มติชนพาทัวร์ พช.พระนคร ผอ.สำนักฯ เปิดเบื้องหลังรีโนเวท พัฒนาตามโลกแต่ไม่ทิ้งจุดยืน

ศูนย์ข้อมูลมติชนพาทัวร์ โฉมใหม่ พช.พระนคร ผอ.สำนักพิพิธภัณฑ์เปิดเบื้องหลังรีโนเวท ยันพัฒนาตามโลกสากล ไม่ปฏิเสธจุดยืนตัวเอง เน้น ‘ชิ้นเอก’-สื่อสารมากขึ้น

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร กรุงเทพฯ ศูนย์ข้อมูลมติชน ร่วมกับมติชนอคาเดมี และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดกิจกรรม ‘เที่ยวพิพิธภัณฑ์วัดคริสต์มาส ยลโฉมใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ วิทยากรได้แก่ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และรศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนร่วมกิจกรรมล่วงหน้าเป็นจำนวนมากภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19

เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พช.พระนคร นายอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รอง ผอ.ศูนย์ข้อมูลมติชน กล่าวเปิดกิจกรรม จากนั้น นางสาวนิตยา กนกมงคล ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวถึงการปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครครั้งล่าสุด

นางสาวนิตยากล่าวว่า พิพิธภัณฑ์เมืองไทย โดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.)มีแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลทั่วโลก เพราะเป็นองค์ความรู้สากล พัฒนาการ พช.ไทย ก็เป็นไปตามแบบสากล จากยุคแรกที่มาจากการสะสมสิ่งของหายากมาวางอวดกัน ซึ่งเป็นที่มาของรูปลักษณ์การจัดแสดงในอดีต บริติชมิวเซียม ที่อังกฤษ และพิพิธภัณฑ์ลูฟท์ ที่ฝรั่งเศส คนก็เข้าไปชมโบราณวัตถุเช่นกัน

Advertisement

แต่เมื่อถึงยุคหนึ่ง มีการเรียนรู้มากขึ้น คนอาจรู้สึกว่าบรรยากาศเหมือนห้องเก็บของ จึงไม่อยากมา โดยเฉพาะ 20 ปีที่ผ่านมา คำพูดในลักษณะนี้เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก

นิตยา กนกมงคล ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

“กระแสในช่วง 20 ปีหลัง มีการพูดถึงพิพิธภัณฑ์ในแง่แหล่งความรู้มากขึ้น ในต่างประเทศมีพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้มากขึ้น เน้นเนื้อหาและมัลติมีเดีย โดยส่วนใหญ่พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเช่นนี้มักเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับในไทย ก็คิดกันมาเกือบ 20 ปีแล้วว่าต้องปรับปรุงตัวเอง ถามว่าจะเอาโบราณวัตถุออก แล้วใส่มัลติมีเดียเลยหรือไม่ แต่ในเมื่อต่างชาติไม่ได้อยากดูมัลติมีเดีย อยากดูมาสเตอร์พีซ (ของชิ้นเอก) มาดูความเป็นอารยธรรมของคนไทย แต่คนไทยอาจไม่ได้รู้สึกเหมือนต่างชาติ กรมศิลปากรจึงนำมาผสมผสานกัน เราไม่ปฏิเสธจุดยืนตัวเอง คือการจัดแสดงคอลเลคชั่นมาสเตอร์พีซ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การไม่ปรับตัวเอง แต่เลือกปรับในลักษณะการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ศิลปะ อย่างไรก็เน้นศิลปะ อาจเน้นการสื่อสาร แต่ไม่ได้สื่อสารผ่านปุ่มกด แต่สื่อสารผ่านการจัดวางคอลเลคชั่นให้เห็นควาทสวยงามในแง่สุนทรียะว่าคนในอดีตสามารถสร้างงานได้สวยขนาดไหน” นางสาวนิตยากล่าว

นางสาวนิตยากล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครสื่อสารมากขึ้นผ่านการจัดวาง โดยพยายามออกแบบจัดวางแบบ 360 องศา ลดจำนวนโบราณวัตถุลง ขับเน้นด้วยแสงที่เป็นมิตร ไม่มีความร้อนและรังสีที่มีผลกระทบต่อโบราณวัตถุ เราไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ไม่ได้เลือกมาเป็นไฮไลต์ เป็นเพียงการนำมาเติมเต็ม เพราะผู้ชมมีหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ และคนทั่วไป

Advertisement

“ในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่เล่าประวัติศาสตร์ โบราณคดี งานศิลปะภาพรวมทั้งประเทศ พช.พระนคร จึงเป็น พช.แห่งแรกที่นำร่อง นำแนวทางนี้พัฒนาพช.ในส่วนภูมิภาคต่อไป ตอนนี้พช.พระนครยังพัฒนาการจัดแสดงได้ 90 เปอร์เซนต์ ยังไม่ครบ ที่จะพัฒนาต่อไปคือโรงราชรถ สำหรับโบราณวัตถุบางส่วนถูกนำไปจัดแสดงในพช.ส่วนภูมิภาค เช่น พช.เจ้าสามพระยา, พช.พระปฐมเจดีย์ , พช. บ้านเก่า. พช. บ้านเชียง เป็นต้น โดยในภาพรวมวางไว้ว่า พช. จะทำหน้าที่เชื่อมเรื่องราวทุกยุค ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเดินมาทางชมก็จะเห็นภาพรวม โดยพช.ทั่วประเทศมี 41 แห่งที่อยากแนะนำให้ไปชม” นางสาวนิตยากล่าว

จากนั้น ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และรศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล นำชมห้องต่างๆในอาคารมหาสุรสิงหนาถ ซึ่งจัดแสดงศิลปะเอเชีย , เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมทวารวดี ตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image