คนกินแสง : นิทรรศการศิลปะแห่งแสงที่เคลื่อนไหวในความมืด (1)

คนกินแสง : นิทรรศการศิลปะแห่งแสงที่เคลื่อนไหวในความมืด (1)

คนกินแสง : นิทรรศการศิลปะแห่งแสงที่เคลื่อนไหวในความมืด (1)

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้มีนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจนิทรรศการหนึ่งถูกจัดขึ้นที่เมืองเชียงใหม่

ซึ่งนอกจากจะเป็นนิทรรศการเปิดตัวประเดิมพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่ของประเทศไทยที่มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจก็คือมันไม่ได้เป็นนิทรรศการศิลปะที่แสดงผลงานภาพวาดของศิลปินแบบปกติทั่วไปอย่างที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคย

หากแต่แสดงผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่ง

Advertisement

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า “คนกินแสง” (THE SERENITY OF MADNESS)

และผู้กำกับภาพยนตร์คนนั้นมีชื่อว่า อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ถ้าพูดถึงชื่อของอภิชาติพงศ์ หลายคนที่เป็นคอหนังนอกกระแสคงคุ้นเคยกับเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์อิสระชาวไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และคว้ารางวัลจากเวทีประกวดระดับโลกมามากมายหลายแห่ง

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโทด้านวิจิตรศิลป์ สาขาภาพยนตร์ จาก The School of Art Institute of Chicago

อภิชาติพงศ์ เป็นหนึ่งในคนทำภาพยนตร์ไม่กี่คนใประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ ภาพยนตร์ของเขามักจะเป็นการทดลอง ท้าทาย ยั่วล้อ บิดขนบและระบบคิดในการทำภาพยนตร์ โดยยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากภาพยนตร์ไทยสมัยเก่าๆ ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์สมัยก่อนๆ ไปจนถึงการ์ตูนเล่มละบาทที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง

ผนวกเข้ากับความเชื่อพื้นบ้าน นิทานปรัมปรา ตำนานท้องถิ่น เรื่องผีสาง และการหยิบยกเอาเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ของชนบท และเหล่าคนชายขอบที่ไม่เคยมีความหมายในสังคมขึ้นมาพูดถึง

รวมถึงการนำเสนอความเป็นไทยในแบบธรรมชาติที่ไม่แสร้งดัด บทสนทนาที่ไร้การปรุงแต่ง

การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกและบรรยากาศมากกว่าการเล่าแบบเอาเรื่อง

การหยิบเอาแรงบันดาลใจจากละครจักรๆ วงศ์ๆ

ความน่ารักน่าเอ็นดูและอารมณ์ขันอันใสซื่อของคนต่างจังหวัดที่ไม่ได้นำเสนอแบบล้อเลียน

สลายเส้นแบ่งระหว่างความเป็นเมืองกับชนบท ทำลายอคติทางเชื้อชาติ ด้วยการใช้ภาษาท้องถิ่นในหนัง

แม้กระทั่งหยอกเอินและวิพากษ์วิจารณ์ความคร่ำเคร่งจนเกือบจะคร่ำครึของศาสนา

อีกทั้งยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมทางชนชั้นได้อย่างแนบเนียน

รวมถึงแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ของปัจเจกชนมากกว่าจะนำเสนอความเป็นชาตินิยมและความเป็นไทยตามแบบแผนที่กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานทางศิลปะของไทยชอบนำเสนอในเวทีโลก ด้วยการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์อันเรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิผล

ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างพรมแดนของความจริงกับมายา

แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้เทคนิคเดียวกันย้ำเตือนกับเราอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราเห็นบนจอภาพยนตร์นั้นไม่ใช่เรื่องจริง

สําหรับความเป็นคนทำหนัง อภิชาติพงศ์คงไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ตัวเองอีกแล้ว ดูได้จากรางวัลต่างๆ ที่ได้รับจากงานเทศกาลหนังระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล

ไม่ว่าจะเป็นจากรางวัล Un Certain Regard จากหนังเรื่อง “สุดเสน่หา” (Blissfully Yours)

และรางวัล Jury Price จากหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด!” (Tropical Malady) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ฝรั่งเศส

และ แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) ที่ได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองเวนิส อิตาลี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานภาพยนตร์ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ของเขาที่ได้รางวัลสูงสุดภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ครั้งที่ 63 อีกด้วย

ด้วยดีกรีขนาดนี้ อภิชาติพงศ์น่าจะเป็นผู้กำกับฯ ที่เนื้อหอมและเป็นที่ต้องการตัวที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

หากแต่ในความเป็นจริงกลับเป็นตรงกันข้าม เหมือนกับชะตากรรมของคนทำหนังนอกกระแสทั่วๆ ไป ผลงานของเขาไม่ได้รับการตอบรับที่ดีในบ้านเรานัก

จนสามารถกล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้กำกับหนังไทยที่มีคนไทยดูน้อยที่สุดคนหนึ่ง

เหตุเพราะหนังของอภิชาติพงศ์มักจะให้ความสำคัญกับอารมณ์ ความรู้สึก และสัญชาตญาณ มากกว่าการเล่าเรื่อง (หรือที่คนส่วนใหญ่แดกดันว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” นั่นแหละ)

การแช่กล้องนานๆ และดำเนินเรื่องเนิบช้าเอื่อยเฉื่อย เป็นเหตุให้นักดูหนังหลายๆ คน ที่เคยชินกับการดูหนังแบบเอาเรื่องและตัดต่อฉับไวอย่างหนังฮอลลีวู้ด มักตำหนิว่างานของเขาน่าเบื่อ ชวนหลับ ไม่ปะติดปะต่อ หยาบถึงขั้นมักง่าย ซ้ำร้ายเหมือนคนทำหนังไม่เป็นด้วยซ้ำ

ทั้งที่ในความเป็นจริง หนังของอภิชาติพงศ์ใช้ประโยชน์จากศักยภาพในความเป็นภาพยนตร์อย่างถึงที่สุด ด้วยการให้ความสำคัญกับรายละเอียดของภาพ ลำดับชั้นของแสงสว่างและความมืด รายละเอียดของสี การจัดวางทัศนธาตุหรือองค์ประกอบทางสายตาอย่างละเอียดอ่อน และมิติของเสียง

เรียกได้ว่าเป็นการใช้ศักยภาพของภาพยนตร์อย่างถึงขีดสุด

พูดอีกอย่างก็คือ การดูหนังของเขาให้สมบูรณ์พร้อมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ดูหนังของเขาในโรงภาพยนตร์

แต่น่าเสียดายที่โอกาสในการดูหนังของเขาในโรงหนังบ้านเรามีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ด้วยเงื่อนไขทางการตลาดที่ทำให้หนังของเขาถูกฉายอย่างจำกัด

แถมยังต้องประสบกับชะตากรรมที่เลวร้ายจากความคับแคบของระบบเซ็นเซอร์เมืองไทย ปัจจุบันหนังของอภิชาติพงศ์เดินสายไปฉายเรียกเสียงชื่นชมในโรงหนังทั่วโลก ยกเว้นโรงหนังในเมืองไทย

หนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง “รักที่ขอนแก่น” (Cemetery of Splendor) ก็ไม่มีโอกาสเข้าฉายในเมืองไทย และตัวอภิชาติพงศ์ยังประกาศหยุดทำภาพยนตร์ (ขนาดยาว) ในประเทศไทยอีกด้วย

หลังจากนี้คนไทยอย่างเราจะมีโอกาสได้ดูชมผลงานของเขาในโรงภาพยนตร์อีกหรือไม่ ก็ไม่อาจรู้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image