ย้อนปม ‘โรงกลึงเก่าตลาดน้อย’ เปิดจ.ม.และบทสรุปเมื่อปี62 ก่อนโซเชียลวิพากษ์อีกรอบ

ภาพจาก : สวนป๋วย PUEY Park for the People

ย้อนข้อถกเถียง ‘โรงกลึงเก่าตลาดน้อย’ เปิดจดหมายและบทสรุปเมื่อปี 62 ก่อนโซเชียลวิพากษ์อีกรอบ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการอนุรักษ์โรงกลึงเก่าย่านตลาดน้อยอีกครั้ง ในเพจ ‘นักเกรียนสวนกุหลาบ’ หลังเคยมีกระแสการตั้งคำถามเมื่อ พ.ศ. 2562 จากบทความของ The Cloud ‘ชุบชีวิตโรงกลึงเก่าเป็นพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ให้ชาวตลาดน้อย’ ซึ่งมีบทสัมภาษณ์ทีมสถาปนิกจาก สถาบันอาศรมศิลป์ และกลุ่มคนรักตลาดน้อย เกี่ยวกับความเป็นมาของ สวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย มีเนื้อหาเล่าถึงประวัติ และการดำเนินงานฟื้นฟูตั้งแต่เป็นโรงกลึงเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา การเข้าสำรวจพื้นที่ของกลุ่มอาศรมศิลป์ และความร่วมมือกับโครงการ100 ปีชาตกาลอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อีกทั้งการขอใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์ กระทั่งต่อมาสามารถสร้างสวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้

ต่อมา ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “Karjvit Rirermvanich” เผยแพร่เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ตนและครอบครัว เป็นผู้เช่าเดิมของที่ดินโรงกลึงดังกล่าว ทว่า ต้องออกจากบ้าน ‘อูหลียุ่นเชียง’ ไปเพราะถูกรวมตัวขับไล่

เนื้อหาตอนหนึ่งว่า

“นอนอยู่กับบ้านดี ๆ มีกลุ่มคนแถวบ้านที่ไม่ได้รู้จักอะไรกันมาก่อน ไม่เคยมีเรื่องโกรธแค้นโกรธเคืองอะไรกัน รวมตัวกันไล่ผมและครอบครัวออกจากบ้าน บอกว่ามีข่าวบ้านเราประกาศขาย ผมเดินเข้าไปบอกว่าก็นี่ไง ผมมาบอกอยู่นี่ว่าไม่ได้จะขาย เอาเงินมากองตรงนี้ตอนนี้ยังไม่คิดจะเอา….”

Advertisement

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประเด็นที่มีคำอธิบายว่า มีการทำประชาพิจารณ์ และเป็นมติของชุมชนแล้วนั้น ว่า “เมื่อไปถามเฮียข้างบ้าน เฮียในเซียงกง ถามเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ไม่เห็นมีใครรู้เรื่อง” และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้กับใครอีก

จากกรณีดังกล่าว เพียงไม่นาน ผู้เกี่ยวข้อง จึงมีการจัดวงสนทนา ซึ่ง ‘ไทยบันเทิง ThaiPBS’ สรุปเนื้อหาและข้อชี้แจง ว่า กลุ่มคนรักตลาดน้อย ออกเอกสารชี้แจง เนื้อความโดยสังเขปว่า ไม่เคยมีเหตุการณ์การรวมตัวขับไล่ออกจากบ้าน ส่วนเรื่องการทำประชาพิจารณ์นั้น ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว แต่เป็นเพียงการสำรวจความคิดเห็น และความต้องการของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำย่านตลาดน้อย

เอกสารฉบับเดียวกัน ยังระบุที่มาของโครงการว่า เดิมที่ดินมีการประกาศขายแต่ไม่มีใครซื้อเนื่องจากเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ต่อมาเมื่อมีการเข้ามาสำรวจพื้นที่และพบว่าที่ดินกำลังจะหมดสัญญาเช่า กลุ่มอาศรมศิลป์จึงหารือกับกลุ่มคนรักตลาดน้อย กระทั่งริเริ่มโครงการดังกล่าว

‘ไทยบันเทิง ThaiPBS’ ยังอ้างถึงคำบอกเล่าจาก ปองขวัญ ลาซูส หนึ่งในคณะกรรมการโครงการฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดังนี้

“ตอนนั้นอธิบดีกรมธนารักษ์ ท่านอาจารย์นริศ ชัยสูตร มีนโยบายของกรมธนารักษ์ออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์ บอกว่าอยากจะมีการทำโครงการที่เอาพื้นที่ที่ให้เอกชนเช่าแล้วเขาไม่ได้ทำอะไร เอาคืนมาทำสวนสาธารณะที่มีประโยชน์ต่อสาธารณชน เราก็เห็นว่ามีนโยบายพอดี ท่านก็เป็นหลานอาจารย์ป๋วย ก็เลยคิดว่าเหมาะสมดีที่จะเอาโครงการที่ทางนี้ทำแผนไว้ไปนำเสนอว่าพื้นที่นี้ทางกรมธนารักษ์เห็นว่ายังไง ก็ปรากฏว่าท่านอาจารย์นริศ ก็เห็นด้วยเพราะว่ามันตรงกับวัตถุประสงค์ของกรรมการชุด 100 ปีอาจารย์ป๋วย”

ในขณะที่ รุ่งจันทร์ เฉลิมวิระยะ สมาชิกกลุ่มคนรักตลาดน้อยระบุว่า ที่มาที่ไปคือภาครัฐเข้ามาสำรวจพื้นที่ มาดูโครงการแล้วก็มาบอกว่าจะมาปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำให้

“ถ้ามีพื้นที่สาธารณะให้คนในชุมชนไปได้ ไปรวมตัวกันทำกิจกรรมอะไรได้ มันก็ดีสิ แล้วเค้าก็บอกว่ามีพื้นที่ของรัฐตรงนี้ที่ กำลังจะหมดสัญญาแล้วก็กำลังจะมีคนไปเช่า เราก็คิดว่าถ้ามันเป็นพื้นที่สาธารณะได้ เราก็รวมตัวกันเขียนจดหมายเท่านั้นเอง”

ส่วนประเด็นมติของชุมชนที่มีการกล่าวว่า คนในชุมชนบางส่วนก็ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น รุ่งจันทร์ ระบุว่าการทำอะไรจะเป็นการแจ้งและประชาสัมพันธ์ให้คนพื้นที่ได้รับทราบ คนทำงานในกลุ่มคนรักตลาดน้อยหลักก็จะมี10 กว่าคน แล้วก็จะมีกลุ่มไลน์อีกร้อยกว่าคน แต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีคนไม่ทราบเรื่อง

‘ไทยบันเทิง ThaiPBS’ ยังระบุถึงมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ร่วมวงสนทนาในวันนั้น เมื่อราว 2 ปีที่แล้วว่า มีผู้เสนอว่า อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจในมุมของครอบครัวอูหลียุ่นเชียงและควรให้ความสำคัญของบ้านอูหลียุ่นเชียงในแง่ประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่อยู่คู่กับพื้นที่มายาวนาน เมื่อ 30 ปีก่อน บ้านอูหลียุ่นเชียงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดระบบไฟฟ้าทั้งระบบในช่วงที่เกิดไฟไหม้ขึ้นบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่เอกสารจดหมายร้องเรียนขอความเป็นธรรมของผู้เช่าเดิมครอบครัวบ้านอูหลียุ่นเชียงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเขียนขึ้นเมื่อพ.ศ.2558 มีข้อมูลระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการไม่ได้ต่อสัญญาเช่า เพราะตนได้ยื่นเสนอโครงการพัฒนาที่ดินให้เป็นโครงการเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ลักษณะโรงแรมเพื่ออยู่อาศัยเองและให้เช่าบางส่วนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 และมีการปรับปรุงโครงการหลายครั้งเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับโครงการและชุมชน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดใด กลับยกเลิกสัญญาเช่าเพียงอย่างเดียวแม้เช่ามาเป็นเวลานาน (90 ปี) และเมื่อปีพ.ศ. 2552 กรมธนารักษ์ได้แจ้งให้ทราบถึงระเบียบในการทำสัญญาเบื้องต้นแล้ว แต่โครงการก็ถูกระงับไปเนื่องจาก ทางเจ้าของบ้านยินยอมให้หน่วยงานรัฐเข้ามาตั้งสำนักงานชั่วคราวสำหรับโครงการเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งโครงการเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้โครงการของเจ้าของบ้านถูกระงับไว้อย่างไม่มีกำหนด มีการขอเช่าซื้อสิทธิ์ที่ดินต่อจากนายหน้าหลายรายและจากสถาบันอาศรมศิลป์แต่เจ้าของบ้านก็ปฏิเสธไปทั้งหมดโดยให้เหตุลว่าเนื่องจากมีการผูกพันกับพื้นที่อย่างยาวนานและผู้เช่าเดิมมีการเสนอว่าเจ้าของบ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบสวนสาธารณะเพิ่มเติมเอง

‘ด้วยเห็นว่าบ้านของข้าพเจ้าที่อยู่อาศัยมานานนี้ก็มีความเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว ผู้คนในชุมชนก็มีความสนิทสนมข้าพเจ้าและครอบครัวเป็นอย่างดีเดินเข้าออกประตูได้เป็นปกติมาเป็นเวลานาน จึงได้มีการเสนอปรับแบบโครงการเพิ่มเติมสวนหย่อมไปยังกรมธนารักษ์ ให้บริเวณริมน้ำ พื้นที่ประมาณ1ใน 3 ของพื้นที่ดิน เป็นพื้นที่สวนสาธารณะของชุมชน โดยข้าพเจ้าและครอบครัวเป็นยินดีเป็นผู้ออกแบบ ลงทุนและดูแลสวนหย่อมดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นภาระของทางกรมฯ ซึ่งไม่ได้รับคำตอบใดๆ’

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวจบลงโดยที่มีข้อสรุปที่ว่า กรมธนารักษ์ต่อสัญญากับผู้เช่าเดิม 200 ตารางวา และที่มอบให้กับโครงการสวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 180 ตารางวา ซึ่งทุกฝ่ายก็ยินยอมตามข้อสรุปดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image