อ่าน “คนหาปลา” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดย เกษียร เตชะพีระ

อ่าน “คนหาปลา” (ต้น)

(มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 มกราคม 2559)

คุณเวียง วชิระ บัวสนธ์ แห่งสำนักพิมพ์สามัญชน ผู้พิมพ์งานเขียนเจ้าประจำของพี่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ชักชวนให้ผมไปร่วมงานของพี่เสก ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนศกนี้ที่ผ่านมา

ค่าที่ผมรักใคร่นับถือพี่เสกมานานในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ สหายร่วมขบวนปฏิวัติในเขตป่าเขา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยคอร์แนล และเพื่อนอาจารย์สอนหนังสือที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์มาด้วยกัน

อีกทั้งเคยอ่าน “คนหาปลา” ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เทียนวรรณมาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน จึงแม้ตัวเองจะไม่สันทัดวรรณกรรมวิจารณ์ แต่ก็รู้สึกอยากไปร่วมงานของพี่เสกและถือโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนนิยาย “คนหาปลา” อีกรอบว่าฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์นี้ได้สาระรสชาติแปลกแตกต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง จึงรับคำคุณเวียงไปโดยเร็ว

Advertisement

ผมหายืม “คนหาปลา” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2528 จากห้องสมุดมาเปรียบเทียบดูกับฉบับสมบูรณ์ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมา ก็พบว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรกยาว 10 บท 97 หน้า ขณะที่ฉบับสมบูรณ์ยาว 13 บท 135 หน้า

โดยฉบับสมบูรณ์นี้ พี่เสกได้ “ยกบทที่ 4…ออกทั้งบท” อันเป็นการอนุโลมตามความเห็นของผู้วิจารณ์ท่านหนึ่งที่ว่าบทนี้ “ดูเหมือนจะถูกนำมาใส่ไว้โดยไม่จำเป็น”

และเพื่อสนองตอบข้อคิดเห็นของบางท่านที่ว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก “เรื่องยังไม่จบดี หรือไม่ก็จบแบบห้วนๆ ไปสักนิด” พี่เสกก็เขียนเพิ่มเติมอีก 4 บท ซึ่งกลายมาเป็นบทที่ 10-13 ระหว่างหน้า 103-29 ในฉบับสมบูรณ์ “เพื่อให้ตอนจบมีเหตุการณ์ที่ปิดเรื่องได้สนิท” (“บันทึกท้ายเล่ม”, น.133-35)

Advertisement

วิสัยคนที่ฝึกฝนร่ำเรียนมาทางรัฐศาสตร์ ผมมองวังน้ำเขียวอันเป็นโลเกชั่นของนิยาย “คนหาปลา” ที่อยู่บนแม่น้ำซึ่งพาดผ่านชายแดนตะวันตกของไทยว่าเป็นประหนึ่ง microcosm หรือภาพย่อส่วนสะท้อนแบบแผนของสังคมไทยในภาวะขัดแย้งเปลี่ยนแปลงโดยรวม

มันเป็นนิคมสร้างตนเองที่ทางการไม่รับรอง อันเป็นที่รวมของบรรดาคนจนสิ้นไร้ไม้ตอกที่พากันอพยพเข้ามาตั้งเรือนแพจับปลาขาย ทั้งคนไทยพื้นถิ่นภาคกลางย่านนั้น และคนลาวจากอีสานที่ห่างไกลออกไป

เรื่องราวใน “คนหาปลา” สะท้อนให้เห็นประเด็นสำคัญๆ ของสังคมการเมืองไทยระยะสามทศวรรษที่ผ่านมาไม่ว่า :-

– สงครามแย่งชิงทรัพยากร (ในที่นี้คือปลาและของป่าอื่นๆ)

– ศีลธรรมที่คนเราพึงมีต่อธรรมชาติซึ่งตนอาศัยแสวงหาประโยชน์เพื่อเลี้ยงชีพ (ผ่านห้วงคิดและการกระทำของเฉียบ ตัวละครเอก)

– ความสัมพันธ์อันซับซ้อนของชุมชนข้ามชาติพันธุ์ (ไทย-ลาว-เจ๊ก) ซึ่งมีทั้งด้านที่ขันแข่งแย่งชิงขมึงตึงเครียด ด้านที่ร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปัน และศักยภาพของมันที่จะระเบิดเป็นความขัดแย้งรุนแรงถึงชีวิต หรือคลี่คลายไปในทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

– ตัวแบบของผู้นำชาติ-ชาตินิยมในหลากหลายมิติความหมาย ทั้งด้านที่เป็นผู้นำบารมี-อุปถัมภ์ และด้านอำนาจนิยม (สะท้อนผ่านตัวน้าสิงห์ ผู้นำชุมชนคนไทยในวังน้ำเขียว)

– รวมทั้งโครงสร้างทุนและรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตชาววังน้ำเขียวด้วยระยะใกล้ไกลแตกต่างกันไป (ผ่านตัวเถ้าแก่ชัยผู้เข้ามาเปิดร้านค้ารับซื้อปลาชาวบ้านในวังน้ำเขียวและด่านเจ้าหน้าที่ที่ตั้งตรวจจับข่มขู่รีดไถอยู่ด้านนอกระหว่างทางไปเมือง)

ดังนั้น หากถามหาความหมายเบื้องลึกที่ไม่มีในพจนานุกรมของนิยายเรื่อง “คนหาปลา” ว่าคืออะไร? ดังที่คุณเอกสิทธิ์ หนุนภักดี ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถามถึงแล้ว ส่วนตัวผมคงตอบว่ามันเป็นความหมายที่ค่อนข้างเศร้าสลด กล่าวคือ :

ไม่รู้ว่าที่สุดแล้วเมืองไทยจะรอดจากวังน้ำเขียวหรือไม่? หรือว่าจะถูกยิงตายหรือจมน้ำป่าตายไปด้วยกันแบบน้าสิงห์, เฉียบ, หมอลำ และหยอย?

และขณะที่ผมเห็นด้วยกับคุณจรูญพร ปรปักษ์ประลัย ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านซึ่งเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมมือดี เจ้าของรางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ 2 สมัยว่าระบบอุปถัมภ์ภายใต้น้าสิงห์ดูจะเป็นโครงสร้างหลักในสังคมวังน้ำเขียว แต่ผมก็อยากตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นระบบอุปถัมภ์ที่กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเสียดทานอย่างหนักทั้งจากสงครามแย่งชิงทรัพยากรปลา, เจ้าหน้าที่รัฐภายนอก และตลาดทุนภายใน จนน่าสงสัยว่ามันจะอยู่ยั้งยืนยงมั่นคงไปได้อีกสักกี่น้ำกัน

ดังจะเห็นได้ว่าแม้แต่ตัวน้าสิงห์ ผู้อุปถัมภ์ใหญ่แห่งวังน้ำเขียวเอง ก็ต้องตายด้วยคมกระสุนลอบสังหารเพราะความขัดแย้งแย่งจับปลากันและความพิพาทบาดหมางอันลุกลามสืบเนื่องระหว่างชุมชนไทย-ลาว

ผมคิดว่าวิธีทำความเข้าใจ “คนหาปลา” แนวหนึ่งคือดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างเฉียบ ตัวพระเอกซึ่งเป็นคนในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กับ วังน้ำเขียว บริบทของเรื่องที่กำลังเปลี่ยนไปสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21

เฉียบเป็นคนในยุคเศรษฐกิจศีลธรรม (moral economy) ผู้ยึดจริยธรรมการยังชีพ (subsistence ethic) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งกำลังคล้อยผ่านไป

เขาเป็นนักเลงไทยโบราณ ซื่อตรง ใจร้อน มีสำนึกถูก/ผิดแรงกล้า รักเพื่อนฝูง เคารพผู้ใหญ่ มีร่องรอยบุคลิกต่อต้านอำนาจราชการ (anti-authority streak) เช่น เคยดักแทงคนที่ชอบรังแกเขาตายและเอาเงินออมทั้งหมดอุดยัดคดีจนรอดคุกมาได้ แต่ก็ต้องหอบหิ้วแตงอ่อนสาวคนรักให้น้าสิงห์พาหนีภัยตำรวจมาอาศัยอยู่วังน้ำเขียว หรือเมื่อเขาไม่ยอมขายปลายี่สกตัวใหญ่ราคาดีที่จับได้ให้เถ้าแก่ชัยเมื่อรู้ว่าเถ้าแก่จะซื้อไปเซ่นเจ้าหน้าที่ด่าน แต่กลับเอามาให้เมียกินแทน เป็นต้น

ในทางกลับกัน เฉียบก็มีความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญเอามากๆ คืออ่อนแอ งี่เง่า บางทีก็ไม่มีเหตุผล ขี้ระแวง หึงหวง หูเบา สงสัยว่าหมอลำ เพื่อนคนลาวของตนจะมาชอบพอเกาะแกะแตงอ่อนผู้เป็นเมีย เพียงเพราะน้าสิงห์ที่ไม่ชอบหน้าหมอลำ แกล้งเป่าหูใส่ไฟมา

ขณะเดียวกัน เราสามารถเห็นร่องรอยว่าวังน้ำเขียวกำลังผ่านพบการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชนบทแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 แม้จะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ :-

– มันมีเศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) ที่เชื่อมโยงแนบแน่นกับเมือง

– มีความเป็นสังคมการเมือง (political society) ในรูปการรวมตัวเป็นเครือข่ายและกดดันต่อรองกันเพื่อหาประโยชน์จากทรัพยากรที่จำกัด ดังที่เครือข่ายอุปถัมภ์หลวมๆ ของน้าสิงห์ในหมู่คนไทยพยายามกีดกันขับไสชุมชนลาวโดยหาว่าเป็นคนนอกผู้มาทีหลัง หรือการติดสินบนต่อรองกันระหว่างเถ้าแก่ชัยกับเจ้าหน้าที่ด่าน

– กลุ่มทุนในวังน้ำเขียวมีลักษณะและพฤติกรรมเป็นทุนนอกบรรษัท (non-corporate capital) ที่มุ่งการยังชีพอยู่รอดร่วมกันของกลุ่มก้อนหมู่คณะในพื้นถิ่น มากกว่าหากำไรสูงสุดหรือสะสมทุนล้วนๆ อย่างเดียว (ดูจากท่าทีและพฤติกรรมของเถ้าแก่ชัยต่อเฉียบ เช่น เมื่อรู้ว่าเฉียบโดนเจ้าหน้าที่ด่านหาเรื่องรังแกรีดไถเพราะตนเป็นต้นเหตุโดยอ้อม จึงถึงแก่บันดาลโทสะและมาชกต่อยตน เถ้าแก่ชัยก็ไม่ถือสาหาความ กลับมาขอโทษเฉียบและนำเงินมาชดเชยให้ แม้เฉียบจะไม่ยอมรับเงินและคำขอโทษก็ตาม)

– ค่านิยมในวังน้ำเขียวเป็นแบบอิงท้องถิ่นพื้นบ้าน มากกว่าสังคมสากลสมัยใหม่ในวงกว้างออกไป (เช่น มีการกีดกันกลั่นแกล้งกันบนฐานชาติพันธุ์ ข่มขู่และล้างแค้นกันด้วยความรุนแรงและอาวุธปืน เป็นต้น)

เห็นได้ชัดว่าทุนนิยมและเศรษฐกิจตลาดเข้าครอบงำวังน้ำเขียวเต็มตัวแล้ว ปลาและของป่าที่ชาวบ้านหาได้มีไว้เพื่อขายแลกเงินมาซื้อของบริโภคและเก็บออมสะสมเป็นหลัก, ส่วนรัฐและเจ้าหน้าที่ราชการยังไม่เข้ามาปรากฏตัวชัดในหมู่บ้าน แค่ตั้งด่านและลาดตระเวนควบคุมในป่าสงวนฯ ด้านนอกออกไป ไม่ได้เข้ามาจัดโครงการสนองบริการสวัสดิการต่างๆ ให้ชาวบ้านภายในวังน้ำเขียวเอง

ในทำนองเดียวกัน วังน้ำเขียวก็ยังไม่ทันมีนักการเมืองและการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ว่าผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. สภาตำบล พรรคการเมือง ฯลฯ เช่นกัน (หากมี ชะรอยเถ้าแก่ชัยหรือน้าสิงห์น่าจะเป็นผู้สมัครคนแรกๆ) แต่กระนั้นชาวบ้านก็มีการจัดตั้งหลวมๆ ในรูปเครือข่ายเพื่อจำกัดกีดกันคนนอกออกไป เป็นต้น

คนหาปลา โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ภาพจาก readery

อ่าน “คนหาปลา” (จบ)

(มติชนสุดสัปดาห์ 29 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2559)

นอกจากการตีความเชิงรัฐศาสตร์โดยภาพรวมเมื่อตอนที่แล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นในนิยายเรื่อง “คนหาปลา” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ผมคิดว่ามีความสมสมัยน่าสนใจ ควรแก่การขยายความออกไป คือความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ และบทสนทนาในถ้ำริมห้วยตอนจบระหว่างสามสหายได้แก่ เฉียบ หมอลำ และหยอย อันสะท้อนปัญหาการสร้างชุมชนส่วนรวมร่วมกันขึ้นมาใหม่ในลักษณะข้ามความแตกต่างทางชาติพันธุ์

โดยผ่านห้วงคิดและการกระทำของเฉียบ ตัวเอกของเรื่อง และบทสนทนากับน้าสิงห์ เราได้ภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติในลักษณะที่เป็นการต่อสู้ ต้องใช้ความพยายาม ลำบากเหน็ดเหนื่อย เสี่ยงเจ็บเสี่ยงตาย แต่หากมนุษย์หัดสังเกตเรียนรู้ที่จะสรุปประสบการณ์มาเป็นบทเรียน ก็สามารถใช้ประโยชน์หาอยู่หากินจากทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติได้อย่างอิ่มหนำเกินพอราว “ขุมทรัพย์ส่วนตัว” (น.14)

แต่การจะอนุรักษ์ “ขุมทรัพย์ส่วนตัว” โดยธรรมชาตินี้ไว้เลี้ยงชีวิตได้ยั่งยืน มนุษย์ก็ต้องจัดการความสัมพันธ์ของตนกับธรรมชาติให้เหมาะสม คือมีศีลธรรมกำกับความสัมพันธ์นั้น ต่อรองและกระทำต่อธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและมีจริยธรรม แสวงหาและใช้ประโยชน์จากมันในกรอบของการยังชีพอย่างสมถะ

“ไม่มีการสะสมและทำลายที่เกินความจำเป็น”

ในกรณีของเฉียบก็ด้วยกุศโลบายในการสำนึกสำเหนียกถึง “พระแม่ธรรมชาติ” ที่ “เขาแค่มาขอความเอื้ออาทรเพียงเพื่อยังชีพเป็นผู้เป็นคน…ได้รับเมตตา” (น.15)

ในฐานะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีศีลธรรม (moral being) คือรู้จักกำกับควบคุมตนเองว่าควรจะสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนอื่นสิ่งอื่นนอกตัวเองออกไปอย่างไร (นิธิ เอียวศรีวงศ์, “วิชาศีลธรรม”, มติชนรายวัน, 3 ส.ค. 2558 และ “วิชาศีลธรรมอีกที”, มติชนรายวัน, 2 พ.ย. 2558)

การคิดพิจารณาและประพฤติปฏิบัติต่อธรรมชาติภายนอกตัวมนุษย์อย่างเคารพรักษ์อาทรห่วงใย ให้อยู่เกื้อกูลกันกับตนไปยาวนาน จึงไม่ใช่ลักษณาการที่มนุษย์วางตนเป็นนายเหนือธรรมชาติ (mastery over nature) หากพยายามเป็นนายเหนือความสัมพันธ์ของตนกับธรรมชาติต่างหาก (mastery over one”s relationship with nature) กล่าวคือ รู้จักกำกับควบคุมความสัมพันธ์นั้นให้อยู่ในกรอบจำกัดที่แน่นอนเพื่อความยั่งยืนของทั้งสองฝ่าย

ถือธรรมชาติที่แม้ดูเหมือนอยู่นอกตัว เป็นประหนึ่งร่างที่ไร้วิญญาณ (inorganic body) ของมนุษย์เอง – นั่นแปลว่าถ้าธรรมชาติถูกปู้ยี่ปู้ยำจนป่วยด้วยมลภาวะ มนุษย์ก็ย่อมพลอยป่วยไปด้วย เพราะนั่นมันร่างกายส่วนหนึ่งของคุณ แม้จะไร้วิญญาณก็ตาม

หรือในทางกลับกันคือถือมนุษย์เป็นส่วนที่มีจิตสำนึกของธรรมชาติ (a conscious part of nature) – นั่นแปลว่ามนุษย์กับธรรมชาติเป็นองค์ภาวะแนบเนื่องเชื่อมโยงที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้

หากธรรมชาติเน่าเสีย มนุษย์ย่อมพลอยเน่าเสียไปด้วย ชั่วแต่ว่ามนุษย์เป็นธรรมชาติส่วนที่สามารถสำนึกรู้ถึงอาการเน่าเสียนั้นและอาจดิ้นรนหาทางเยียวยาแก้ไขป้องกันมัน เท่านั้นเอง

สําหรับบทสนทนาระหว่างสามสหายในถ้ำริมห้วยอันเป็นฉากจบและไคลแมกซ์ของนิยาย พื้นเดิมที่มาของมันคือมิตรภาพของเฉียบ ตัวเอกคนไทยพื้นถิ่นในเรื่อง, กับหมอลำ คนลาวที่อพยพเข้ามาหาปลาอยู่วังน้ำเขียวภายหลัง, และหยอย เพื่อนคนไทยของทั้งคู่

ความเป็นเพื่อนยากของทั้งสามแสดงออกเด่นชัดใน 2 ฉาก คือฉากที่หมอลำกับหยอยช่วยเฉียบจุดไฟเพื่อไล่ไฟป่าที่กำลังลุกลามใกล้แพของเฉียบกับเมียเข้ามาจนสำเร็จ (น.52-56) และฉากหมอลำพาแม่ใหญ่หมอตำแยเฒ่าชาวลาวมาช่วยทำคลอดให้แตงอ่อนเมียของเฉียบยามฉุกเฉินจนปลอดภัยทั้งแม่ลูก ในสภาพที่เฉียบพาเมียไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมืองไม่ได้เพราะถูกเจ้าหน้าที่ด่านกลั่นแกล้งกักตัวและรีดไถเอาเงินค่าหมอไปจนหมดเสียก่อน (น.62-73)

ความยุ่งยากในมิตรภาพของทั้งสามเกิดขึ้นเพราะตัวน้าสิงห์ หัวหน้าผู้อุปถัมภ์เครือข่ายชุมชนคนไทยในวังน้ำเขียวซึ่งเฉียบเคารพนับถือเหมือนญาติผู้ใหญ่และครูในฐานะมีบุญคุณต่อตน ได้กล่าวถ้อยคำถากถางดูหมิ่นและจงใจหาเรื่องเล่นงานกลั่นแกล้งหมอลำซึ่งเป็นที่นับถือในหมู่คนลาวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อตีวัวกระทบคราด หาทางกดดันขับไล่ชุมชนคนลาวทั้งหมดให้ออกไปจากวังน้ำเขียวเสียเพื่อจะได้ไม่มาแย่งคนไทยจับปลาที่นับวันร่อยหรอลง จนถึงแก่ยิงปืนขู่หมอลำ

อีกทั้งบุคลิกแบบผู้ใหญ่อำนาจนิยมของน้าสิงห์ที่มือไวใจร้อน ตบหัวหยอยจนคะมำเมื่อถูกขัดคอ ก็ได้สร้างความไม่พอใจสะสมถึงขั้นคุมแค้นแก่ทั้งสองจนนำไปสู่เหตุร้ายรุนแรงในท้ายที่สุด (บทที่ 3, 4)

ทั้งหมดนี้ทำให้เฉียบในฐานะคนกลางระหว่างเพื่อนกับผู้มีพระคุณ ตกที่นั่งลำบาก ด้านหนึ่งเขาพยายามเป็นปากเสียงตัวแทนใช้เหตุผลต่อรองทัดทานผ่อนหนักเป็นเบากับน้าสิงห์เพื่อปกป้องหมอลำหลายรอบ (น.33-35, 45-48, 106-107) แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็อดหวั่นไหวหูเบาไปกับคำยุยงส่อเสียดของน้าสิงห์จนระแวงว่าหมอลำจะมาชอบพอเกาะแกะเมียของตนไม่ได้ ถึงขั้นที่อ้ำอึ้งไม่ออกหน้าช่วยแก้ต่างแทนหมอลำในยามหน้าสิ่วหน้าขวานที่กำลังเผชิญหน้ากับน้าสิงห์ (น.76-79, 88-95, 123-124)

เราอาจมองความสัมพันธ์ระหว่าง [เฉียบ-หมอลำ-หยอย] ว่าเป็นเรื่องมิตรภาพบนเขาควายอันอิหลักอิเหลื่อของชาย 3 คนธรรมดาก็ได้ แต่ดังที่ผมเสนอไว้แต่ต้นในคอลัมน์นี้ตอนที่แล้วว่าผมอยากลองมองวังน้ำเขียวเป็นภาพจำลองย่อส่วน (microcosm) ของสังคมไทยในภาวะขัดแย้งเปลี่ยนแปลง

ในทำนองเดียวกัน เราจึงอาจมองมิตรภาพของสามสหายเป็นภาพจำลองย่อส่วนของปัญหาการสร้างชุมชนชาติไทยข้ามชาติพันธุ์ขึ้นมาในระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ [ไทย-ลาว-และอาจรวมถึงเจ๊กในกรณีเถ้าแก่ชัย] ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่อย่างไรในท่ามกลางความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร (แย่งจับปลา) การปะทะต่อสู้ทางอำนาจ (น้าสิงห์ในนามชุมชนคนไทย vs. หมอลำในนามชุมชนคนลาว) และการปะทุระเบิดของความรุนแรง (การลอบสังหารน้าสิงห์ด้วยปืนของเฉียบที่หมอลำกับหยอยร่วมกันขโมยไป)

ผู้ประพันธ์เลือกสร้างฉากสนทนาของสามสหายในถ้ำริมห้วยเป็นโอกาสในการสำรวจควานหาอุดมคติ ลู่ทางความเป็นไปได้และอุปสรรคปัญหาทั้งในแง่เป้าหมาย วิธีการและปรัชญาของการสร้างชุมชนชาติไทยข้ามชาติพันธุ์ดังกล่าวนี้

ส่วนที่เลือกให้เกิดใน “ถ้ำ” นั้น เสกสรรค์อธิบายว่าเป็นการอ้างอิงถึงอุปมานิทัศน์แห่งถ้ำ (The allegory of the cave ดู http://www.historyguide.org/intellect/allegory.html) ในบทสนทนาชื่อดังของเพลโต ปรมาจารย์ปรัชญาการเมืองคลาสสิกตะวันตกเรื่อง The Republic, Book VII ที่ผู้เขียนร่ำเรียนมา

ผมขอยกบทสนทนาในถ้ำบางตอนมาเป็นตัวอย่าง :

ประเด็นชาติ, ชาตินิยม, ผู้นำอำนาจนิยม (น.124-125)

เฉียบ : “จริงๆ แล้วน้าสิงห์เขาไม่เคยเกลียดหมอลำ และไม่เคยคิดจะทำอะไรใครถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ เรื่องนี้เขาเคยพูดกับข้าตรงๆ”

หมอลำ : “แล้วทำไม…ทำไมเขาถึงทำไม่ดีกับข้าทุกอย่าง ยังกับว่าข้าไม่ใช่คน” …

เฉียบ : “น้าสิงห์แกแค่ขู่ให้พวกอีสานกลัว เพื่อจะได้ออกไปจากวังน้ำเขียว แกเอาเอ็งเป็นเป้า เพราะคนนับถือเอ็งเยอะ ไล่เอ็งได้คนหนึ่ง ที่เหลือคงถอยกันหมด… เชื่อข้าเถอะ แกไม่ได้คิดจะทำร้ายใครจริงๆ หรอก”

หมอลำ : “ข้ารู้ว่าแกต้องการขับไล่คนอีสาน แต่ข้าไม่เคยเข้าใจว่าทำไม… ตั้งแต่อพยพมาอยู่ที่นี่ พวกข้าไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร”

เฉียบ : “แกบอกว่าเดี๋ยวนี้ปลามันมีน้อย แกอยากเก็บไว้ให้คนแถวนี้ทำกิน… ถ้าพวกอีสานกลับไปหมด ปลาก็ยังมีเหลือพอแบ่งกัน… จะว่าไปแกก็พูดกับข้าอยู่เสมอว่าแกทำเพื่อส่วนรวม ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องส่วนตัว”

หมอลำ : “แล้วทำไมส่วนรวมถึงมีแต่พวกเอ็ง… ทำไมไม่นับพวกข้าด้วย แผ่นดินนี้เป็นของคนกลุ่มเดียวยังงั้นเรอะ” …

หยอย : “ไม่จริง… ไม่จริงหรอกพี่เฉียบ… ฉันไม่เชื่อว่าน้าสิงห์แกจะรักชาวบ้านขนาดนั้นหรอก ขนาดฉันมาจากบางเดียวกับแก แต่เวลาพูดไม่ถูกหูยังถูกแกตบกบาล ฉันว่าแกแค่อ้างคนแถวนี้เพื่อยึดอำนาจในวังน้ำเขียวเท่านั้นแหละ นิสัยแกชอบมีอำนาจเหนือคนอื่น… ฉันไม่เชื่อหรอกว่าใครจะทำเพื่อส่วนรวม… ถ้าส่วนรวมจริง มันต้องฟังคนอื่นบ้างสิ … นี่มันพูดเองเออเองทั้งนั้น”

ประเด็นจินตนากรรมชุมชนชาติข้ามชาติพันธุ์ (น.127-128)

เฉียบ : “พูดก็พูดเถอะ ข้าไม่อยากให้มีวันนี้เลย… เราสามคนเคยค้นพบถ้ำนี้ด้วยกัน เที่ยวป่าด้วยกัน กินเหล้าด้วยกัน… เราเคยมีความสุขด้วยกันในวังน้ำเขียว มันน่าเสียดายเหลือเกิน”

หมอลำ : “ใช่… ข้าเองก็แสวงหาความสงบมาตลอด … ชาตินี้ไม่เคยคิดว่าจะฆ่าคน นี่บาปกรรมไม่รู้จะติดตัวไปอีกนานเท่าใด”

เฉียบ : “ฉันก็อยากให้ที่นี่เป็นเหมือนบ้าน … คิดดูสิ ป่าสวย ห้วยใส กินอิ่ม นอนอุ่น อยู่กันเหมือนพี่น้อง…”

ก่อนที่เสียงปืนจะดังกึกก้อง และน้ำป่าพุ่งเข้าท่วมถ้ำและสามสหายจนมืดมิดเงียบสงัดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image