เสวนา “พลังหญิง-แม่-เมีย” คึกคัก นักวิชาการชี้ สตรีเป็นใหญ่ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

สุจิตต์ วงษ์เทศ และวงปู บุญสร้าง เรืองนนท์

วันที่ 18 ธ.ค. เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพ ฯ มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี : ความจริงและภาพแทน” โดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับ โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ.สถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมกการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ในเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สพฐ. ตกเป็นจำเลยทุกเวทีว่าแบบเรียนเก่า ล้าสมัย ยังมีความเข้าใจว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ซึ่งครูผู้สอนไม่รู้ เนื่องจากข้อมูลและข้อสรุปที่เกิดจากความรู้ใหม่อยู่กับอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการ ไม่ได้เชื่อมกับแบบเรียนในโรงเรียน ตนจึงพยายามเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกให้มีการเปลี่ยนแปลง

“ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การจดจำข้อมูลมากมาย แต่เป็นการทำให้ได้คิด เป็นปัญญาชน สพฐ. จึงทำงานร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ งานเสวนาครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาร่วมเรียนรู้เนื้อหาประเด็นใหม่ๆ อย่าให้การศึกษาเป็นเรื่องของโรงเรียนกับกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะเรียนรู้ และตั้งคำถาม” ดร.เฉลิมชัยกล่าว

ต่อมาเป็นส่วนของการเสวนา โดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวในหัวข้อ “พลังนางนาค จากท้องแม่ สู่ท้องเมฆ” ว่า ในวัฒนธรรมและพิธีกรรมในศาสนาผี ผู้หญิงมีอำนาจเหนือผู้ชาย เริ่มตั้งแต่มีมนุษย์ในโลกจนถึงปัจจุบัน สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ผีบรรพชน ก็เป็นผู้หญิง เป็นผีมีคุณ ช่วยคุ้มครองคนเป็น ส่วนผีผู้ชายมาทีหลัง เป็นผีฝรั่ง ได้แนวคิดจากตะวันตก ผีบรรพชนเพศหญิงในอุษาคเน์มีหลายชื่อ หนึ่งในนั้นคือ “นางนาค” เป็นผีดั้งเดิมโดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง ปรากฏหลักฐานในนิทานเขมร ซึ่งตัวละครหลักได้แก่ นางนาคและพระทอง เมื่อแต่งงานกัน พระทองต้องเกาะชายสไบนางนาคเพื่อเข้าหอ สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงเป็นใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีเพลงนางนาค ซึ่งใช้ในพิธีกรรมทำขวัญ มีในประชุมมโหรียุคอยุธยา ผีบรรพชนอีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักคือ “แม่สรี” ซึ่งต้องสะกดด้วย ส ไม่ใช้ ศ เพราะมาจากภาษาเขมร แปลว่า สตรี โดยเป็นผีตนเดียวกับนางนาคนั่นเอง แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ

Advertisement

“ผู้หญิงเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมและพิธีกรรมมาตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลก คำว่า เมียและแม่ ก็แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ในอุษาคเนย์ อย่าทำละครผีผู้ชาย ไม่มีคนดู เพราะผีที่อยู่ในความทรงจำและวัฒนธรรมคือผีผู้หญิง เป็นผีบรรพชน มีคุณ คุ้มครองคน ส่วนผีชาย เป็นผีฝรั่ง คนไม่อิน ผีบรรพชนมีหลายชื่อ เช่น นางนาค ซึ่งเป็นชื่อเพลงด้วย โดยใช้ทำขวัญทุกชนิดในภาคกลาง รับแบบแผนมาจากเขมรอีกที นางนาคเป็นผีบรรพชนเขมร แต่งงานกับพระทอง มีนิทานอีกยาว เนื้อร้องเกี่ยวกับนางนาค มีในประชุมมโหรียุคอยุธยา ปัจจุบันไทยยังใช้ทำนองเพลงนางนาคเวลาเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ผีอีกชื่อหนึ่งที่คนรู้จักดี คือแม่สรี แต่ไม่รู้ว่าเป็นตนเดียวกับนางนาค” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์ยังกล่าวอีกว่า คนไทยนับถือศาสนาไทย ซึ่งผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาผีที่มีรากฐานแข็งแรง หลักฐานสำคัญคือพิธีบวชนาค แห่นาคที่ไม่มีในอินเดียและลังกา

ทั้งนี้ ระหว่างการบรรยายของนายสุจิตต์ มีการบรรเลงเพลงปี่พาทย์นางหงส์ และเพลงอื่นๆ โดยวงปู บุญสร้าง เรืองนนท์ จากกรมศิลปากร

Advertisement
วงปี่พาทย์นางหงส์.
วงปี่พาทย์นางหงส์.

ต่อมา เป็นการบรรยายในหัวข้อ “ก่อนผู้ชายเป็นใหญ่ ก่อนผู้ชายเป็นเทพ” วิทยากรได้แก่ รศ.ดร. รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร , อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร เป็นต้น โดยมี ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ

รศ.ดร.รัศมี กล่าวถึงประเด็น “ผู้หญิงจากหลักฐานทางโบราณคดี” หลักฐานผู้หญิงคนแรกของโลกอายุ 3 ล้านกว่าปีชื่อ “ลูซี่” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์มนุษย์ นอกจากนี้ยังพบรอยเท้าในแทนซาเนีย ซึ่งมีการลงน้ำหนักบนพื้นไม่เท่ากัน จึงสันนิษฐานว่ากำลังอุ้มลูก ในยุคต่อมาราว 3-4 แสนปีมาแล้ว พบเชิงกรานมนุษย์นีแอนเดอทัลที่แสดงว่าการคลอดบุตรของผู้หญิงยุคแรกเริ่มเป็นเรื่องยากมาก และมีระยะเวลาตั้งครรภ์นานกว่า 9 เดือน ต่อมาในยุคหินใหม่ ซึ่งมนุษย์ตั้งถิ่นฐานถาวร มีการพบประติมากรรมรูปผู้หญิงในรูปร่างที่สมบูรณ์ สะท้อนระบบความเชื่อเมื่อราว 2-3 หมื่นปีมาแล้วว่าเป็นเทพสตรีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ต่างจากปัจจุบันซึ่งความสวยงามคือรูปร่างผอม หลักฐานโบราณคดีทั่วโลกพบว่าประติมากรรมมีการทำเป็นรูปผู้หญิงก่อนผู้ชาย ความผูกพันระหว่างแม่ลูก คือสิ่งที่เป็นสากล ในไต้หวัน พบโครงกระดูกแม่ลูกนอนเสียชีวิตคู่กันเมื่อราว 4,800 ปีมาแล้ว ในเมืองปอมเปอี ประเทศอิตาลี พบแม่ลูกนอนกอดกันเสียชีวิตเมื่อภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิด

“หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในไทยได้รับการยกย่องในฐานะแม่และเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีการแบ่งงานในสังคม โดยเฉพาะสังคมกสิกรรม มีความเท่าเทียมกับผู้ชาย และบางสังคมมีสถานภาพสูงกว่า เช่น ในแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จ.ชลบุรี ซึ่งโครงกระดูกบางโครงมีการฝังลูกปัดนับแสนเม็ดลงไปพร้อมศพ โดยเชื่อว่าผู้หญิงเป็นผู้ปั้นหม้อ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจสำคัญ ส่วนค่าเฉลี่ยของอายุไม่เกิน 50 ปี หลักฐานจากแหล่งโบราณคดีโนนอุโลก ซึ่งร่วมสมัยกับบ้านเชียง พบว่าผู้หญิงเป็นวัณโรค และโลหิตจาง แต่ปัญหาสำคัญมากคือโรคฟัน เช่น ฟันผุ ฟันหลอ ฟันสึกอย่างรุนแรง ” รศ.ดร.รัศมีกล่าว

อ. คมกฤช กล่าวว่า คนอินเดียนับถือเทวีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เดิมใช้คำศัพท์ที่มีความหมายว่า “แม่” ความเชื่อเรื่องเทวีโบราณปรากฎในศาสนสถานจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคใต้ของอินเดีย แม้แต่ในสัญลักษณ์พื้นๆอย่างการนำสีแดงมาเจิมหน้าผาก ซึ่งเชื่อว่าแสดงถึงเลือด หรือประจำเดือน ซึ่งคนโบราณถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่มี จะไม่สามารถเป็น “แม่” ได้

“ความคิดเรื่องประจำเดือนเป็นของน่าเกลียด เข้าใจว่าเป็นความคิดแบบผู้ชายมากๆ ในศาสนาพื้นบ้าน อย่างตันตระ เดิมเป็นศาสนาแบบผู้หญิง คือ ไม่รังเกียจเรื่องเพศ เพราะนำไปสู่การเกิด อันเป็นความอุดมสมบูรณ์ เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ศาสนาแบบผู้ชาย มองเรื่องเพศเป็นกิเลส ในวัดเจ้าแม่แห่งหนึ่ง มีประธานเป็นอวัยวะเพศหญิงที่เป็นหินตามธรรมชาติ การเป็นแม่นับเป็นสภาวะที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในอินเดียโบราณ มีสถานะเดียวกับพระเป็นเจ้าคือ ให้กำเนิดได้ ปัจจุบัน การเป็นเจ้าสาวยังถือเป็นสภาวะที่ศักดิ์สิทธิ์ คุณได้เป็นเทพ 1 วันในวันแต่งงาน” อ.คมกฤชกล่าว

คมกฤช. อุ่ยเต็กเค่ง และรัศมี. ชูทรงเดช
คมกฤช. อุ่ยเต็กเค่ง และรัศมี. ชูทรงเดช
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image