28 ธ.ค. ปราบดาภิเษก ‘พระเจ้าตากสินมหาราช’ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

28 ธ.ค. ปราบดาภิเษก ‘พระเจ้าตากสินมหาราช’ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี นับเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ซึ่งพระองค์ทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงธนบุรี

มติชน ได้ยกบทความ “28 ธ.ค.ปราบดาภิเษกพระเจ้ากรุงธนบุรี : ทำไมพระเจ้าตากจึงตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยาในวันนั้น” ซึ่ง ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เขียน เผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ดังนี้

ที่ผ่านมา เวลาเราอธิบายถึงการที่พระเจ้าตากตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยา เรามักอธิบายเพียงว่า เพื่อมุ่งไปยังเมืองจันทบุรี ไปจัดเตรียมกำลังเพื่อกลับมากอบกู้อยุธยา แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมพระเจ้าตากจึงพากองทัพและครอบครัวพลเรือนของพระองค์ตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยา และทำไมต้องตีฝ่าออกไปในค่ำคืนวันนั้น

วันที่พระเจ้าตากตีฝ่าวงล้อม ระบุไว้ใน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าเป็นยามค่ำวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งมีการคำนวณว่าตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มกราคม ปี 2309 หรือก่อนหน้าการเสียกรุงศรีอยุธยา 3 เดือน (เปลี่ยนปีเป็น 2310 เมื่อขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5)

Advertisement

จากการศึกษาวิเคราะห์ ว่าทำไมพระเจ้าตากจึงเลือกที่จะตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยาไปในวันนั้น สรุปได้ว่า เพราะพระเจ้าตากทรงวิเคราะห์อนาคตของกรุงศรีอยุธยาแล้วว่า กรุงศรีอยุธยาจะต้องเสียเมืองแก่กองทัพฝ่ายพม่าอังวะอย่างแน่นอน

ย้อนกลับไปเมื่อราว 15 เดือนก่อนหน้าการตีฝ่าวงล้อม นั้นคือจุดเริ่มที่กองทัพพม่าอังวะเริ่มเคลื่อนจากด้านเหนือคือเชียงใหม่ลงมายังเขตแดนของอยุธยา เมืองแรกที่ต้องเผชิญหน้ากองทัพพม่าคือ เมืองตาก หรือ เมืองบ้านตาก ของพระยาตาก หรือพระเจ้าตาก ทำให้พระเจ้าตากตัดสินใจพาทหารและครอบครัวในสังกัดของพระองค์และผู้ตัดสินใจติดตามพระองค์ลงมาปักหลักอยู่ยังกรุงศรีอยุธยา

ก่อนฤดูฝนหรือก่อนน้ำหลากท่วมพื้นที่โดยรอบนอกกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าทั้งจากด้านเหนือและจากด้านใต้ที่ค่อยๆ ปราบหัวเมืองต่างๆ ให้มาขึ้นกับหรือภักดีกับฝ่ายพม่าอังวะ ก็ได้มาตั้งค่ายโอบล้อมกรุงศรีอยุธยาในระยะห่างสัก 7-10 กิโลเมตรโดยรอบ มีค่ายใหญ่สองค่ายแม่ทัพ ได้แก่ ค่ายโพสามต้น และค่ายสีกุกบางไทร

Advertisement

ฝ่ายกษัตริย์และชนชั้นนำอยุธยาปักหลักเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์ของการรักษากรุงและรักษาสถานภาพผู้ปกครองอยุธยาคือ น้ำหลาก ที่ฝ่ายกองทัพพม่าน่าจะยกทัพกลับไปกรุงอังวะของตน ไม่อาจจะอยู่ในปริมณฑลน้ำหลากโดยรอบได้

ทว่าฝ่ายแม่ทัพกองทัพพม่าอังวะกลับคิดตรงข้าม น้ำหลากนั้นทำให้คนในอยุธยา “เปรียบเหมือนปลาที่ติดอยู่ในอวนแห” จะออกไปไหนก็ไม่ได้ จะทำมาหากินปลูกข้าวในทุ่งโดยรอบอยุธยาก็ไม่ได้ จะหาปลาค้าขายระหว่างเมืองก็ไม่ได้ จะต้องถูกล้อมจนอดอยากหิวโหย ข้าวยากหมากแพงภายในกำแพงพระนคร

เมื่อน้ำลดลงหลังวันเพ็ญเดือน 12 เข้าสู่เดือนอ้าย ยุทธศาสตร์ฝ่ายพม่านั้นมีผลอย่างชัดเจนขึ้น ผลสะเทือนจากการล้อมกรุงศรีอยุธยาในฤดูน้ำหลาก ส่งผลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกินของคนในกำแพงพระนคร บวกกับจำนวนคนที่มีมากขึ้น ซึ่งมาจากการอพยพหลบเข้าไปอยู่ในกำแพงพระนครในช่วงสงครามอันยาวนาน อาจมีจำนวนคนอาศัยอยู่สูงขึ้นเป็นหลักแสนกว่าคน

ดังนั้น เพียงเริ่มต้นเดือน 2 พระเจ้าตากจึงตัดสินใจพากองทัพและครอบครัวในสังกัดของพระองค์ตีฝ่าวงล้อมออกไป เพราะวิเคราะห์ข้อมูลและปัจจัยรอบด้านแล้วเห็นแล้วว่า อยุธยาได้พ่ายแพ้ด้านยุทธศาสตร์ช่วงน้ำหลากไปแล้ว ดังนั้น กรุงศรีอยุธยาต้องแตกอย่างแน่นอน

ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

วันที่พระเจ้าตากตีฝ่าวงล้อมไปตั้งแต่หัวค่ำที่เริ่มเดินทัพออกจากวัดพิชัยนั้น ได้ปะทะกับกำลังของฝ่ายพม่าหนึ่งครั้ง เดินทัพไปถึงบ้านสำบัณฑิต ด้านตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา เลยเที่ยงคืน “เพลิงเกิดในกรุงเทพฯ ไหม้แต่ท่าทราย ตลอดถนนหลวงไปจนวัดฉัททันต์ แสงเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ”

อาณาบริเวณที่เพลิงไหม้คืนนั้นคือการไหม้ย่านธุรกิจการค้ากลางกรุงศรีอยุธยา ท่าทรายคือแถวประตูข้าวเปลือก ประตูเมืองด้านเหนือติดแม่น้ำลพบุรี ไหม้ลงมาตามบ้านเรือนตามถนนกลางเมือง (ถนนชีกุน ในปัจจุบัน) และริมคลองประตูข้าวเปลือก ผ่านวัดราชบูรณะและเลยวัดมหาธาตุ จนถึงวัดฉัททันต์ กลางกรุงค่อนมาด้านใต้

ความหมายของเพลิงไหม้ในกรุงศรีอยุธยา ครั้งใหญ่ ครั้งแรกของศึกที่ถูกกองทัพพม่าล้อมไว้นานเกือบปี ในคืนวันเดียวกันกับที่พระเจ้าตากตีฝ่าวงล้อม เป็นไปได้หรือไม่ว่า เป็นการถูกโจมตีจากฝ่ายพม่าเพื่อสร้างความปั่นป่วนภายในกำแพงพระนคร ทั้งในค่ำคืนนี้ ไม่น่าจะมีกองทัพพระเจ้าตากเท่านั้นที่ตัดสินใจฝ่าวงล้อมออกไป ขุนนางและประชาชนในเมืองอีกจำนวนมากก็อาจตัดสินใจในแบบเดียวกัน

สำหรับพระเจ้าตากแล้ว เมื่อพิจารณาตลอดยุคสมัยของพระองค์ที่ให้ความสำคัญต่อการข่าวที่เร็วและข่าวที่ถูกต้อง ดูได้จากศึกสงครามในยุคพระองค์ ดังนั้น เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า พระเจ้าตากทรงได้รับข่าวที่ชัดแจ้งว่าจะเกิดเหตุร้ายในกรุงศรีอยุธยาระดับที่รุนแรง และหลังจากนี้ไป ฝ่ายกองทัพพม่าจะปรับยุทธวิธีตั้งค่ายให้กระชับวงล้อมเข้ามาอยู่ฝั่งตรงข้ามกำแพงพระนครทุกด้าน หากพระเจ้าตากตัดสินใจตีฝ่าออกไปล่าช้ากว่านี้ อาจไม่มีหนทางออกไปไหนได้อีกเลย

การข่าวที่เร็วและถูกต้อง เมื่อรวมกับการวิเคราะห์ที่พระองค์ทรงเรียกว่า “วิชาการใหม่” จึงทำให้พระองค์เห็นอนาคตได้ชัดว่า จุดจบกรุงศรีอยุธยามาถึงแล้ว ทั้งด้วยปัจจัยภายในของชนชั้นผู้ปกครองเดิม ราษฎรในสังกัดกลุ่มผู้ปกครองเดิม ปัจจัยชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจภายในกำแพงพระนครที่อดอยากและจะเพิ่มการปล้นชิงทำร้ายกันเอง ปัจจัยภายนอกกับการปรับยุทธวิธีกระชับจับปลาในอวนแหของฝ่ายกองทัพพม่า

การข่าวที่ดีเยี่ยม ปัจจัยภายในกรุง และปัจจัยภายนอกจากกองทัพพม่าในฤดูแล้ง เหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้พระเจ้าตากตัดสินพระทัยตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าอังวะออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อย่ำค่ำของวันที่ 3 มกราคม ปี 2309 ในท่ามกลางการทิ้งกรุงศรีอยุธยาของกลุ่มคนจำนวนมากในค่ำคืนเดียวกัน

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ค่ายตากสิน อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

อ้างอิงเบื้องต้น

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 ภาค 65-66), (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2528), หน้า 1-2.

มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2545), หน้า 242-243.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลใหม่เรื่อง ‘พระเจ้าตากสิน’ ว่าด้วย เมืองตาก-อนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่-นครศรีธรรมราช

“เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image