ที่มา | คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ขวัญเอ๋ย ขวัญมา
ทำขวัญ, สู่ขวัญ, เรียกขวัญ, เลี้ยงขวัญ (ในศาสนาผี) มีเรียกหลายชื่อ แต่เป็นอย่างเดียวกัน คือพิธีกรรมง่ายๆ ที่แสดงความผูกพันและความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติระหว่างบุคคลกับครอบครัว และบุคคลกับชุมชนในสังคมเกษตรกรรม
พิธีกรรมเกี่ยวกับขวัญ มีในทุกช่วงสำคัญของชีวิต ทั้งเหตุดีและไม่ดี ตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อให้ผู้รับทำขวัญพ้นจากความวิตกกังวลหวาดกลัวหรือตกใจ ต่อการเปลี่ยนแปลงสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งเท่ากับสร้างความมั่นใจและความมั่นคงแก่ผู้รับขวัญ
[เมื่อรับศาสนาจากอินเดียแล้ว พิธีทำขวัญอย่างง่ายๆ ในท้องถิ่นก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ซับซ้อนขึ้นโดยรับคติพราหมณ์กับพุทธเข้ามาประสมประสาน]
ขวัญ คือส่วนที่ไม่เป็นตัวตนของคน, สัตว์, สิ่งของ ซึ่งมีในความเชื่อของคนทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว
ขวัญมีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง หรือทุกส่วนของคน, สัตว์, สิ่งของ ถ้าขวัญอยู่คู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุขสบาย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไป เจ้าของขวัญจะไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตาย
เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของขวัญเจ็บป่วยมาก แสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว ดังนั้นผู้ใหญ่ในครอบครัวต้องทำพิธีเรียกขวัญให้กลับเข้าสู่ตัว เพื่อให้เจ้าของขวัญอยู่ดีมีสุข
รูปร่างขวัญเป็นวงๆ
ขวัญมีรูปร่างอย่างวงๆ วนเวียนซ้อนกันหลายชั้น ดังลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียง (คล้ายลายก้นหอย) ราว 2,500 ปีมาแล้ว เสมือนขวัญของคนตายมีอยู่ในหม้อใบนั้น
โดยช่างเขียนเคยเห็นลักษณะที่เชื่อว่านั่นคือขวัญ จากบริเวณโคนเส้นผมบนกลางกระหม่อมของทุกคน แล้วยังเห็นตามโคนเส้นขนที่เป็นขวัญบนตัวสัตว์ เช่น วัว, ควาย
หม้อเขียนสีบ้านเชียงลายขวัญ คนยุคนั้นทำขึ้นไว้ฝังดินไปกับศพ เพื่อเรียกขวัญคนตายให้คืนร่าง จะได้มีชีวิตปกติ (ฟื้น) เหมือนเดิม
[น่าจะเป็นต้นแบบประเพณีเรียกขวัญใส่หม้อเพื่อเซ่นวักหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ขวัญอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ร่อนเร่พเนจร เช่น เอาหม้อไปไว้หอผี หรือที่สาธารณะปากทางเข้าชุมชน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเรียกวิญญาณดุร้ายใส่หม้อไปถ่วงน้ำ แล้วยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมใส่หม้อ?]
ขวัญเอ้ย ขวัญมา ขวัญอย่าหนีดีฝ่อเหมือนปีก่อน
ขวัญมีรูปร่างเหมือนลายเขียนสีหม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีขุดพบที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี