เมื่อ “เชฟหมี” เขียนถึงประเด็นฮ็อต “ตุ๊กตาลูกเทพ”

ตุ๊กตาลูกเทพ

จู่ๆ กระแสการพูดถึงลูกเทพก็กลับมาอีกในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและสังคมออนไลน์ ทั้งๆ ที่เคยเป็นกระแสข่าวมาแล้วครั้งนึง

คราวนี้คงเพราะลูกเทพมีวิวัฒนาการมากขึ้น ทั้งมีผู้นำลูกเทพไปทานอาหารในร้านต่างๆ มีการพาไปเสริมสวย ทำบุญ หรือล่าสุดมีผู้รับจ้างฝากเลี้ยงลูกเทพ คนในสังคมจึงกลับมาสนใจปรากฏการณ์นี้อีกครั้ง

ผมคิดว่า ลูกเทพสะท้อนอะไรในความเชื่อผีและวิวัฒนาการของความเชื่อนี้หลายอย่าง

ถ้าถามว่า ที่จริงตุ๊กตาลูกเทพคืออะไร

Advertisement

หากตอบตามระบบความเชื่อของไทย ตุ๊กตาลูกเทพก็คือกุมารทองนั่นแหละครับ

แต่เป็นกุมารทองที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์แบบเดิม ไม่ต้องไว้จุก ไม่ต้องทำจากดินเจ็ดป่าช้าผสมกระดูกผีหรืออะไรแบบนั้น น่ารักขึ้นโดยเอาตุ๊กตาเด็กฝรั่งมาใช้แทน เอาไปปลุกเสกซะหน่อย จารยันต์ซะหน่อย

ในแง่นี้ จึงไม่มีอะไรใหม่นอกจากรูปลักษณ์ภายนอก

Advertisement

พูดง่ายๆ ว่า แค่เปลี่ยนข้างนอกแต่มีความเชื่อข้างในแบบเดิม

ส่วนชื่อ “ลูกเทพ” ผมคิดว่าเป็นผลจากระบบการตลาดในวงการไสยศาสตร์ไทย สมัยก่อนกุมารทองแบบเก่ามักเกี่ยวข้องกับอะไรผีๆ สางๆ เช่น ทำจากกระดูกผี หรือเชิญวิญญาณผีมาสิงสู่ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าที่จะใช้เพราะดูน่ากลัวและเหมือนจะสามารถให้โทษได้

วงการพระเครื่อง จึงมีการอ้างถึงกุมารทองบางสูตรบางสำนักว่า ใช้อิทธิฤทธิ์ของเทพไม่ใช่ผี

ศัพท์วงการเขาใช้ว่า “สายเทพ” ให้แต่คุณไม่ให้โทษ

คนเอาไปบูชาที่กล้าๆ กลัวๆ จึงรับเอาไปใช้โดยง่าย

พอใช้ง่ายก็เลยปล่อยเช่าบูชาง่ายด้วยครับ เป็นการตลาดที่ใช้จิตวิทยามาประสานความเชื่อ

เปลี่ยนชื่อแล้วปัญหาหมดไปนี่คุ้นๆ นะครับ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่คุ้นๆ ยังไงไม่รู้

ตุ๊กตาลูกเทพก็ใช้หลักการแบบเดียวกันนี้ แทนที่จะเรียกตุ๊กตาผี ตุ๊กตากุมาร ก็เรียกลูกเทพแทน

ไม่เพียงเปลี่ยนแต่ชื่อ แต่เปลี่ยนวัสดุและรูปลักษณ์ภายนอกด้วย

สังคมเราเป็นสังคมที่สามารถทำให้ “เทคโนโลยี” หรือความเจริญทางด้านวัตถุ ถูกนำมารับใช้ความเชื่อเดิมได้อย่างง่ายดาย

ปรากฏการณ์ลูกเทพจึงเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของภาพสะท้อนนี้

นอกจากลูกเทพ เรามีแอพดูดวง แอพไหว้พระออนไลน์ แอพทำพิธีกรรมออนไลน์อะไรอีกตั้งมากมาย

ความเจริญทางเทคโนโลยีในบ้านเรา จึงเป็นคนละส่วนกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่ “ความคิดแบบวิทยาศาสตร์” คือความคิดเชิงเหตุผลและวิเคราะห์วิพากษ์ที่ต้องทำให้กลายเป็นความคิดพื้นฐานของคนในสังคม

ซึ่งน่าจะยากมากสำหรับสังคมที่มีฐานคิดตั้งอยู่บนความเชื่ออย่างสังคมไทย

ผมอยากย้อนไปว่าที่จริงแล้วการนับถือเด็กเป็นสิ่งที่มีมานมนานในศาสนาดึกดำบรรพ์

ดังมีการขุดพบสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับเด็ก เช่น ศรีวัตสะ หรือพิธีกรรมการบูชาเด็กที่ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

เช่น การนับถือกุมารีในเนปาลและอินเดีย อันเป็นภาพสะท้อนการนับถือเด็กของศาสนาดึกดำบรรพ์

ด้วยเหตุว่าเด็กนั้นมีพลังของชีวิตอันน่าอัศจรรย์

เด็กเติบโตอย่างรวดเร็วจนสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่มีแต่จะแก่ชรา

เด็กเป็นผลิตผลของธรรมชาติ เป็นชีวิตใหม่และความหวัง

และเมื่อเราได้พบกับเด็กกลับเกิดความรู้สึกแปลกประหลาดคือรักและเอ็นดู

ผมไม่ได้บอกว่าการนับถือกุมารทองหรือลูกเทพจะเป็นอย่างเดียวกับลัทธิการนับถือเด็กในโลกดึกดำบรรพ์ เพียงแต่การนับถือเด็กนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นของศาสนาโบราณมาก่อน

ที่ผมสนใจคือตุ๊กตาลูกเทพมีอะไรที่ต่างไปจากการนับถือกุมารทองแบบเก่าที่เรามีบ้าง นอกจากตัวความเชื่อซึ่งเป็นของเดิมแน่ๆ แต่ตุ๊กตาลูกเทพน่าจะสะท้อนความพยายามที่ศาสนาผีจะปรับตัวให้รอดในโลกสมัยใหม่อีกหลายประการ

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์นั้นช่วยให้ต้องตามรสนิยมและวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่

กุมารทองแบบโบราณแม้ว่าผู้ใช้จะพยายามมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น ชวนกินข้าว พูดคุย และให้ของเล่น แต่ตัวรูปลักษณ์กลับไม่ค่อยเชื้อชวนให้อุ้มไปไหนต่อไหน

จะแต่งตัวก็มีแต่ชุดโบราณ ส่วนตุ๊กตาลูกเทพกลับเหมาะกว่าที่จะพาไปไหนมาไหนเหมือนลูก จะแต่งตัวก็มีชุดเสื้อผ้าให้ใส่ง่ายกว่า น่ารักกว่า เซลฟี่ก็ดูดี

ที่จริงตุ๊กตาที่นำมาทำลูกเทพนี้ในเมืองนอกก็เป็นตุ๊กตาสำหรับคนที่ต้องการจะนำมาเล่นแทนเด็กหรือลูกอยู่แล้ว ในแง่การใช้งานจึงเหมาะสมมาก

การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นการลดภาพลักษณ์ความขึงขังศักดิ์สิทธิ์ลง ทำให้ดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

ซึ่งนอกจากตัวเจ้าลูกเทพนี่แล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในกรณีของเทพเจ้าฮินดูด้วย เช่น การสร้างเทวรูปพระพิฆเนศวรที่มีหน้าตาน่ารักแพร่หลายกันโดยทั่วไป

ผมคิดว่านี้สะท้อนภาวะทางจิตใจของคนในโลกสมัยใหม่ คือลึกๆ มีความโหยหาต้องการที่จะปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันกลับปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จริงๆ น้อยลงเพราะสภาพสังคมเมืองที่ทำให้เราเป็นปัจเจก จึงต้องทำให้เราสวมความเป็นมนุษย์ให้กับสิ่งต่างๆ ที่สามารถครอบครองได้ไม่ว่าจะลูกเทพหรือสัตว์เลี้ยง

อีกทางหนึ่งคือการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแบบที่พยายามจะลดระดับความสัมพันธ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นลงมาให้เท่าเทียมกันกับตนหรือไม่ห่างกันจนเกินไปนัก ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย

ประการที่สอง ความแพร่หลายของลูกเทพเกี่ยวพันกับโลกโซเชียลมีเดีย ในแง่นี้โซเชียลมีเดียก่อให้เกิดทั้งกระแสความนิยมและการตั้งคำถามท้าทายในเวลาเดียวกัน แบบเดียวกับที่พิธีกรรมและความเชื่ออื่นๆ กำลังเผชิญอยู่

โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์กันอย่างใหม่ที่ทำให้ความเชื่อของปัจเจกบุคคลเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

มองในแง่ดีคือเกิดพื้นที่ถกเถียงกันอย่างมีสถานภาพเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มทั่วไปของโลกสมัยใหม่

เพียงแต่ตอนนี้สภาพการณ์ดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้น จนชวนให้หลายคนรู้สึกว่าเป็นความขัดแย้งอันน่ากลัว

แต่ผมคิดว่าความขัดแย้งทางความคิดเสียอีกที่ทำให้ปัญญางอกเงย เพียงแต่เราไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่

ประการที่สามลูกเทพเป็นผลผลิตของโลกฆราวาส

เป็น “ผี” ที่ไม่ได้ไปอาศัยพื้นที่วัดและพระอีกแล้ว

ผมจำได้ว่าสำนักแรกๆ ที่เอาลูกเทพออกมาเผยแพร่เป็นสำนักอาจารย์ที่เป็นฆราวาสหนุ่ม และลูกเทพส่วนใหญ่ออกมาจากสำนักของฆราวาสทั้งนั้น

ด้วยเพราะสำนักความเชื่อที่เป็นของฆราวาสมีความยืดหยุนสูงที่จะปรับตัวได้ง่ายมากกว่าสำนักที่มีความใกล้ชิดกับสถาบันศาสนา

และเพราะไม่มีสังกัดจึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับ

ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทางความเชื่อออกมาได้เรื่อยๆ ตามความสนใจของฆราวาสด้วยกัน ซึ่งจะยิ่งแตกต่างหลากหลายวิจิตรพิสดารต่อไปอีกในอนาคต

และจะเติบโตแพร่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายเราควรจะรู้สึกเกี่ยวกับคนนับถือลูกเทพอย่างไร

คำถามนี้ผมคงจะต้องย้อนกลับไปถามผู้ถามว่า จะมองเรื่องนี้จากจุดยืนแบบไหน ถ้าจากจุดยืนแบบพุทธศาสนา มีพระภิกษุหลายรูปแสดงความคิดเห็นไว้แล้วว่า ชาวพุทธควรจะนับถือเฉพาะพระรัตนตรัยและไม่ควรเกี่ยวข้องกับ “ไสยศาสตร์” หรือ “เดรัจฉานวิชา” เหล่านี้

แต่หากมองบนจุดยืนของเสรีภาพทางศาสนา บุคคลจะมีความเชื่ออย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่ความเชื่อนั้นไม่ละเมิดผู้อื่นหรือกฎหมายซึ่งเป็นกติกาพื้นฐานที่สุดในการอยู่ร่วมกัน

แต่ก็มิได้หมายความว่า ความเชื่อนั้นจะไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถาม

ผมคิดว่า ความเชื่อไหนๆ ก็ควรจะวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามได้ทั้งสิ้น และการวิจารณ์หรือตั้งคำถามนั้นก็ต้องมีกติกาอันเดียวกัน คือไม่ไปละเมิดหรือทำให้เกิดความรุนแรง

เพียงแต่ที่มักมีปรากฏในสังคมไทย คือทั้งสองฝ่ายมักเคยชินกับอำนาจนิยมไม่ว่าจะจากฝ่ายของความเชื่อ หรือจากฝ่ายของผู้วิจารณ์ ฝ่ายของความเชื่อมักอ้างบาปบุญคุณโทษ ในขณะที่อีกฝ่าย (ที่ดูเหมือนมีภาพลักษณ์ของโลกสมัยใหม่) ก็วิจารณ์บนฐานความเชื่อว่ามีความถูกต้องดำรงอยู่เพียงแบบเดียวและสิ่งที่ขัดแย้งจะต้องถูกขจัดออกไป อันเป็นวิธีคิดที่ไม่ต่างกับสถาบันทางศาสนา หรือฝ่ายความเชื่อเสียเอง

ผมหวังใจว่าในอนาคตอันใกล้สังคมไทยน่าจะปล่อยให้คนที่มีความเชื่อหลากหลายอยู่กันไปภายใต้กรอบกติกาพื้นฐาน เอาเข้าจริงๆ ผมไม่แน่ใจว่าเราวิพากษ์วิจารณ์คนเลี้ยงลูกเทพเพราะเราหมั่นไส้และเห็นว่ามันแปลกประหลาด

หรือเราสนใจที่จะเข้าไปสำรวจตรวจสอบความเชื่อนั้นอย่างจริงจัง

และอยากจะมีสังคมที่มีเหตุผลและวิจารณญาณจริงๆ กันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image