‘เพศและวัฒนธรรม’ ตำราอมตะ มานุษยวิทยาไทย

ทันทีที่มีข่าวว่า “เพศและวัฒนธรรม” ตำราสุดอมตะด้านมานุษยวิทยาจะมีการพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 3 แวดวงวิชาการสายสังคมศาสตร์ พากันตอบรับเป็นที่ฮือฮา

นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่หลายรายระบุว่าเคยใช้เอกสารดังกล่าวอ้างอิงในผลงานบ่อยครั้ง ในขณะที่คนทำงานด้านมานุษยวิทยารุ่นกลางบอกว่าได้อ่านและใช้มาตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก

เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่มีคุณูปการต่อแวดวงการศึกษาจากรุ่นสู่รุ่นก็ว่าได้

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงโดย ปรานี วงษ์เทศ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา อดีตอาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร พยายามรวบรวมบทความที่เป็นทั้งแนวคิด ทฤษฎี และข้อมูลภาคสนาม ที่จะช่วยอธิบายถึงความแตกต่างของบทบาททางเพศของหญิงและชาย รวมทั้งรากเหง้าหรือที่มาของสถานภาพที่เป็นรองของผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกว่าไม่ได้เกิดจากผลพวงของความแตกต่างทางชีวภาพ แต่เป็นผลจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการจัดระเบียบทางสังคม

Advertisement

เดิมเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนในวิชาเพศและวัฒนธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2528 ทว่าด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาษาที่อ่านง่าย ได้อรรถรส ชี้ชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ไปพร้อมกัน จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้นในเวลาต่อมา ไม่ใช่เพียงตำราที่ใช้สอนในห้องเรียนเท่านั้น มีการตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ.2535 หรือ 24 ปีก่อน แล้วพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2544 โดยศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก มีลักษณะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กที่น่าสนใจตั้งแต่ปกที่ใช้ภาพกลุ่มชาติพันธุ์ดูแปลกตา

เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย 4 บท เริ่มจากการศึกษาเรื่องเพศทางมานุษยวิทยา ปัญหา แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง มีการตั้งคำถามสำคัญหลายประการ เช่น ความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายอยู่ที่อะไรกันแน่, เพศหญิงและเพศชาย คล้ายธรรมชาติกับวัฒนธรรมจริงหรือ บทต่อมาเล่าถึงฐานะ บทบาท สถานภาพ ความร่วมมือ ความขัดแย้งและพลังอำนาจทางเพศ จากนั้นเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวกับความเชื่อ และค่านิยมที่มีต่อพฤติกรรมและทัศนคติทางเพศ จัดว่าเป็นบทที่มีสีสัน เพราะเล่าถึงพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับการมีระดูทั้งศักดิ์สิทธิ์และน่ารังเกียจ พิธีขริบอวัยวะเพศของสตรี ตำนานหรือนิทานปรัมปราเรื่องการปกครอง และความลึกลับของเพศในหมู่บ้านกัวเตมาลา เป็นต้น

สุดท้าย เป็นบทที่เกี่ยวเนื่องกับผู้หญิงในสังคมไทย ที่ว่าด้วยผู้หญิงสยาม บทบาทและสถานภาพ ร่องรอยจากพิธีกรรมความเชื่อ

สำหรับการตีพิมพ์ครั้งที่ 3 จัดทำโดย สำนักพิมพ์นาตาแฮก เพิ่งออกจากแท่นเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำหน่ายเฉพาะในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Ituibooks ที่มาจากคำไทยๆ ว่า “ไอ้ทุย(บุ๊กส์)”

เมื่อเปิดหน้าคำนำของการพิมพ์ครั้งล่าสุด ศาสตราจารย์ปรานีได้เอื้อนเอ่ยผ่านตัวอักษรในหน้าคำนำตอนหนึ่งว่า

“ถ้าเชื่อว่าการยืนหยัดต่อหลักการของสิทธิมนุษยชนและการรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดต่อความเป็นไปได้ของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศแล้ว สังคมไทยคงยังต้องจมปลักอยู่ในกับดักและวังวนของปัญหาและความทุกข์ยากที่ถูกครอบงำจากผลิตผลของคนรุ่นก่อน และโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมของศตวรรษที่แล้วไปอีกนาน”

และหากย้อนไปพลิกคำนำจากการพิมพ์ครั้งที่ 2 นักมานุษยวิทยาท่านนี้ก็ได้ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า “โลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สงบสุขขึ้นหรือไม่ หากมนุษย์ทุกเพศไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้น วรรณะ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนาใด ยอมรับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง”

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ประเด็นสำคัญที่เน้นย้ำคือความเท่าเทียม

นักมานุษยวิทยาอาวุโสอย่าง ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึงกระแสความสนใจในผลงานชิ้นนี้ทั้งที่เป็นหนังสือวิชาการเต็มขั้น โดยมองว่าปัจจุบันสังคมสนใจเรื่อง “เพศสภาวะ” มากขึ้น เริ่มมีความเข้าใจว่าความเป็นหญิงหรือชายไม่ได้ถูกกำหนดจากชีวภาพ ทั้งยังมีความหลากหลาย ซับซ้อน

“เดี๋ยวนี้คนหันมาสนใจสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง สมัยก่อนประเด็นเพศสภาพ เพศสภาวะ ถูกมองเป็นเรื่องห่างตัว ตอนนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ผู้หญิงก็ไม่ได้ถูกคาดหวังให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ความเท่าเทียมมีมากขึ้น เหลื่อมล้ำน้อยลง มีบทบาททางการเมือง เข้าใจว่าแนวคิดแบบนี้เริ่มต้นหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม”

ศาสตราจารย์อาวุโสนอกจากเล่าว่าเคยอ่านหนังสือเล่มนี้มานานแล้ว ยังรำลึกอดีตถึงว่า หากไม่มี ปรานี วงษ์เทศ คณะโบราณคดีอาจยังไม่มีภาควิชามานุษยวิทยา และ ศรีศักร วัลลิโภดม อาจสอนอยู่ที่ ม.เชียงใหม่จนเกษียณอายุ เพราะผู้หญิงคนนี้คือผู้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาหลังเรียนจบจาก ม.คอร์แนล สหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นตนสอนอยู่ที่ ม.เชียงใหม่ แล้วได้รับการชักชวนให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะโบราณคดี

ด้าน ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ตอกย้ำถึงความสำคัญของผลงานชิ้นนี้โดยระบุว่าเพศและวัฒนธรรมเป็นหนังสือที่เก็บความจากงานเขียนของนักมานุษยวิทยาที่เปิดประเด็นเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงเป็นเล่มแรกๆ คือ Women, culture and society พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1974 มีบรรณาธิการหญิง 2 คน คือ หลุยส์ แลมเฟียร์ และมิเชล โรซัลโด ผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องสตรี นอกจากนี้ยังมีบทความที่ศาสตราจารย์ปรานีเขียนขึ้นเพิ่มเติม จึงนับเป็นตำราที่สำคัญมาก

“หนังสือเล่มนี้เป็นตำราที่สำคัญมากเกี่ยวกับการศึกษาทางมานุษยวิทยาเปรียบเทียบจากสังคมต่างๆ ทั่วโลก ตำราทางสังคมศาสตร์ในไทยขาดแคลนอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสตรีศึกษาในทางมานุษยวิทยายิ่งมีจำกัด แม้กระทั่งตอนนี้ยังมีคนทำน้อยมาก และไม่เด่น งานของอาจารย์ปรานีถือเป็นงานรุ่นบุกเบิก อีกทั้งยังคงเป็นงานที่โดดเด่นมาจนถึงปัจจุบัน”

ถามว่าบทความต่างๆ ในเล่ม โดยเฉพาะที่แปลจากภาษาอังกฤษซึ่งผ่านมานานหลายสิบปีล้าสมัยแล้วหรือไม่?

ผศ.ดร.ยุกติยอมรับว่าแนวคิดบางอย่างในเล่มโดยเฉพาะเรื่องที่ผู้หญิงทั่วโลกถูกกดขี่นั้น มีผลงานใหม่ๆ ที่ก้าวไปจากประเด็นนี้แล้ว กล่าวคือ ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกมีบทบาทค่อนข้างสูงหรือเท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้น ผู้หญิงไม่ได้ด้อยกว่าในทุกสังคม อย่างไรก็ตาม เพศและวัฒนธรรมยังคงเป็นหนังสือที่ต้องอ่าน เพื่อให้ทราบว่าแนวคิดช่วงบุกเบิกสตรีนิยมในโลกวิชาการเป็นอย่างไร

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของตำราระดับตำนานของวงวิชาการไทย ที่ย้ำชัดว่าทั้งเพศและวัฒนธรรมล้วนเป็นอำนาจครอบงำที่มนุษย์ไม่อาจหลีกพ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image