สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) ได้ชื่อจากปากน้ำของแม่น้ำโพ (อุตรดิตถ์)

แผนที่ประเทศไทย จัดทำระหว่าง พ.ศ. 2435-2436 คัดมานำเสนอเฉพาะที่ระบุชื่อแม่น้ำน่านว่า แม่น้ำโพ (Nam Pho) ตรงภาพลูกศรชี้ (ที่มา : เอช. วาริงตัน สมิธ. บันทึกการเดินทางสู่แม่น้ำโขงตอนบนประเทศไทย. แปลโดย พระพรรณ ทองตัน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2544)

ปากน้ำโพ (จ. นครสวรรค์) ได้ชื่อจากปากแม่น้ำโพ (ซึ่งเป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำน่าน) ไหลไปสบรวมกับแม่น้ำปิง นับเป็นตำแหน่งเริ่มต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลลงทิศใต้ออกอ่าวไทย มีผู้ขอให้อธิบายเพิ่มเติมว่าหลักฐานจากไหน?

หลักฐานเก่าสุดมีในบันทึกของฝรั่ง พร้อมแผนที่ระบุชื่อแม่น้ำโพ พิมพ์เผยแพร่สมัย ร.5

ต่อมา อ. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญฯ ของกรมศิลปากร) เขียนอธิบายเพิ่มเติมรายละเอียดอีกมาก โดยพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือชื่อ เมืองราดฯ และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555) จะคัดมาโดยสรุป ดังนี้

ชื่อแม่น้ำโพคือแม่น้ำน่าน มีหลักฐานสำคัญในหนังสือ ห้าปีในสยาม เล่ม 1 (กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2544) เป็นบันทึกเรื่องราวการเดินทางสำรวจแร่ในสยามระหว่าง พ.ศ. 2434-2439 ของ นายเฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ (มีแผนที่ประเทศไทย ทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2435-2436)

Advertisement

เหตุที่แม่น้ำน่านขณะนั้นเรียกแม่น้ำโพ เพราะไหลผ่านตลาดการค้าบางโพ-ท่าอิฐ (อ. เมือง จ. อุตรดิตถ์)

ตลาดบางโพ-ท่าอิฐ เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นประมาณสมัย ร. 3-ต้น ร.4 เป็นตลาดน้ำที่เรือแพจากภาคกลางนำสินค้าไปขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ขนส่งโดยทางบกจากแผ่นดินภายในทวีป ตั้งแต่สิบสองพันนา, หลวงพระบาง, แพร่, น่าน ฯลฯ เป็นตลาดการค้าใหญ่มากในสมัย ร.5 และเพิ่งเลิกไปเมื่อทางรถไฟสายเหนือตัดผ่าน
ชื่อแม่น้ำโพได้จากชื่อตำบลบ้านที่แม่น้ำไหลผ่าน คือบางโพ และชื่อปากน้ำโพ (ที่ จ. นครสวรรค์) ก็มีที่มาจากแม่น้ำโพ (แม่น้ำน่าน) ไปพบกับแม่น้ำปิง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image