ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ใน Embrace of the Serpent (8)

ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ใน Embrace of the Serpent (8)

ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ใน Embrace of the Serpent (8)

ภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent หรือ จอมคนป่าอสรพิษ ไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาดมากนักในประเทศไทย

ผู้นำเข้าหนังคือ Hal เคยบ่นให้ผู้เขียนฟังว่าหาทาง “ขาย” หนังเรื่องนี้ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก

แต่ในโลกตะวันตกก็เผชิญปัญหาแบบนี้เหมือนกัน นักวิจารณ์จาก Guardian, New York Times, New Yorker, Washington Post ฯลฯ ซึ่งเป็นสื่อสำหรับผู้อ่านกลุ่มจริงจัง (Serious Reader) จึงหาทางออกด้วยการช่วยเชียร์หนังเรื่องนี้ให้คนยังไม่ได้ดูเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นหนัง “อาณานิคม”

อันที่จริงการที่ผู้นำเข้าหนังอย่างบริษัท Hal บ่นว่าหนัง Embrace ขายยาก ก็ประหลาดแล้ว เพราะ Hal เป็นค่ายหนังน้องใหม่สุดบ้าดีเดือดที่ต้องชื่นชมความกล้านำเข้าหนังซึ่งค่ายใหญ่ไม่กล้ามาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น The Tribe ซึ่งกวาดสามรางวัลคานส์ แต่เป็นหนังใช้ภาษามือทั้งเรื่อง, White God โกยรางวัลคานส์มาอีกสอง แต่ผู้แสดงคือหมานับสิบตัว, 45 years เข้าชิง 47 รางวัลทั่วโลก แต่เป็นเรื่องผัวเมียเลิกกันตอนแต่งครบ 45 ปี และ Embrace กวาดไปทั่วโลก 20 รางวัล แต่เป็นหนังคนป่าซึ่งถ่ายทำด้วยภาพขาวดำ

Advertisement

ถ้าคนนำเข้าหนังที่แสดงโดยคนหูหนวกและหมายังบ่นว่ายาก Embrace นี่ต้องเป็นหนังที่สรุปว่าคืออะไรได้ยากจริงๆ

คําว่า “อาณานิคม” ช่วยขายหนังเรื่องนี้อย่างไร?

พูดง่ายๆ คือคำทำให้ผู้ฟังมีมโนภาพของคนขาวกับคนอินเดียนพื้นเมืองที่ฝ่ายแรกปกครองฝ่ายหลังด้วยความเอารัดเอาเปรียบ ขณะที่ฝ่ายหลังก็ต้องหาทางต่อต้านเพื่อประกาศเอกราชจากฝ่ายแรกตลอดเวลา

คำว่า “อาณานิคม” จึงมาพร้อมกับโครงเรื่องที่ผู้ชมคาดเดาล่วงหน้าว่าจะเห็นจากหนัง มาพร้อมกับตัวเอกและตัวร้าย มาพร้อมกับดราม่าสะเทือนอารมณ์เรื่องคนพื้นเมืองถูกคนขาวกดขี่ และมาพร้อมกับความอิ่มเอมจากความปีติที่คนพื้นเมืองชนะคนขาวในบั้นปลาย

Embrace of the Serpent พูดถึงคนขาวกับคนพื้นเมืองจริง แต่ไม่ได้พูดผ่านขนบของมโนภาพ “อาณานิคม” แบบสูตรสำเร็จสี่ข้อ

ข้อแรกคือคนขาวกับคนพื้นเมืองมีความสัมพันธ์แบบขัดแย้งเชิงต่อรองซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แบบเผด็จการกดขี่

ข้อสองคือทรัพยากรในการต่อรองคือความรู้ ไม่ใช่กำลังอาวุธ

ข้อสามคือการกดขี่ของนายทาสถูกหนังผลักไปเป็นฉากหลังที่ผู้ชมรับรู้ผ่านรอยแผล หรือ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ในใจตัวละคร

และข้อสี่คือฉากจบของหนังก็ไม่มีการ “ปลดแอก” ที่คำว่า “อาณานิคม” ชวนให้มโน

ในแง่นี้ ผู้ที่ดูภาพยนตร์เรื่อง Embrace เพราะหลงเชื่อภาพลักษณ์ที่นักวิจารณ์พยายามสื่อสารผ่านคำว่า “อาณานิคม” คงต้องออกจากโรงหนังด้วยความหงุดหงิดระดับอาจฟ้องสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคว่าหนังไม่ตรงกับคำโฆษณาก็เป็นได้

เพราะที่จริงหนังพูดถึงสภาวะอาณานิคม (Coloniality) ไม่ใช่อาณานิคม (Colonialism)

ส่วนโครงเรื่องก็ให้น้ำหนักกับสิ่งที่ Walter Mignolgy ใน Local Histories/ Global Designs เรียกว่า Colonial Difference หรือ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” ไม่ใช่การขูดรีดแบบอาณานิคม

Colonial Difference หรือความผิดแผกแบบอาณานิคมคืออะไร?

พูดแบบสั้นที่สุดในพื้นที่อันจำกัด Colonial Difference หรือ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” คือสิ่งที่มิงโญโล่บอกว่าเป็น “ห่วงโซ่ที่ขาดหาย” ซึ่งถ้าเข้าใจก็จะถักทอให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบสามส่วนของโลกสมัยใหม่

นั่นคือมองเห็นว่าอารยธรรม, โลภาภิวัตน์ และระบบโลกแบบอาณานิคม/สมัยใหม่ (modern/colonial world system) ไม่ได้แยกขาดจากกัน

และถึงที่สุดแล้วทั้งสามเรื่องนี้มีความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลซึ่งกันและกันระดับโลกจนผลักดันให้ “ท้องถิ่น” เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

มิงโญโล่พัฒนาแนวคิดเรื่อง “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” จากงานเขียนของนักสังคมวิทยามาร์กซิสต์ในเปรูและโบลิเวียสองคนที่มีบทบาทสำคัญในการประดิษฐ์แนวคิดเรื่อง “อาณานิคมทางอำนาจ” (Coloniality of Power) เพื่ออธิบายมรดกของระบบอาณานิคมในความหมายของ Colonialism ที่ยุโรปทิ้งไว้ในรูปของความรู้ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่แทรกตัวอยู่ในโครงสร้างสังคมของอเมริกาใต้ต่อมาอีกนาน ถึงแม้ระบบอาณานิคมจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม

สรุปสั้นๆ อาณานิคมทางอำนาจหมายถึงสภาวะอาณานิคมดำรงอยู่โดยปราศจากเจ้าอาณานิคม

พูดอย่างเป็นรูปธรรม ปัญญาชนอเมริกาใต้พูดถึงสภาพที่เจ้าอาณานิคมสร้างการแบ่งชั้นทางการเมืองและสีผิวซึ่งมีผลต่อการยกสถานะคนบางกลุ่มและเหยียบย่ำคนบางกลุ่มที่ดำรงอยู่จนอเมริกาใต้มีเอกราช

อธิบายแบบไทยง่ายๆ ก็คือเจ้าอาณานิคมยุโรปสร้างอเมริกาใต้ให้มี “ชุมชนในจินตนาการ” ที่กำพืดและวัฒนธรรมเป็นบรรทัดฐานในการจัดวางให้คนบางกลุ่มอยู่วรรณะยอดสุดของสังคม เช่นเดียวกับคนบางกลุ่มอยู่ชั้นด้อยกว่าไม่รู้จบ โดยการจัดวางสังคมแบบนี้อยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีระบบเจ้าอาณานิคม

พูดให้ละเอียดมากขึ้น “อาณานิคมทางอำนาจ” ดำรงอยู่พร้อมกันสามมิติ

มิติแรกคือลำดับชั้นทางสังคมที่มีสูงมีต่ำซึ่งความแตกต่างของกลุ่มชนเป็นฐานของการจัดประเภทและสถานะในสังคม

มิติที่สองคือระบบความรู้และการผลิตความรู้ว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มชนและการจัดลำดับชั้นแบบสูงต่ำเป็นเรื่องธรรมชาติ

และมิติที่สามคือคือการสร้างวัฒนธรรมหรือความเชื่อสาธารณะที่ยึดโยงกับการจัดลำดับชั้นแบบสูงต่ำ และทำให้ระบบความรู้ที่เกี่ยวข้องกันนั้นไปแทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน

“อาณานิคมทางอำนาจ” เป็นแนวคิดที่นักวิชาการที่เล่นเรื่องอเมริกาใต้หลายคนพัฒนาต่อว่าคือรากฐานของสภาวะอาณานิคมซึ่งในที่สุดแล้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนโลกสู่ความเป็นสภาวะสมัยใหม่ (Modernity)

พูดในทางกลับกันคือสภาวะสมัยใหม่เกิดได้เพราะมีสภาวะอาณานิคมเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในขอบเขตทั่วโลก ผลก็คือมุมมองว่าอาณานิคม = ตะวันตก = ความป่าเถื่อน = ฝรั่งขูดรีดโลกที่สาม = ต้องปลดแอกฝรั่งให้สิ้นซาก ฯลฯ

กลายเป็นการสร้างขั้วตรงข้ามระหว่างฝรั่ง VS โลกที่สาม ที่มีความน่าเชื่อถือน้อยลง

ท่ามกลางความล่มสลายของขนบการคิดเก่าเรื่องนี้ มุมมองใหม่ที่เกิดขึ้นแทนที่ก็คือความป่าเถื่อนของอาณานิคมนั้นแนบแน่นกับความทันสมัย ผู้จรรโลงความป่าเถื่อนไม่ได้มีแต่ฝรั่ง และคนพื้นเมืองก็รับช่วง / สืบทอด “สภาวะอาณานิคม” ได้เหมือนกัน

ควรระบุว่ามุมมองว่าสภาวะอาณานิคมคือเงื่อนไขพื้นฐานของสภาวะสมัยใหม่นั้นไม่ได้เกิดจากการอนุมานทางทฤษฎี แต่เป็นผลจากการที่นักวิชาการกลุ่มนี้กลับไปอ่านประวัติศาสตร์การก่อตัวของมโนภาพ “โลก” จนพบว่าเส้นทางการค้าสายยุโรป-แอฟริกา-อเมริกา ผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เรียกว่า Atlantic Circuit ทำให้เกิดการก่อตัวของ “สภาวะอาณานิคม” ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเกิด “สภาวะสมัยใหม่” ในคริสต์ศตวรรษที่ 18

ในแง่นี้ Atlantic Circuit เป็นเหตุให้สภาวะอาณานิคมแทรกในโลกาภิวัตน์, อารยธรรม และระบบโลกแบบอาณานิคม / สมัยใหม่ จนปัจจุบัน

ด้วยแนวคิด “อาณานิคมทางอำนาจ” และการอ่านประวัติศาสตร์โลกแบบนี้ มิงโญโล่พัฒนาทฤษฎี “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” (Colonial Difference) เพื่ออธิบายว่าสภาวะสมัยใหม่, อารยธรรมตะวันตก และโลกาภิวัตน์ทำให้มนุษย์มืดบอด

แนวคิดนี้ตระหนักถึงความผิดแผกระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ มองเห็นความผิดแผกระหว่างความรู้ที่ผลิตโดยผู้สร้างโลกแบบอาณานิคมกับความรู้ที่ผลิตโดยผู้ที่ถูกผลักไสจากกระบวนการนี้ และต้องการทำให้เห็นว่า “ตะวันตก” กดทับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตลอดเวลา

ในมุมมองของมิงโญโล่ การตระหนักถึงการมีอยู่ของ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” ทำให้เกิดการขุดคุ้ยต่อไปถึงสภาวะอาณานิคมซึ่งเกิดขึ้นผ่านกรรมวิธีที่เจ้าอาณานิคมนำเสนอภาพลักษณ์ของคนกลุ่มอื่นบนฐานคิดว่าคนเหล่านี้อยู่บนสายธารประวัติศาสตร์เดียวกับเจ้าอาณานิคม เดินไปสู่จุดหมายเดียวกับเจ้าอาณานิคม แต่คนเหล่านี้อยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งล้าหลังกว่าเจ้าอาณานิคม ไม่มีวันถึงจุดหมายได้เหมือนเจ้าอาณานิคม จึงเป็นคนกลุ่มที่ด้อยกว่าเจ้าอาณานิคมอยู่ตลอดเวลา

“ความผิดแผกแบบอาณานิคม” ทำงานด้วยการเปลี่ยน “ความผิดแผก” เป็น “การตัดสินคุณค่า” จากนั้นจึงสถาปนาลำดับชั้นของมนุษย์ในแบบที่ทำให้ทุกคนรับรู้ว่าลำดับชั้นนั้นเป็นความจริงแท้อย่างถึงที่สุด แนวคิดนี้ขุดคุ้ยว่าอะไรทำให้เกิดความเชื่อว่าคนบางกลุ่มด้อยกว่าคนกลุ่มอื่นระดับไตร่ตรองด้วยเหตุผลแล้วก็ยังเห็นว่าพวกเขาบกพร่องกว่า “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” สถาปนาบรรทัดฐานตามผู้อยู่เหนือกว่าว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้และอะไรคือสิ่งที่ต้องกำจัดทิ้ง

กล่าวอีกนัยคือ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” สร้างการควบคุมประชากรในรูปแบบที่ประชากรเองแทบไม่มีใครรู้ตัว

ตรงกันข้ามกับคำอธิบายแบบนักวิจารณ์ฝรั่งที่บอกว่า Embrace of the Serpent เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยอเมริกาใต้ยุคอาณานิคม

หนังเรื่องนี้มีโครงสร้างการเล่าเรื่องและคำอธิบายที่ออกไปจากกรอบทฤษฎี “อาณานิคม” หรือ Colonalism แทบทั้งหมด

พูดอีกแบบคือความโดดเด่นของ Embrace อยู่ตรงที่หนังเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับคนพื้นเมืองผ่านเลนส์หลังอาณานิคมทั้งหมด

และปมทั้งหมดของหนังพัวพันกับ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม”

ไม่ใช่การกดขี่ขูดรีดทางเศรษฐกิจระหว่างคนขาวกับคนพื้นเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image