“อายัม กำปุง” ไก่พื้นบ้านคู่ครัวพื้นเมือง

“ไก่พื้นบ้าน” เรียกกันในภาษามาเลย์-อินโดนีเซียว่า “ayam kampong” หรือ “ayam kampung” เป็นสัตว์เลี้ยงคู่ครัวของคนพื้นถิ่นในย่านอุษาคเนย์นี้มานมนาน หากขึ้นไปถึงขนาดไหนใครสืบได้วานช่วยให้ความกระจ่าง

วิธีทำไก่พื้นบ้านให้อร่อยปากในแถบนี้ไม่มีใครเกินพวกทะเลใต้ ด้วยการนำไก่บ้านรุ่นกระทง ทั้งหนุ่มและสาว เนื้อหนังเส้นเอ็นยังไม่เหนียวหนืดจนเกินแกง คลุกเคล้าเครื่องเทศพื้นถิ่นติดหวานกำลังพอดี และห้ามใส่เครื่องแป้งแบบของตาลุงผู้พันเป็นอันขาด ลงทอดในกระทะน้ำมันร้อนๆ จนหนังนอกกรอบนุ่มออกน้ำตาลเกือบไหม้ ตักขึ้นใส่จานขนาดกำลังอวบอั๋นพอดีคำ กัดเคี้ยวเนื้อหนุบกล้ามเนื้อกระทบกระดูกไปพร้อมกัน

คำว่า “อายัม” หรือ “ayam” ที่แปลว่าไก่เฉยๆ ของทางมาเลย์-อินโดนีเซียนี้ พวกฟอร์โมซ่าไต้หวันเรียกใช้ต่างออกไปหมายถึงสัตว์จำพวกนก ซึ่ง Laurent Sagart ได้เขียนตีความเป็นมาไว้ใน “The Higher Phylogeny of Austronesian and the Position of Tai-Kadai” ปี 2004 ว่า คำว่า “*manuk” หดหายไปจากเกาะไต้หวันและไปผุดโผล่ในคำเรียกสัตว์ปีกจำพวกนกของพวกไท-กะได และยังคงอยู่ในคำพูดซึ่งเป็นได้ทั้งนกและไก่ของพวกมาเลย์-อินโดนีเซีย ในขณะที่คำว่า “*qayam” ของพวกฟอร์โมซ่าได้ละทิ้งความหมายของไก่และคงสืบสานเฉพาะความเป็นนกไว้เท่านั้นจนถึงปัจจุบัน

 

Advertisement

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image