เห็นยัง? ภาพร่างจิตรกรรม’รามเกียรติ์’ก่อนเขียนจริงที่วัดพระแก้ว ‘เจ้าฟ้านริศฯ’ทรงวินิจฉัย’มีความประหลาดในตัว’

หลายคนที่เคยเดินทางไปเยี่ยมชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว คงต้องเคยเห็นภาพจิตรกรรมที่ระเบียงคด ซึ่งเขียนเป็นเรื่องรามเกียรติ์อันถือเป็นผลงานจิตรกรรมชั้นยอดที่ระดมครูบาอาจารย์และช่างชั้นเอกในกรุงรัตนโกสินทร์มาร่วมบรรจงสร้างผลงานครั้งยิ่งใหญ่

คำถามคือ การเขียนจิตรกรรมเรื่องยาวบนพื้นที่ระเบียงที่มีความยาวต่อเนื่องนั้น ต้องมีการวางแผนและทำภาพร่างก่อนหรือไม่อย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2554 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เคยนำสมุดภาพร่างจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อเขียนบนผนังระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากหอสมุดแห่งชาติ มาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการงานช่างหลวงที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ก่อนจะถูกนำไปเก็บไว้ที่หอสมุดดังเดิม

รามเกียรติ์

Advertisement

ภาพร่างนี้ถูกเขียนลงบนสมุดข่อย หรือสมุดไทยดำ ถือเป็นวัตถุที่หาชมได้ยากและมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีการอ้างถึงไว้ในพระวินิจฉัยว่าด้วยสมุดร่างภาพรามเกียรติ ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระนริศรานุวัดติวงศ์ ที่มีถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับสมุดเล่มนี้

ภาพร่าง ตอนทศกรรฐ์สั่งเมือง สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม ด้านซ้ายมือข้างบน มีข้อความว่า "คางป่ตูฉ่นวนดานตวันตกถึงมูม 3 หอง” (ข้างประตูฉนวนด้านตะวันตก ถึงมุม 3ห้อง)
ภาพร่าง ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม ด้านซ้ายมือข้างบน มีข้อความว่า “คางป่ตูฉ่นวนดานตวันตกถึงมูม 3 หอง” (ข้างประตูฉนวนด้านตะวันตก ถึงมุม 3 ห้อง)

พระวินิจฉัยของสมเด็จเจ้าฟ้าพระนริศรานุวัดติวงศ์ ตอนหนึ่ง มีดังนี้

สมุดภาพรามเกียรติ์ ซึ่งโปรดประทานไปพิจารณา แล้วถวายคืนมาเล่มนี้ คิดเห็นว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งร่างเทียบที่สำหรับใช้ประกอบการเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามใน ยุคหนึ่ง รู้ได้ที่มีหนังสือจดไว้ในนั้นแห่งหนึ่งว่า “คางป่ตูฉ่นวนดานตวันตกถึงมูม ๓ หอง”

ในการเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เป็นการที่ต้องจัดผิดแผกกว่าการเขียนแห่งอื่น เช่นเขียนโบสถ์แห่งใดแห่งหนึ่ง เปรียบว่าเขียนเรื่องทศชาติ เป็นต้น ก็มีแต่แม่กองกะว่าห้องนั้นเขียนเรื่องพระเตมีย์ ห้องนั้นเขียนเรื่องพระชนก แล้วช่างผู้ซึ่งรับเขียนห้องนั้น ก็ร่างเองเขียนเองตามชอบใจ จะเลือกเขียนปางไหนในเรื่องนั้น หรือจะประกอบกันสองปางสามปางก็ได้ แล้วแต่จะมีที่เขียนมากน้อย เหตุที่ปล่อยให้ทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะห้องหนึ่งก็เรื่องหนึ่ง มีหน้าต่างคั่นผนังไม่ต่อกันและเรื่องก็ไม่ต่อกัน

ส่วนเขียนเรื่อง รามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น จะปล่อยให้ช่างผู้รับเขียนห้องร่างเองเขียนเองตามใจไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเดียวเขียนผนังผืนเดียวยาวนับด้วยร้อยห้อง เรื่องขนาบคาบเกี่ยวกัน จะยกตัวอย่างเช่นศึกตอนหนึ่งอย่างน้อยก็กินที่เกี่ยวกันถึง 3 ห้อง คือวางพลับพลาในห้องซ้าย ห้องกลางเป็นสนามรบ ห้องขวาเป็นเมือง ยกออกทางเบื้องบน เลิกกลับทางเบื้องล่าง ดังนี้จำเป็นต้องมีนายช่างใหญ่เป็นผู้ร่าง ให้เห็นว่าวางพลับพลาวางเมืองตรงไหน เข้า-ออกทางไหน แล้วช่างเขียนต่างก็เข้ารับเขียนห้องละคน

รามเกียรติ์09

….. สมุดเล่มนี้ยังมีความประหลาดในตัวอยู่อีก ที่ไม่ใช่มีแต่เส้นร่างด้วยดินสอเท่านั้น ยังได้ลงเส้นผ่านไว้หลายตอน และฝีมือเส้นฝุ่นนั้นสำส่อนหลายมือ มีตั้งแต่เด็กยังเขียนไม่เป็น ขึ้นไปจนช่างฝีมือดีมีชื่อเสียง ได้พิจารณาดูฝีมือพร้อมพระวิทยประจง (จ่าง) สังเกตลงความเห็นต้องกันจำฝีมือได้แต่แก่ใจอยู่ 5 คน คือห้องสั่งเมืองเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง ห้องทศกัณฐ์ล้มเป็นฝีมือพระยาหัตถการบัญชา (กัน) ทำไมจึงเป็นได้เช่นนั้น สันนิษฐานว่าสมุดเล่มนี้ นายช่างใหญ่ผู้มีหน้าที่ร่างได้ร่างลองดู จะเป็นร่างลองที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นเองก็ได้ หรือร่างลอง ณ ที่อยู่ แล้วเอามากางดูที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นก็ได้ แล้วสมุดนั้นก็ทอดทิ้งอยู่ในเวลาทำการเขียนกัน พวกช่างที่มารับเขียนซึ่งคุ้นเคยกับท่านผู้ร่าง เวลาหยุดพักก็คงมานั่งกินน้ำชาพูดจาวิสาสะกันไปพลาง พลิกสมุดที่ทิ้งอยู่ดูกันไปพลาง แล้วจะมีช่างคนใดคนหนึ่งนึกสนุกขึ้นมาตัดเส้นฝุ่นเล่นขึ้นเผนิกหนึ่ง เลยเห็นกันเป็นสนุกต่างเข้าตัดเส้นฝุ่นกันเล่นคนละเผนิกสองเผนิกเป็นแข่งขันกันในที

ครั้นเสร็จงานแล้วท่านผู้ร่างก็เก็บสมุดไปบ้าน สมุดนั้นทิ้งอยู่ด้วยมิได้รักษาช้านาน ถูกไอฝนชื้นจนเส้นฝุ่นลบเลือนไปก็มี ทีนี้ก็มีคนเขียนไม่ค่อยเป็น ซ่อมเส้นที่ลบเลือนด้วยดินสอ บางแห่งพยายามจะลงเส้นฝุ่นก็มี แต่ไม่สำเร็จเพราะรู้ตัวว่าทำไปไม่ได้ นอกนั้นยังมีฝีมือเด็กที่เขียนไม่เป็นเลยลงเส้นตามร่างอีก เป็นการแน่ มีเขียนไม่เป็นเหล่านั้น เป็นลูกหลานของท่านผู้ร่าง ซึ่งสมุดเป็นมรดกตกอยู่กับบ้าน

ถ้าจะเดาอย่างไม่ยับยั้งแล้ว จะต้องว่าสมุดเล่มนี้เป็นของพระยาหัตถการบัญชา (กัน) ร่างขึ้นเมื่อเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวต้นรัชกาลที่ 5

 

รายละเอียดภาพร่างตอน ศึกท้าวจักรวรรดิ์ ไม่ทราบชื่อผู้ร่าง
รายละเอียดภาพร่างตอน ศึกท้าวจักรวรรดิ์ ไม่ทราบชื่อผู้ร่าง
รายละเอียดภาพร่างตอน ศึกท้าวจักรวรรดิ์ ไม่ทราบชื่อผู้ร่าง
รายละเอียดภาพร่างตอน ศึกท้าวจักรวรรดิ์ ไม่ทราบชื่อผู้ร่าง

 

กรรฐ์ล้มสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระยาหัตการบัญชา (กัน)
กัณฐ์ล้มสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระยาหัตถการบัญชา (กัน)
ภาพร่าง ตอนทศกรรฐ์สั่งเมือง สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม และตอนทศกรรฐ์ล้มสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระยาหัตการบัญชา (กัน)
ภาพร่าง ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม และตอนทศกัณฐ์ล้มสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระยาหัตถการบัญชา (กัน)

ขอบคุณภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image