สุจิตต์ วงษ์เทศ : อาหารไทย อร่อย ได้เทคโนโลยีจากจีน

กลุ่มกองโลหะขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นกระทะ ตั้งอยู่ติดกองงาช้าง พร้อมแท่งเหล็กและเครื่องสังคโลก ฯลฯ พบในแหล่งเรือจมเกาะคราม จากการขุดค้นปี พ.ศ. 2547 [รูปจากหนังสือมรดกใต้ท้องทะเลไทย โดย เอิบเปรม วัชรางกูร กับ วรวิทย์ หัศภาค สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2554]

อาหารไทยมาจากการประสมประสานอาหารในชีวิตประจำวันของคนอุษาคเนย์กับอาหารนานาชาติทั้งใกล้และไกล เช่น อาหารจีน ฯลฯ

ที่ได้จากจีนมีอาหารหลายอย่าง แต่ลักษณะสำคัญอยู่ที่ต้มแกงน้ำใส เช่น ต้มจืด, แกงจืด นอกนั้นเป็นนึ่งและผัด คงมีก่อนยุคอยุธยา แต่มากขึ้นยุคต้นยุคอยุธยา

เครื่องมือสำคัญใช้ทำอาหารได้จากจีน คือกระทะเหล็ก ส่วนวัตถุดิบจากจีนคือผักต่างๆ เช่น ผักกาด, ผักคะน้า, ฯลฯ
กระทะเหล็กเป็นเทคโนโลยีทำอาหารทันสมัยของจีน ที่ก้าวหน้าและเก่าแก่มาก ทำด้วยเหล็กเป็นแผ่นกลม มีขอบหนา มี 2 หู แล้วมีก้นลึกเป็นแอ่งบางกว่าขอบ เพื่อรับความร้อนจากไฟ
พบหลักฐานเก่าสุดเป็นซากโลหะซ้อนกันอยู่ในสำเภาจมใกล้เกาะคราม (อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี) ยุคต้นอยุธยา มีอายุราวเรือน พ.ศ. 1900 ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเดินทางข้ามสมุทรของเจิ้งเหอ แม่ทัพขันทีที่ได้รับยกย่องเป็นซำปอกง

จีนอุดหนุนเจ้านครอินทร์แห่งรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ยกกำลังยึดครองอยุธยา โดยให้เจิ้งเหอยกขบวนสำเภาผ่านเข้าไปในอ่าวไทย เพื่อกดดันทางการเมืองอีกแรงหนึ่ง ส่งผลให้เจ้านครอินทร์ได้เสวยราชย์ที่อยุธยาระหว่าง พ.ศ. 1952-1967

Advertisement

เจ้านครอินทร์ใกล้ชิดกับราชสำนักจีนอย่างยิ่ง คือพระร่วงไปเมืองจีน (ตามตำนาน)

ทางราชสำนักจีนก็ถือว่าดินแดนแถบนี้อยู่ในอาณัติของจีน เพื่อประโยชน์ทางการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image