“เที่ยวปราสาทเมืองเก่าเล่าเรื่องนาคี” ฟังเรื่องนาค…กับตำนานการเกิดรัฐในอุษาคเนย์

“นาค” ในตำนานพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่สำคัญและน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานทางวัฒนธรรมอินเดียกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ตำนานการเกิดขึ้นของอาณาจักรฟูนัน (ฝูหนาน) ซึ่งมีหลักฐานการเล่าขานสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันในชื่อเรื่องว่า “พระทอง – นางนาค”

ตำนานพระทอง – นางนาค ที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตกล่าวว่า พราหมณ์โกณฑินยะผู้ได้รับหอกจากพราหมณ์อัศวัตถามันบุตรแห่งพราหมณ์โทรณะ ได้พุ่งหอกไปเพื่อสร้างราชธานี ต่อจากนั้นจึงได้สมรสกับธิดาพญานาคนามว่า โสมา และได้สืบเชื้อวงศ์ต่อมา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ส่วนบันทึกของราชทูตชาวจีนที่เข้ามายังอาณาจักรฟูนัน ได้กล่าวถึงตำนานเรื่องนี้ไว้ว่า พราหมณ์อินเดียผู้หนึ่งชื่อว่าโกณฑิญญะ หรือ เกาฑินยะ ฝันว่า มีเทวดาองค์หนึ่งนำเกาทัณฑ์มาให้ พราหมณ์ผู้นั้นจึงลงเรือสำเภาออกสู่ทะเล ตอนเช้าพราหมณ์ผู้นั้นได้ไปยังศาสนสถานแห่งหนึ่ง ไปพบเกาทัณฑ์ดังความฝันจึงเดินทางโดยทางทะเลและได้มาถึงเมืองฝูหนาน เมื่อราชินีเลี่ยวหยีเห็นจึงต้องการแย่งชิงสำเภานั้นมาเป็นของตน โกณฑิญญะจึงยิงเกาทัณฑ์ต่อสู้ นางเลี่ยวหยียอมแพ้ โกณฑิญญะจึงได้ครองฝูหนานและได้นางเลี่ยวหยีเป็นมเหสี

ตำนานดังกล่าวได้มีการเล่าขานสืบมา กลายเป็นตำนานพระทอง – นางนาค ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านกัมพูชาที่ปรากฏในประวัติศาสตร์เขมร และต่อมาพระองค์นพรัตน์ได้นำมาเชื่อมไว้ในต้นราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ความว่า

Advertisement

มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าอาทิจจวงศ์ ครองราชอินทบัติบุรีศรีมหานครอุดรภาค ทรงมีพระราชบุตร ๕ พระองค์ พระราชบุตรองค์กลางทรงพระนามว่า พระทอง ในเวลาต่อมาพระเจ้าอาทิจจวงศ์ทรงพระพิโรธแก่พระทอง แล้วทรงตรัสสั่งพระอนุชาให้จับพระทองและข้าราชบริพารทั้งบุรุษและสตรีลอยแพไปจากพระนคร แพนั้นลอยมาตามฝั่งทะเลซึ่งเป็นดินแดนของพระเจ้าอัศจรรย์ราช

นาค - ปราสาทเขาพนมรุ้ง - 1

วันหนึ่งพระทองเสด็จทรงม้าประพาสพระนครพร้อมทั้งพระราชบริพารตามฝั่งทะเล ทรงทอดพระเนตรเห็นทางราบเสมอดีใต้ต้นโธลกใหญ่ต้นหนึ่งจึงเสด็จเข้าไปพักผ่อนในที่นั้น ต่อมาน้ำทะเลก็ขึ้นท่วมที่ประพาส พระองค์เสด็จกลับไม่ได้จึงประทับในที่นั้นจนเวลาราตรี

Advertisement

เพลานั้นนางนาคซึ่งเป็นพระราชบุตรีของพญานาคราช พร้อมด้วยบริพารซึ่งเป็นนางเทพอัปสรกัลยาขึ้นมาพักผ่อนบนหาดทรายตามปรกติบริเวณต้นโธลก ซึ่งพระทองประทับอยู่นั้น เมื่อพระทองเห็นนางนาคมีรูปโฉมงดงามก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ แล้วขอร่วมไมตรีกับนางนาค พระนางมีความเสน่หาพระทองจึงตรัสตอบว่าขอให้ทรงคอยอยู่ ๗ วัน และขอให้ทรงเตรียมเครื่องบรรณาการนำมาวางไว้ในที่นี้ เพื่อจะถวายพระราชบิดาก็คงจะได้สำเร็จดังพระทัยปรารถนา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นางนาคทูลเสร็จแล้วจึงกราบลากลับลงไปนาคพิภพ แล้วจึงเข้าไปกราบทูลพระวรราชบิดามารดา ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าภุชงคนาคราชทรงฟังแล้วก็ทรงเห็นพร้อมยอมตามพระทัยของพระราชบุตรี เมื่อครบ ๗ วัน พระองค์ก็ทรงแทรกแผ่นดินขึ้นมากับพระมเหสีและพระราชวงศานุวงศ์ และโยธาข้าราชบริพาร มาประทับที่ลานเกาะโคกโธฺลก พระองค์ทรงมีพระทัยโสมนัสยินดีในพระทองพร้อมทั้งยกพระราชบุตรีให้เป็นพระมเหสี

พระองค์ทรงแสดงฤทธานุภาพสูบน้ำมหาสมุทรตรงสถานที่นั้นเพื่อเนรมิตพระนครให้พระทองและพระราชบุตรีให้ครองราชย์ในพระนครโคกโธฺลก พระองค์ทรงถวายพระนามพระชามาดาว่า พระบาทสมเด็จพระเทววงศ์อัศจรรย์ พระราชบุรีทรงพระนาม ธาราราชวคีบรมบพิตร พระนามนครโคกโธฺลกว่า กรุงกัมพูชา ตามเหตุที่เมืองนั้นเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของพระเจ้าภุชงคนาคราช

ตามเรื่องราวในนิทานนี้พระเจ้าเทววงศ์อัศจรรย์ (พระทอง) เป็นปฐมกษัตริย์เขมรของพระราชวงศ์พระองค์แรกในกรุงกัมพูชาตั้งแต่เวลานั้นมา

ตามเอกสารจีนและศิลาจารึกเขมร ทำให้ทราบว่า มีการแต่งงานกันระหว่างพราหมณ์อินเดียชื่อ โกณฑินยะ (โกณฑัญญะ) และนางเมรา หรือโสมา ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑ กล่าวคือระหว่างกษัตริย์อินเดียและแม่ทัพหญิงเขมรคือนางนาค ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรฟูนัน

ปราสาทเขาพนมรุ้ง

ชาวกัมพูชาเชื่อว่า ประเพณีการแต่งงานเขมรนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องจากพระทองและนางนาค และเนื่องจากในตำนานนั้นพระทองไม่สามารถที่จะตามนางนาคไปยังนครของนางได้ พระทองจึงต้องจับชายสไบตามนางไป  เวลาแต่งงานนักดนตรีก็จะบรรเลงเพลง “พระทอง” และเพลง “นางนาค” เจ้าบ่าวก็ต้องจับชายสไบตามเจ้าสาวเข้าห้องหอ เหมือนกับพระทอง – นางนาค สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ความเชื่อเกี่ยวกับนาคในกัมพูชาสืบเนื่องต่อมาจนถึงปลายสมัยพระนคร เมื่อโจวต๋ากวาน ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในเมืองพระนครของกัมพูชาบันทึกไว้ว่า ทุกคืนพระมหากษัตริย์ของกัมพูชาต้องไปบรรทมกับนางนาค ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ปราสาททองคำภายในพระราชวังนั้น…พวกชาวเมืองพากันกล่าวว่า ในปราสาทนั้นมีภูติงูเก้าศีรษะ ซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ทั่วทั้งประเทศ ภูติตนนี้เป็นร่างของสตรี และจะปรากฏกายทุกคืน พระเจ้าแผ่นดินจะเข้าที่บรรทมและทรงร่วมสมพาสด้วยก่อน…ถ้าราตรีใดภูติตนนี้ไม่ปรากฏกาย ก็หมายความว่าเวลาสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินชาวป่าเถื่อนพระองค์นั้นใกล้มาถึงแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนมิได้เสด็จไปเพียงราตรีเดียวก็ต้องทรงได้รับภัยอันตราย…”

ในพระราชพงศาวดารกัมพูชายุคหลังที่แต่งขึ้นในยุคร่วมสมัยกับกรุงรัตนโกสินทร์ ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เมืองพระนครล่มสลายว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กัมพูชากับนาค

นางนาคสู้กับกองทัพโกณฑินยะอินเดีย

ที่มา นาค

เรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กัมพูชาพระนามว่า “พระเจ้ากรุงพาล” กับพญานาค เนื่องจากกษัตริย์พระองค์นั้นไม่ยอมส่งเครื่องบรรณาการแก่พญานาค พญานาคจึงยกทัพขึ้นมารบกับ พญานาคแพ้ถูกพระเจ้ากรุงพาลตัดศีรษะ โลหิตพญานาคไปต้องพระองค์พระเจ้ากรุงพาลเกิดเป็นโรคเรื้อน

ส่วนราชพงษาวดารกรุงกัมพูชากล่าวว่า กษัตริย์กัมพูชาเห็นว่า บรรดาขุนนางนาคที่ทำราชการกับพระองค์ไม่อ่อนน้อมเกรงกลัวต่อพระเดชานุภาพก็ทรงพระพิโรธ เสด็จเข้าไปจะประหารชีวิต ฝ่ายมนตรีนาคหลบทัน แล้วพ่นโลหิตถูกกษัตริย์กัมพูชาจนประชวรเป็นโรคเรื้อน ส่วนนาคก็มิได้ไปมาหาสู่กับมนุษย์อีกเลย

ร่วมเดินทางฟังเรื่อง นาค ในประวัติศาสตร์เขมร ได้ ในทัวร์ “เที่ยวปราสาทเมืองเก่า  เล่าเรื่องนาคี” จ.นครราชสีมา – บุรีรัมย์ – สุรินทร์ ในวันที่ 20-22 มกราคม 2560  พร้อมร่วมทริปกับวิทยากรพิเศษ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ

Ad-ทัวร์นาคี 

สำรองที่นั่ง หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (02) 954-3977-85 ต่อ 2123, 2124 จันทร์-ศุกร์ (082) 993-9097, (082) 993-9105 เสาร์-อาทิตย์ หรือที่ http://www.matichonacademy.com และhttp://www.facebook.com/Matichon.Academy.Thailand

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image