แห่เยี่ยม พช.พระนคร สรงน้ำเทวดานพเคราะห์ ชมนิทรรศการ ‘อารยธรรมวิวัฒน์’ เปิดไฮไลต์โพธิสัตว์บ้านโตนด

แห่เยี่ยม พช.พระนคร สรงน้ำเทวดานพเคราะห์ ชมนิทรรศการ ‘อารยธรรมวิวัฒน์’ เปิดไฮไลต์โพธิสัตว์บ้านโตนด

เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเข้าเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ภายใต้มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยมีการตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ และให้บริการเจลแอลกอฮอลล์ล้างมือในจุดต่างๆ

เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ ประชาชนเข้ารดน้ำสักการะเทวดานพเคราะห์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดรางรดสรง และจัดระเบียบการเข้าสักการะอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลความรู้บริเวณด้านหน้าศาลาฯ พร้อมเอกสารแผ่นพับ โดยในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้าย

สำหรับ ประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ที่อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ตามระบบทักษาในแผนผังอัฐจักรนี้ สร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 12 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

Advertisement

ซึ่งประติมากรรมเทวดานี้มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพยดาบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน

Advertisement

ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้คือ การถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์

สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

อ่านข่าว : หาดูยาก! ภาพเก่าก่อนซ่อมของโพธิสัตว์ “ชิ้นเอก” ที่พช.พระนคร พร้อมท่อนขาเมื่อราว 50 ปีก่อน

ในขณะที่บรรยากาศภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ มีผู้เข้ากราบสักการะพระพุทธสิหิงค์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการติดเทปกาวบนพื้น เพื่อกำหนดจุดเว้นระยะห่างสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีก 1 จุดที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ นิทรรศการ ‘อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร’ ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งนำเสนอพัฒนาการของชุมชนโบราณตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย เชื่อมโยงถึงการก่อเกิดรัฐในเวลาต่อมา

โดยเล่าเรื่องราวการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณสู่ดินแดนไทย ก่อนพัฒนาสืบต่อจนเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างเขมรและอยุธยาผ่านงานศิลปกรรม

ภายในนิทรรศการจัดแสดงโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี จนถึงอยุธยา โดยมีไฮไลต์คือ พระโพธิสัตว์จากบ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประติมากรรมสำริดที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยด้วยความสูงกว่า 3 เมตร สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว

โดยเพิ่งได้รับการบูรณะให้เต็มองค์จากการศึกษาของนักวิชาการหลายแขนง อาทิ ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ช่างศิลปกรรม เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image