‘อายัม-ย่ำรอยตีน’ ความสัมพันธ์ของ ‘คำไท’ และไก่อินโด

“ไก่พื้นบ้าน” เรียกกันในภาษามาเลย์-อินโดนีเซียว่า “ayam kampong” หรือ “ayam kampung” คำว่า “อายัม” หรือ “ayam” ที่แปลว่าไก่เฉยๆ ของทางมาเลย์-อินโดนีเซียนี้ พวกฟอร์โมซ่าไต้หวันเรียกใช้ต่างออกไปหมายถึงสัตว์จำพวกนก
ถ้าค้นคำในภาษาอินโดนีเซีย จะพบคำเดิมที่ไม่ได้หยิบยืมและให้ความหมายโดดเด่นอยู่สองคำ คือ

คำว่า “anyam อ่านว่า อันยัม” คำนี้มีความหมายจากการกระทำสองอย่างคือ “tindih-menindih อ่านว่า ตินดิฮ์-เมอนินดิฮ์” แปลว่า การซ้อนทับ และ “silang-menyilang อ่านว่า ซิลัง-เมินยิลัง” แปลว่า การไขว้ไปมา ดังนั้นจึงสามารถออกความหมายได้ในทำนอง ซ้อนทับไขว้กันไปมา หรือสอดประสานถักทอ เช่น การถักข้าวต้มมัด “ketupat อ่านว่า เกอตูปั้ต” หรือการถักทางมะพร้าว หรือการถักปลาตะเพียนของบ้านเรา หรือการถักทอเส้นผมไปจนถึงเสื้อผ้าก็ใช้ได้

คำว่า “sampai อ่านว่า ซัมปาย” แปลว่าถึงที่หมายปลายทางแล้ว ทำสำเร็จ พอแล้ว ในช่วงเวลา ช่วงขณะ ผ่านไปถึง ถึงขอบเขตอะไรบางอย่าง หรือทำนองการบอกระยะทิศทาง ซึ่งในหลายๆ ท้องที่ชาวบ้านร้านถิ่นมักจะพูดกันด้วยสำเนียงใกล้เคียงว่า “yampai อ่านว่า ยำปาย” โดยไม่มีเสียง “ซ” ขึ้นต้นให้ได้ยินแม้แต่น้อย หรือเติมคำหน้าว่า “menyampai อ่านว่า เมินยำปาย” ก็แปลว่าส่งไปสื่อไปให้ถึง เป็นต้น

ถ้าหารากความหมายเชิงนามธรรมร่วมกันของคำว่า “yam” จากคำสองคำข้างต้น ก็อาจจะออกได้ว่าเป็น บางสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งเคลื่อนไหวไปมา บางสิ่งที่มีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า บางสิ่งมีทิศทาง มีจุดตั้งต้นและจุดสิ้นสุด จากสิ่งหนึ่งสื่อไปถึงอีกสิ่ง ซึ่งความหมายเชิงนามธรรมนี้สื่อถึงรูปธรรมอะไรได้บ้าง เช่น การเดินของผู้คนและฝูงสัตว์

Advertisement

เมื่อเราออกเดินไปข้างหน้า สิ่งที่ทิ้งไว้เบื้องหลังตามเส้นทางที่ผ่านมาก็คือ “รอยตีน” หรือ footprint ในภาษาอังกฤษ หากหันไปมองผ่านดงทากและคงโคลนชื้นแฉะกลางป่าดิบฉ่ำฝน ก็คงเห็นรอยเหยียบย่ำเป็นรายทางเหยียดยาว ในลักษณะที่ไขว้กันไปและไขว้กันมาของตีนข้างซ้ายและตีนข้างขวา ในอาการแบบเดียวกับความหมายเชิงนามธรรมของคำว่า “yam” จากกริยา “anyam” ไขว่ป่ายซ้อนทับกันไปมา และ “sampai” เดินย่ำกับสองตีนจนถึงจุดหมายปลายทาง

และเมื่อคิดถึงฝูงสัตว์เวลาออกเดินก็ยิ่งเห็นความหมายของคำว่า “yam” ที่ย้ำย่ำรอยกันไปมาจนไม่รู้ว่าเป็นของสัตว์ตัวไหน รวมเลยไปถึงรอยตีนของสัตว์ปีกที่ขี้เกียจใช้ปีก แต่ชอบหากินกับการใช้ขาเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามผิวดิน เดินย่ำย้ำกันไปมาเป็นรายทางตลอดทั้งวัน พร้อมก้อนขี้กองเล็กกองน้อยที่ปลดปล่อยตลอดเส้นทาง เป็นรอยย่ำของสัตว์ปีกสัตว์ป่าที่อาจเรียกกันมาแต่เดิมว่า “ayam” หรือ “*qayam” คำหลังที่เขาสืบสร้างว่าเก่าจนแก่ ทะลุเข้ามาถึงยุคที่จับต้อนเข้ามาเลี้ยงในคอกเล้าก้นครัว เพื่อง่ายต่อการประกอบหารับประทาน โดยไม่ต้องวิ่งวุ่นไล่ล่ารอยตีนวนเวียนให้งุนงงในทุ่งกว้างป่าใหญ่

มีข้อสังเกตอยากขอตั้งไว้ว่า คำว่า “yam” นี้ยังเป็นคำเดียวกับคำว่า “ย่ำ” ตีน ขยายมาถึง “ย้ำ” ของบรรดาพี่น้องผู้ไทแผ่นดินเหนือแห่งไท-กะไดอีกด้วย

Advertisement

คำว่า “อายัม”, “ayam” หรือ “*qayam” ถึงแม้จะยังไม่สามารถถอดความหมายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในคำต้น “a” หรือ “*qa” ว่ามาจากไหนกันแน่ แต่ก็คงไม่หนีไปไกลกว่าคำว่า “การย่ำไปย่ำมา” ซึ่งถ้าให้ตีความแบบคาดเดาก็ขอเดาว่ามาจากคำว่า “*qaqay” ที่แปลว่าขาและตีนของพวก Proto-Austronesian และในแบบนั้นก็จะแปลความหมายของสัตว์ปีกชนิดนี้ว่า “สัตว์ที่ชอบใช้ขาย่ำไปย่ำมาบนผิวดินมากกว่าพวกอื่นๆ”

 

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image