เปิดจม.เหตุ ดู ‘บอลประเพณี’ จากครั้งแรก 2477 ยืนเชียร์ริมสนามหลวง ถึงวิวาทะ ‘เลิก-ไม่เลิก’

ถ้วยรางวัลงานฟุตบอลประเพณีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2477 (นั่งไขว่ห้าง ซ้ายมือของภาพ – ปรีดี พนมยงค์ ด้านล่างมีรูปฟุตบอลระบุชื่อ ม.ธก. คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมปี พ.ศ.2477 เขียนด้วยเลขไทย) เก็บค่าเข้าประตู 1 บาทเพื่อนำไปใช้ในการกุศล

เปิดจม.เหตุ ดู ‘บอลประเพณี’ จากครั้งแรก 2477 ยืนเชียร์ริมสนามหลวง ถึงวิวาทะ ‘เลิก-ไม่เลิก’

กลายเป็นประเด็นถกเถียงต่อเนื่องมานานหลายวัน สำหรับกรณีการยกเลิกประเพณีอัญเชิญพระเกี้ยวตามมติองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) 29 ต่อ 0 เสียง กระทั่งล่าสุด นำไปสู่การเร่งสำรวจความคิดเห็นประชาคมธรรมศาสตร์ ‘เลิก-ไม่เลิก’ ฟุตบอลประเพณี โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ผลเป็นอย่างไร ต้องจับตากันต่อไป

จากวิวาทะที่ว่านี้ ‘มติชน’ ชวนย้อนอ่านประวัติศาสตร์บอลประเพณีซึ่งมีมาอย่างยาวนานเกือบ 9 ทศวรรษ นับแต่ พ.ศ.2477 ซึ่งธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ กระทั่งตัดภาพมาถึงห้วงเวลาร่วมสมัย

 

บอลประเพณี 26 ธันวาคม 2492 ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดที่สนามกีฬาแห่งชาติ ผู้ชมกว่า 20,000 คน มธก.ชนะจุฬา 3-2 ประตู

แม่โดมเจ้าภาพครั้งแรก ณ ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) พ.ศ.2477

Advertisement

การแข่งขันฟาดแข้งกระชับสัมพันธ์ระหว่างจุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2477 ที่ท้องสนามหลวง โดยมี มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นเจ้าภาพ นำโดย ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการ มธก.ในขณะนั้น และได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

ถ้วยรางวัลงานฟุตบอลประเพณีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2477 (นั่งไขว่ห้าง ซ้ายมือของภาพ – ปรีดี พนมยงค์ ด้านล่างมีรูปฟุตบอลระบุชื่อ ม.ธก. คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมปี พ.ศ.2477 เขียนด้วยเลขไทย) เก็บค่าเข้าประตู 1 บาทเพื่อนำไปใช้ในการกุศล

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งแรกมีผู้เข้าชมจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น การเชียร์ยังไม่มีรูปแบบใดๆ นอกจากไปยืนเชียร์ริมสนามเป็นกลุ่มๆ เพราะไม่มีอัฒจันทร์ โดยฝ่ายจุฬาฯ ยึดขอบสนามขวา ส่วนธรรมศาสตร์ยึดขอบสนามซ้าย ผลการแข่งขันในปีแรกจบลงด้วยการเสมอกัน 1 ต่อ 1

อัฒจันทร์ฝั่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในการเชียร์ฟุตบอลประเพณียุคแรก

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ‘อภินิหารตำนานจุฬาฯ’ ระบุว่า ผู้ริเริ่มงานดังกล่าว ฝ่ายธรรมศาสตร์ได้แก่ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค บุศย์ สิมะเสถียร ส่วนฝ่ายจุฬาฯ ได้แก่ ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ โดยรายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายจะมีการมอบเพื่อการกุศล ซึ่งครั้งแรกเป็นการเก็บเงินค่าผ่านประตูบำรุงสมาคมปราบวัณโรค อันถือเป็นโรคที่ร้ายแรงอย่างมากของไทยขณะนั้น หลังจากนั้นก็มีการเก็บเงินบำรุงการกุศลเรื่อยมา เช่น ช่วยผู้ประสบอัคคีภัย สร้างเรือนพักผู้ป่วย สร้างโรงเรียน บำรุงสภากาชาด เป็นต้น รวมถึงสมทบเพื่อการศึกษาของทั้ง 2 สถาบัน

Advertisement

เรียกได้ว่า นอกจากความสนุกสนาน สามัคคี ยังทำความดีเพื่อสาธารณชนอีกด้วย

อัฒจันทร์งานบอลประเพณีฝั่ง ม.วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองยุคแรกๆ นักศึกษาโบกธงสามเหลี่ยม สวมหมวกสีประจำมหาวิทยาลัย

ย้อนมาเรื่องสถานที่จัด ซึ่งกล่าวไปแล้วว่าหนแรกจัดที่สนามหลวงนั้น ก็นับเป็นครั้งเดียว เพราะต่อมาในครั้งที่ 2 และ 3 ได้ย้ายไปจัดที่สนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และนับตั้งแต่ครั้งที่ 4 เป็นต้นมา มีการจัดที่สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นบางครั้งจัดที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์

การอัญเชิญพระเกี้ยว ตราสัญลักษณ์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2520

คัดแล้วคัดอีก นิสิต ‘อัญเชิญพระเกี้ยว’

ประเพณีปฏิบัติของฝั่งจุฬา ฯ ในงานฟุบอลประเพณีก็คือการอัญเชิญตราสัญลักษณ์สู่ขบวนพาเหรด โดยมีหลักฐานภาพถ่ายที่เก่าที่สุดปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

การคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว พิจารณาจากคุณสมบัติที่เพียบพร้อม ทั้ง รูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย

 

การแปรอักษรของม.ธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2526 ภาพจากเฟซบุ๊ก ‘วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’

ล้อการเมือง-ลีดเดอร์-แปรอักษร สีสันงานบอลประเพณี

อีกหนึ่งสีสันขาดไม่ได้ ก็คือ ขบวนล้อการเมือง ซึ่ง ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.มหาสารคาม ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า การล้อเลียนเสียดสีการเมืองนั้น เป็นวัฒนธรรมที่รับจากโลกตะวันตก โดยมีประเทศอังกฤษเป็นต้นตำรับ

การแปรอักษรของนิสิตจุฬาลงกรณ๋์มหาวิทยาลัยในอดีต

ส่วนการแปรอักษรและเชียร์ลีดเดอร์นั้น อาจารย์ฟากแม่โดม พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า มีความเกี่ยวกับการเข้ามาของวัฒนธรรมอเมริกัน และลัทธิทหาร

เชียร์ลีดเดอร์ จุฬาฯ รุ่น 78 (คนที่ 4แถวผู้หญิงจากขวา -อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส)

การแปรอักษร มีขึ้นครั้งแรก ค.ศ.1910 ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ส่วนเชียร์ลีดเดอร์ในกีฬาเกิดขึ้นครั้งแรกราว ค.ศ.1860 ในอังกฤษ จากนั้นในปี ค.ศ.1869 อเมริกาก็รับวัฒนธรรมดังกล่าวไปอีกทอดหนึ่ง สำหรับเชียร์ลีดเดอร์ที่เป็นผู้หญิงได้รับความนิยมในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะผู้ชายต้องไปออกรบนั่นเอง

บรรยากาศงานบอลประเพณียุคแรก ขบวนรถนักศึกษา ม.วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ถ่ายจากสนามหลวงเข้าไปยังม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)

สำหรับการแปรอักษรในงานบอลประเพณี มีจุดเริ่มต้นจากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งใส่เสื้อสีกรมท่ามานั่งเชียร์เกาะกลุ่มเป็นรูปพระเกี้ยววางตั้งอยู่บนพาน และมีพื้นเป็นกองเชียร์จุฬาฯ ใส่เสื้อสีชมพู ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การแปรอักษรก็ได้มีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 18 เมื่อ พ.ศ. 2501 ได้มีการแปรอักษรเป็นคำว่า จุฬาฯ มธก.ภปร.ซียู และทียู และใส่เสื้อสีดำไว้ข้างใน แล้วใช้เปิดตัวอักษรเป็นตัวเขียน และให้ถอดเสื้อที่สวมข้างนอกออกเป็นจังหวะภายหลังพัฒนาจากการแปรเป็นตัว อักษรมาเป็นภาพจนถึงทุกวันนี้ และมีพัฒนาการมากขึ้นในทุกปี
ก่อนจะมาถึงประเด็นร้อนที่ยังไม่คลี่คลายใน พ.ศ.2564
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ’78 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2477-2555) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ’ , เวปไซต์สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเฟซบุ๊ก ‘อภินิหารตำนานจุฬาฯ’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image