พม่า (ก็) ชอบประชามติ โดย ประชา สุวีรานนท์

พม่า (ก็) ชอบประชามติ โดย ประชา สุวีรานนท์

พม่า (ก็) ชอบประชามติ

การลงประชามติว่าจะรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ ชวนให้คิดถึงวาระเดียวกันในพม่า ในปี พ.ศ.2551 ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในยุคทหารครองเมือง และหลังของไทยในปี พ.ศ.2550 เพียงไม่ถึงหนึ่งปี

แปดปีมาแล้วและอาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว แต่สถานการณ์และเบื้องหลังก็คล้ายกัน

หลังจากที่ครองอำนาจมานานหลายปี นายพลตาน ฉ่วย และคณะ SLORC ได้จัดการลงประชามติครั้งนี้ขึ้น เพื่อลดแรงต้านของประชาชนทั้งในและนอกประเทศ

เหตุหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น รัฐบาลเพิ่งจะปราบปรามการชุมนุมประท้วงของประชาชน ซึ่งทำให้ประชาชนและพระสงฆ์ตายไปมากมาย

Advertisement

นอกจากนั้น ยังมีการจับกุมคุมขังผู้นำการประท้วง สื่อมวลชน และประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกเป็นจำนวนมาก

ผลก็คือพม่าถูกต่อต้านไปทั่วโลก ใครๆ ก็เรียก ตาน ฉ่วย กับพวกพ้องว่าคณะทหาร หรือ the junta ไม่ใช่รัฐบาล

ในปี พ.ศ.2533 ออง ซาน ซูจี ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุดในการเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่กองทัพพม่ากลับปฏิเสธผลการเลือกตั้ง เข้ายึดอำนาจปกครองประเทศและจับกุมคุมขังนักการเมืองหลายคน รวมทั้งนางซูจี

Advertisement

สิ่งนี้ทำให้นานาประเทศออกมาประณามและพยายามกดดันพม่าอย่างต่อเนื่อง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ต่างออกมาโจมตีการเลือกตั้งของพม่าว่าไม่มีความชอบธรรม

และเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

แต่พม่าก็ไม่รับฟังเสียงเรียกร้องเหล่านั้น

ในที่สุดสหภาพยุโรปและสหรัฐ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยุติการช่วยเหลือ

แต่ไม่ว่าจะกดดันขนาดไหน

คณะทหารพม่าก็ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการตามนโยบายของตนเองโดยไม่สนใจต่อมาตรการกดดันของนานาประเทศ

ในที่สุด นายพลตาน ฉ่วย ก็ประกาศให้มีการลงประชามติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเวลาต่อมา

ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์พม่า

ก่อนหน้าการลงประชามติว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกกำหนดว่าจะเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 คณะทหารได้จัดให้มีการพิมพ์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า ซึ่งอ้างว่ามีสาระสำคัญเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

แถมยังสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกสองปีข้างหน้า

มีการตรากฎหมายและแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการออกเสียงประชามติ ซึ่งเอื้อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการนับคะแนนนั้นได้ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ใครๆ ก็มองออกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ที่นั่งหนึ่งในสี่ของสภานิติบัญญัติมีไว้สำหรับข้าราชการทหาร

และคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองก็ยังคงมีอิทธิพลเหนือกระทรวงกลาโหมซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดและควบคุมการประชามตินี้อยู่

นอกจากนั้น ยังตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งของชาวพม่าที่สมรสกับชนต่างด้าว ซึ่งได้แก่ นางออง ซาน ซูจี อีกด้วย

ในด้านการรณรงค์ คณะทหารได้สั่งให้บรรดาสื่อมวลชนในประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้มีการ “รับ” เท่านั้น โดยในโทรทัศน์ของรัฐทุกช่องจะปรากฏแถบข้อความว่า “เชิญชาวเรารับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มพูนประโยชน์บ้านเมือง” (Let”s vote Yes for national interest)

อีกทั้งมีการเปิดเพลงเชิญชวนให้ออกเสียง “รับ” ผ่านสถานีแพร่ภาพและกระจายเสียงของรัฐทุกประเภทตลอดวัน

ชาวพม่าทั่วโลกและสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งสหภาพพม่า (สปต.) อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มี ออง ซาน ซูจี เป็นหัวหน้า ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกเสียง “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมารัฐบาลทหารได้สั่งให้ระงับการประชาสัมพันธ์เช่นนี้ กับทั้งสั่งจับผู้ประชาสัมพันธ์และให้ยึดสื่อประชาสัมพันธ์

คนไทยส่วนมากอาจจะไม่รู้เรื่องนี้ แต่ที่ยังจำได้คือ “พายุหมุนนาร์กิส” ซึ่งเข้าไปถล่มพม่าในเดือนเมษายนปีนั้น

พายุลูกนี้ได้ก่อให้เกิดภาวะมหันตภัยในพม่าไม่กี่วันก่อนวันออกเสียงประชามติ

และก่อความทุกข์ยากเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก มีผู้เสียชีวิตกว่า 80,000 คน

และสูญหายอีก 50,000 คน

หลังจากที่นาร์กิสพัดผ่านไปแล้ว

การลงประชามติตามกำหนดได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากทั้งในและนอกประเทศ

ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งสหภาพพม่าเพื่อประชาธิปไตย ออกมาแถลงว่า การจัดให้มีการออกเสียงประชามติท่ามกลางภาวะทุกข์เข็ญเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง

ต่อมาคณะทหารจึงมีประกาศเลื่อนการประชามติเฉพาะนครย่างกุ้งและพื้นที่ประสบพิบัติภัยไปอีกสองสัปดาห์

ในอดีต ปัญหาของพม่าดูเหมือนจะแก้ได้ยาก เพราะคณะทหารขึ้นมาปกครองประเทศอยู่นาน พูดง่ายๆ ตั้งแต่ขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และที่ผ่านมา ได้ก่อศัตรูไว้มากมาย ทั้งในทางการเมืองและเชื้อชาติ ที่สำคัญ แนวทางแก้ปัญหาก็มีแต่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

บางคนเรียกว่าเป็นสงครามที่ “เก่าแก่ที่สุดในโลก” เลยทีเดียว

หลังการลงประชามติและการต่อสู้อีกหลายครั้ง ตาน ฉ่วย ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลต่อมาอีกเพียงไม่กี่ปี

เมื่อต้นปีนี้ ผู้นำพลเรือนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ดูเหมือนว่าพม่ากำลังก้าวสู่ประชาธิปไตย และการเมืองก็ผ่านยุคทหารครองเมืองไปแล้ว

ในขณะที่ไทยยังกลับมาที่เดิม การลงประชามติและผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะแย่กว่าของของพม่าเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image