาขา คือ 1917, Once Upon a Time… in Hollywood และ The Irishman

จึงมีผู้คาดการณ์ว่าอย่างเก่งที่ Parasite จะได้ก็คือรางวัลสาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมเท่านั้น

แต่ Parasite ก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของรางวัลออสการ์ได้สำเร็จ กลายเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง และยังสามารถคว้ารางวัลใหญ่อีกสามรางวัล คือ ผู้กำกับยอดเยี่ยม (บงจุนโฮกลายเป็นผู้กำกับเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้) บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม

Advertisement

หนังสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ว่าด้วยประเด็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของคนในสังคม ซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลกและไร้กาลเวลา มีอารมณ์ขันแบบขื่นๆ ผสมดราม่า ที่บงจุนโฮบอกว่า

“วิธีที่จะแสดงภาพชนชั้นและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้ คือทำหนังตลกปนเศร้า ดราม่าชีวิตคน ที่ในยุคทุนเรืองรอง ปัญหานี้ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในเกาหลี แต่เกิดขึ้นทั่วโลก มันมีเส้นแบ่งทางชนชั้นที่ไม่สามารถก้าวข้ามได้ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นรอยแยกดังกล่าว ที่ปรากฏขึ้นระหว่างชนชั้น เป็นปัญหาซึ่งกันและกัน และยิ่งห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมทุกวันนี้”

หนังไม่เพียงเป็นดราม่าที่สะท้อนความแตกต่างระหว่างคนจนคนรวยอย่างสุดขั้ว จนแม้ขนาดกลิ่นตัวก็ยังแตกต่างกัน แต่ยังกระโดดไปให้อารมณ์แบบหนังระทึกขวัญ ที่ทำให้คนดูลุ้นและอยากติดตามว่า ความสัมพันธ์ที่มีรากฐานจากความหลอกลวงของครอบครัวนักต้มตุ๋น ที่ทำตัวเป็นปรสิตแทรกซึมเข้าไปในครอบครัวชนชั้นสูง จะมีบทสรุปเป็นเช่นใด

สำหรับประเทศไทย เคยส่งหนังเข้าประกวดเวทีนานาชาติต่างๆ หลายเวที เรื่องน้ำพุของยุทธนา มุกดาสนิท เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ส่งประกวดออสการ์ในปี 1985 หนังลุงบุญมีระลึกชาติของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไปไกลขนาดได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลเมืองคานส์ปี 2010 (รางวัลเดียวกับที่ Parasite ได้) แต่กลับไม่ติดหนึ่งในห้าภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

ประเด็นที่ทำให้ Parasite ชนะรางวัลออสการ์ในหลายสาขา ที่พูดกันมากคือหนังมีความร่วมสมัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ บางทีหนังไทยที่ส่งเข้าประกวดในเวทีสากล อาจต้องคำนึงถึงเรื่องนี้

เพื่อไม่ให้บริบททางวัฒนธรรมที่คนดูฝั่งตะวันตกอาจเข้าไม่ถึง มาเป็นอุปสรรคในการพิจารณารางวัลภาพยนตร์ระดับนานาชาติแบบนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image