สุจิตต์ วงษ์เทศ : อ่านหนังสือของลาว อ่านทำนองเสนาะของไทย

ว า ร ส า ร เ พ ล ง ด น ต รีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับ January 2016 มีเลขไทย (ได้จากเขมร) ผสมเลขฝรั่งอย่างลักลั่น เป็นหัวมังกุท้ายมังกร

อ่านหนังสือ เป็นชื่อทำนองลีลาขับลำอย่างหนึ่ง แต่งเป็นกลอนอ่าน แล้วเขียนลายลักษณ์อักษรเป็นหนังสือผูก

เริ่มจากพระสงฆ์ใช้เทศน์เล่านิทานเป็นทำนองดั้งเดิม (ของหมอมดหมอผี) แล้วหมอขวัญ (หมอพร) ใช้อ่านเป็นมหรสพอย่างหนึ่งในงานต่างๆ รวมทั้งงานศพ ในที่สุดนิยมใช้ลำต่างๆ โดยหมอลำ

มีร่องรอยอ่านหนังสือสมัย ร.5 อยู่ในนิราศเมืองหลวงพระบาง [ของ นายร้อยเอก หลวงทวยหาญศึกษา (เพิ่ม) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2434] แต่เรียกลาวอ่านหนังสือ เพราะคนเขียนนิราศเรื่องนี้ไม่ลาว แต่เป็นชาวไทยสยาม กรุงเทพฯ

กลอนนิราศพรรณนางานสมโภชเจดีย์เมืองหลวงพระบาง ตอนหนึ่งบอกว่ามีขับทำนอง “ลาวอ่านหนังสือ” ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงสว่าง ดังนี้

Advertisement

นิมนต์เจ้าหัวขรัวลาวกล่าวคาถา สวดภาษาลาวสิ้นระบิลสาร

ครั้นสิ้นแสงสุริยาเวลากาล มีลาวอ่านหนังสือร้องทำนองนวล

ทั้งสาวหนุ่มประชุมล้อมกันพร้อมพรั่ง เอาผ้าบังโอษฐ์โอยทำโหยหวน

Advertisement

กล่าวคำโลมโฉมศรีให้ยียวน ผู้สาวทวนถ้อยชายพี่อ้ายเอย

น้องนี้มักฮักเว้ากับเจ้าแท้ ให้ตับแก้กินขิงข้าจริงเอ๋ย

ช่างสบถลดเลียบพูดเปรียบเปรย เหลือจะเชยชื่นคำเขารำพัน

จนรุ่งรางสร่างศรีรวิไข ช่วยกันใส่สาธารณะให้พระฉัน

เลี้ยงสำเร็จเสร็จลาจากท่าพลัน โดยอรัญวาเรศประเทศทาง

ล่าสุดได้อ่านบทความเรื่องอ่านหนังสือ กวีขับขานแห่งบรรพชนลาว โดย ชัยวัฒน์ โกพลรัตน์ [พิมพ์ในวารสารเพลงดนตรี ฉบับ January 2016 ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล] มีรายละเอียดขยายออกไปทำให้รู้กว้างขวางขึ้น

[เพราะผู้เขียนเรื่องนี้ โต๋ ชัยวัฒน์ มีกำเนิดและเติบโตในวัฒนธรรมลาว เป็นผู้ไท เมืองเรณูฯ นครพนม ลุ่มน้ำโขง ซึ่งผมเคยขอความรู้ประสบการณ์จากเขาเสมอๆ เพื่อประดับสติปัญญาตนเอง]

ทำให้ผมคล้อยตามอย่างซื่อๆ ว่าอ่านหนังสือในวัฒนธรรมลาว เป็นรากเหง้าอ่านทำนองเสนาะ หรืออ่านคำหลวงในโคลงกำสรวลสมุทรว่า “ฤๅกล่าวคำหลวงอ้า อ่อนแกล้งเกลาฉันท์” และขับเสภาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image