คำ ‘ไท-ไต’ มาจากไหน ? แนวคิดใหม่จากความสัมพันธ์ทางภาษาในอุษาคเนย์

“ไท-ไต” หรือ “ไท-กะได” ชื่อนามกลุ่มคนที่ยืนยันกันแล้วว่าไม่ได้อพยพถอยร่นลงมาจากเทือกเขาทุรกันดารแห่งอัลไต หากเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดและแพร่หลายขยายเผ่าพันธุ์อยู่ในย่านอุษาคเนย์ของไมเคิล ไรท์ ฝรั่งคลั่งสยาม ตั้งแต่ครั้งดึกดื่นดำบรรพ์

ชาวจ้วงในมณฑลกวางสี ประเทศจีน
ชาวจ้วงในมณฑลกวางสี ประเทศจีน

ในหนังสือเล่มหนาที่ชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” นั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้สืบค้นความหมายของคำ “ไท-ไต” ที่ลึกไปกว่าการแปลว่า อิสระ หรือ เสรี โดยสำรวจในคำเรียกเก่าแก่ของชาวลาว ไทยอีสาน ไตลื้อสิบสองปันนา ในวรรณคดีล้านช้างเรื่อง ขุนเจือง ไทใหญ่รัฐฉาน ไปจนถึงแถบกวางตุ้งกวางสีถิ่นชาวจ้วง ซึ่งได้คัดข้อสรุปมาดังนี้

จิตร ภูมิศักดิ์

“เป็นสรุปกันทีว่า ไต-ไท มีความหมายดั้งเดิมว่า คน และหมายถึงคนทางสังคมที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นหมู่พวก มิใช่คนทางธรรมชาติที่บอกประเภทพืชพันธุ์ว่าเป็นชนิดหนึ่งของสัตว์โลก

Advertisement

นั่นคือมิได้หมายถึง human being ซึ่งต่างจากสัตว์ หากหมายถึง people การแยกคำระหว่างคนทางธรรมชาติ (man, human being) กับคนทางสังคม (person, people) นี้

ถ้าลองสำรวจดูจะพบว่ามีอยู่ในหลายๆ ภาษาทีเดียว ข้าพเจ้ามั่นใจว่าภาษาตระกูลไทแต่ดั้งเดิม มีการจำแนกคนทางธรรมชาติ กับคนทางสังคม นั่นคือมีการจำแนกระหว่าง คน กับ ไท”

หากจะลองสืบค้นต่อยอดจากงานค้นคว้าของนักวิชาการผู้ล่วงลับ ลงไปถึงชั้นที่ว่าทำไมจึงต้องเรียกพวกตัวเองในชื่อคนทางสังคมว่า “ไท-ไต” โดยใช้แนวคิดยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างคำภาษาพี่น้องอุษาคเนย์แผ่นดินเหนือกับพี่น้องย่านอุษาคเนย์ทะเลใต้ อาจตีความได้ ดังนี้

Advertisement

 

เหนือ-ใต้ เท่ากับ บน-ล่าง
เชื่อมโยงคำเรียก ‘บ้านช่อง’ ฝั่งแผ่นดิน-ทะเลใต้

มีคำสองคำที่เราใช้กำหนดทิศทางนอกจากทิศตะวันขึ้นและทิศตะวันตกดิน นั่นคือทิศใต้ และทิศเหนือ หรือทิศหัวนอนและทิศปลายตีน คำเรียกของคนในสมัยก่อนที่จะนอนหันหัวไปทางทิศใต้และหันปลายตีนไปทางทิศเหนือ

ทิศเหนือและทิศใต้นี้มีความหมายที่มากไปกว่าเรื่องเครื่องหมายระบุทิศทาง หากกินความถึงสิ่งที่อยู่ข้างบนและสิ่งที่อยู่ข้างล่างด้วย เช่นบนหรือเหนือบ้าน และล่างหรือใต้ถุนบ้าน ที่นิยมยกสูงมีลานด้านล่างของคนไท-ไต ตั้งแต่ครั้งโบราณ เป็นบ้านในสมัยก่อนซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าเรือน หรือเฮือนที่มีเสาสี่ต้นรองรับค้ำยัน คล้ายเถียงนาในสมัยนี้

คำว่าเหนือและใต้ในความหมายที่แปลว่าบนหรือล่างนี่เอง จะพาไปเชื่อมโยงกับคำของพี่น้องชาวลุ่มแห่งทะเลใต้ เป็นคำเกี่ยวข้องแนบสนิทในกลุ่มก๊วนเดียวกับคำเรียกรูปลักษณะของบ้านช่องทั้งสองฟากฝั่ง ทั้งในแง่ของคำและความหมายเบื้องหลัง

 

เฮือนคนไทในรัฐฉาน พม่า
เฮือนคนไทในรัฐฉาน พม่า
ภาพลายเส้นบ้านในสุมาตรา อินโดนีเซีย พ.ศ. 2353 โดย W. Bell delt., J.G. Stadler sculpt. (จากหนังสือ The History of Sumatra, Published by William Marsden, 1810.)
ภาพลายเส้นบ้านในสุมาตรา อินโดนีเซีย พ.ศ. 2353 โดย W. Bell delt., J.G. Stadler sculpt. (จากหนังสือ The History of Sumatra, Published by William Marsden, 1810.)

ไต คือ ใต้ หมายถึง (คน) ที่ลุ่มหรือลานกว้าง

คำว่าข้างบน ของภาษามาลายูแถบอินโดนีเซียเขาใช้คำว่า “atas” อ่านว่า “อะ-ตัส” แต่มีอีกคำซึ่งสำคัญแสดงการไต่ขึ้นไปข้างบน คือ “naik” อ่านว่า “ไน้-อิค” เช่น “naik ke atas – ไน้อิค เกอ อะตัส” แปลว่าขึ้นมาข้างบน คำนี้ถ้าเรียกด้วยปากของชาวเหนือคงเป็นไปได้สูงที่จะหดสั้นถูกควบรวมเข้ากลายเป็นคำว่า “เหนือ” แทนที่

ในขณะที่คำว่าข้างล่างเขาใช้คำว่า “bawah” อ่านว่า “บา-ว่าห์” หรืออีกสองคำที่มีความใกล้ชิดกัน คือคำว่า “lantai” อ่านว่า ลัน-ไต และ “landai” อ่านว่า ลัน-ได โดยคำว่า “ลันไต” นอกจากจะหมายถึงชั้น ขั้น หรือบันได ยังหมายถึงพื้น หรือชั้นข้างล่างที่ต่ำกว่า หรือใต้ถุนก็ได้

เมื่อรวมกับคำเพื่อนพ้อง “ลันได” ซึ่งขยายความหมายออกไปเป็นที่ดินผืนราบ หรือลานกว้างที่มีความลาดเอียงน้อยๆ ที่อยู่เบื้องล่าง จึงอาจถูกเรียกขานตามเพรียวปากของน้า‘รงค์ –รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้ล่วงไปกาลข้างหน้าแห่งสวนทูนอินให้เหลือเพียงคำสั้นๆว่า “ไต” และ “ได” หรือในอีกคำว่า “ใต้” แค่นั้นล่ะกระมัง

จึงขอเสนอไว้ในที่นี้ว่าคำ “เหนือ” เป็นคำเดียวกับ “naik” และคำ “ใต้” เป็นคำในกลุ่มเดียวกับ “lantai” และ “landai” หดสั้นยืดยาวตามปากและนิสัยของพี่น้องชาวเหนือและชาวใต้

ซึ่งนำมาถึงความหมายและที่มาของคำว่า “ไท-กะได” หรือ “ไท-ไต” จากการยึดแนวคิดที่ว่ามี “ผู้คนสังคม” อาศัยอยู่บนที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ของแม่น้ำเจ้าพระยารุ่นลายครามในทวีปซุนดามาแต่ดั้งเดิม เมื่อครั้งยังเป็นยุคน้ำแข็ง ก่อนจะพลัดพรากแยกย้ายไปตามวิถีชาวลุ่มที่ราบต่ำ ผู้คุ้นชินในการอยู่อาศัยกับชายน้ำ จากการรุกไล่ของทะเลน้ำเค็มเมื่อสิบพันปีที่แล้ว บ้างคงกระจายตัวหนีหายไปทางภูเขาสูงในแถบนั้นจนกลายเป็นเกาะแก่งในภายหลัง หากบ้างคงล่องเรือขึ้นเหนือเลาะชายฝั่งไปทาง เวียดนาม ไหหลำ แผ่นดินจีน ถึงไต้หวัน และบ้างคงลัดเลาะหนีน้ำขึ้นไปตามลำเจ้าพระยาเข้าหาแผ่นดินใหญ่ นำพาวิถีวัฒนธรรมและความเชื่อติดตัวไปยังบ้านใหม่ ผู้ซึ่งเคลื่อนย้ายจากล่างสู่บน จากใต้ขึ้นเหนือ ผู้ซึ่งหนีน้ำท่วมโลกจากพื้นราบเมืองแห่งน้ำ มาพึ่งใบบุญเมืองฟ้าของปู่แถนบนแดนสูง

ผู้ซึ่งยังเรียกขานตัวตนและสังคมอย่างเหนียวแน่นว่า “ไท-ไต” หรือในอีกหนึ่งนัยความหมายว่า “ผู้มาจากวิถีแห่งชาวลุ่ม” นั่นเอง

อาเซียน (อุษาคเนย์) ทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะต่างๆ เป็นแผ่นดินเดียวกัน เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว เพราะระดับน้ําทะเลต่ำกว่าปัจจุบัน ทําให้พื้นท้องทะเลในมหาสมุทรทุกวันนี้เป็น ผืนดิน เรียก 'แผ่นดินซุนดา'
อาเซียน (อุษาคเนย์) ทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะต่างๆ เป็นแผ่นดินเดียวกัน เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว เพราะระดับน้ําทะเลต่ำกว่าปัจจุบัน ทําให้พื้นท้องทะเลในมหาสมุทรทุกวันนี้เป็น ผืนดิน เรียก ‘แผ่นดินซุนดา’

 


สุพัฒน์ สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image