สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชาวเล ภูเก็ต และอุษาคเนย์ ส่วนหนึ่งของบรรพชนไทย

กลุ่มชายฉกรรจ์ปะทะกับชาวอูรักลาโว้ย หรือชาวไทยใหม่ ที่พยายามขัดขวางไม่ให้ปิดกั้นเส้นทางของชาวบ้าน บริเวณหาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ต. ราไวย์ อ. เมือง จ. ภูเก็ต เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559

หลักฐานวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่าชาวเล (ทางการเรียกไทยใหม่) บ้านราไวย์ จ. ภูเก็ต ถูกไล่ที่ซึ่งอยู่กันมาแต่ครั้งบรรพชน นานกว่า 100 ปีมาแล้ว
แต่หลักฐานประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม ชาวเลชาวน้ำอยู่ที่นี่ ที่ภูเก็ต มานานกว่า 2,000 ปีมาแล้ว
น่าจะนับเป็นบรรพชนคนไทยอีกสายแหรกหนึ่งได้ ถ้ายอมรับความจริงทางวัฒนธรรมว่าคนไทยเป็นลูกผสมร้อยพ่อพันแม่ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว

ปัญหาอยู่ที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ยกย่องชนชาติไทยพวกเดียว แล้วกีดกันโดยทำมองไม่เห็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคนไทยปัจจุบัน
ชาวเล เป็นที่รู้จักแพร่หลายทางสากลในชื่อ ชาวน้ำ (ซึ่งมีตามชายฝั่งและหมู่เกาะเกือบครึ่งโลก) น่าจะเป็นคนกลุ่มแรกสุด หรือเก่าสุด ที่ตั้งหลักแหล่งตามชายฝั่งรอบเกาะภูเก็ต เพราะชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ต่างๆ เกือบทั้งหมดมีรากจากภาษาชาวเล เช่น ราไวย์ ในชื่อหาดราไวย์ (และบ้านราไวย์) มาจากภาษาชาวเลว่า ปาไตราไวย์ หมายถึง หาดตกปลาตกกุ้ง (ปาไต แปลว่า หาด, ราไวย์ แปลว่า เบ็ดตกปลา ตกกุ้ง)

สิเหร่ ในชื่อเกาะสิเหร่ มาจากภาษาชาวเลว่า ปูเลาสิเหร่ หมายถึง เกาะพลู (ปูเลา แปลว่า เกาะ, สิเหร่ แปลว่า พลู เคี้ยวกับหมาก)
[ข้อมูลนี้ได้จากหนังสือ ถลาง ภูเก็ต และชายฝั่งอันดามัน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และเศรษฐกิจ กรมศิลปากรพิมพ์เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง 14 มีนาคม 2532 หน้า 222]
แม้ชื่อ ภูเก็ต และถลาง ก็น่าจะมีต้นรากจากภาษาชาวเล (เครือญาติตระกูลภาษา ชวา-มลายู)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image