สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘ตรุษจีน’ ในดินแดนไทย ยุคดึกดำบรรพ์ นับพันปีมาแล้ว

งิ้ว มีคนจีนไว้หางเปียและคนไทยยืนดู จากจิตรกรรมฝาผนังวัดประดู่ทรงธรรม จ. พระนครศรีอยุธยา วัดนี้สร้างไม่ต่ำกว่า 300 ปี แต่ภาพจิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ สมัย ร.5

ตรุษจีน น่าจะเป็นที่รู้จักดีในหมู่คนชั้นสูงของรัฐโบราณต่างๆ ในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา
เพราะมีการแลกเปลี่ยนค้าขายกว้างขวางแล้ว โดยเฉพาะการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่ง (แม้จะต้องผ่านคนกลางในยุคต้นๆ) เช่น ยุคทวารวดีศรีวิชัย หรือก่อนหน้านั้น
แต่ยังไม่พบหลักฐานตรงๆ ที่บอกเรื่องตรุษจีนในดินแดนประเทศไทยยุคแรกๆ

เมื่อเข้าสู่ยุคอยุธยา ชาวจีนตั้งหลักแหล่งมั่นคง แล้วทำมาค้าขายมั่งคั่ง มีตึกราม มีตลาดอยู่ในเกาะเมืองอยุธยา เรียกตลาดใหญ่ กับตลาดน้อย และตลาดอื่นๆ หลายแห่งที่อยู่นอกเกาะเมือง

ที่สำคัญ ยุคอยุธยามีงิ้ว แสดงในโรงมีฉาก ซึ่งเป็นที่นิยมมานานมาก กระทั่งถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้มีงิ้วแสดงในงานเลี้ยงรับราชทูตจากฝรั่งเศส (ดังรายละเอียดในจดหมายเหตุลาลูแบร์)
มีเล่นงิ้วและโรงงิ้วใหญ่โตโอฬารขนาดนี้ ตรุษจีนยุคอยุธยาต้องมีฉลองใหญ่โตเป็นที่รู้จักทั่วไป แต่ยังไม่พบหลักฐานโดยตรงว่ามีจริง ทั้งหมดที่เล่ามาก็ได้แต่คาดคะเนจากหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น

ประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทย ยกย่องให้ความสำคัญอารยธรรมอินเดีย (เพราะเกี่ยวข้องกับเจ้านาย) แต่ไม่ใส่ใจอารยธรรมจีน (เพราะอยู่ในวิถีชีวิตของพ่อค้าและสามัญชน)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image