สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปากน้ำโพ ได้จากแม่น้ำโพ ชื่อเดิมของแม่น้ำน่าน

บริเวณต้นกำเนิดหรือจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกิดจากแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันที่ ต.ปากน้ำโพ มองเห็นถึงความแตกต่างของสายน้ำทั้งสองได้อย่างชัดเจน แม่น้ำน่านจะมีสีค่อนข้างแดง และแม่น้ำปิงมีสีค่อนข้างเขียวเมื่อมาบรรจบกันแล้วจึงค่อย ๆ รวมตัวเข้าด้วยกันกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพและคำบรรยายจาก http://info.dla.go.th/)

ปากน้ำโพ (จ. นครสวรรค์) คือ บริเวณแม่น้ำน่าน (กับแม่น้ำยม) และแม่น้ำปิง (กับแม่น้ำวัง) ไหลมาสบรวมกันเป็นจุดเริ่มต้นแม่น้ำเจ้าพระยา
ปากน้ำชื่อ “โพ” มาจากชื่อ คลองโพ (จ. อุตรดิตถ์) ไหลลงแม่น้ำน่าน
คนแต่ก่อนเลยเรียกแม่น้ำน่านทั้งสายตั้งแต่อุตรดิตถ์จนถึงนครสวรรค์ว่า แม่น้ำโพ แล้วเรียกตรงปากน้ำน่านว่า ปากน้ำโพ

ปากน้ำน่านที่นครสวรรค์ จึงเรียก ปากน้ำโพ
(ไม่ได้มาจากโผล่ หรือ ต้นโพธิ์ ตามที่เคยมีผู้พยายามตีความอธิบายก่อนแล้ว)

เหตุจากเป็นชุมทางแม่น้ำหลายสาย ปากน้ำโพจึงเป็นชุมทางการค้าภายในที่มีคนจีนตั้งหลักแหล่งแน่นนับคับคั่งตั้งแต่โบราณกาลจนปัจจุบัน
นครสวรรค์ แปลว่า ดินแดนหรือบ้านเมืองแห่งความรุ่งเรืองสุขสมบูรณ์ ราวเมืองฟ้าเมืองสวรรค์
เดิมชื่อ เมืองพระบาง คำว่า บาง เป็นภาษาเก่าแก่ดั้งเดิม แปลว่า ฟ้า หรือสวรรค์ เช่น พ่อขุนบางกลางหาว (ชื่อเจ้าเมืองบางยางต่อไปจะได้ชื่อใหม่ว่า ศรีอินทราทิตย์)
นครสวรรค์ มีความเป็นมาทั้งของผู้คนและของดินแดนอย่างแยกไม่ได้จากประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์ หรืออาเซียน ที่บริเวณผืนแผ่นดินใหญ่มีชื่อเรียกเก่าแก่มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ว่าสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ เพราะนครสวรรค์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาทั้งของผู้คนและของดินแดน เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์หรืออาเซียนอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ บรรพชนอุษาคเนย์นับเป็นบรรพชนคนไทยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image