นักโบราณคดีแจง มือบอนเขียนทับภาพ 3 พันปีค่ายประตูผา ที่แท้รอยเก่า จำใจไม่ลบ หวั่นกระทบของเดิม อาจารย์แนะ ฟื้นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีการเผยแพร่ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีผู้เขียนตัวอักษรทับจนเกิดความเสียหาย โดย ร.ท.ยงยุทธ ปัญญารัตน์ ทหารค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา  ได้พาผู้สื่อข่าวขึ้นไปเยี่ยมชม กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงประเด็นดังกล่าว

ค่ายประตูผา
นายจตุรพร เทียมทินกฤต นักโบราณคดีชำนาญการสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ซึ่งดูแลแหล่งโบราณคดีในจังหวัดน่าน ลำปาง แพร่ และพะยา กล่าวว่า เท่าที่ตนตรวจสอบดูข้อความต่างๆซึ่งเขียนอยู่บนเพิงผา พบว่าเป็นข้อความที่ถูกเขียนขึ้นก่อนที่กรมศิลปากรจะเดินทางเข้าไปสำรวจภาพเขียนสีดังกล่าว เมื่อ พ.ศ. 2541 และเท่าที่ตรวจสอบก็ยังไม่พบข้อความใหม่ สำหรับสาเหตุที่ยังไม่มีการลบข้อความ เนื่องจากต้องใช้สารเคมีในการทำความสะอาด แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งในเบื้องต้นกำลังส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยอาจแจ้งไปยังกลุ่มอนุรักษ์ของกรมศิลปากร ซึ่งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพ ฯ ให้เดินทางมาตรวจสอบว่าจะสามารถดำเนินการสิ่งใดได้บ้าง และจากนี้อาจทำป้ายตักเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้ขีดเขียน เพราะไม่สามารถเฝ้าดูได้ตลอดเวลา

“ข้อความทั้งหมดมีมาตั้งนานแล้ว เท่าที่ตรวจดูเป็นของเก่าก่อนที่กรมศิลป์จะเข้าไปสำรวจเมื่อปี 2541 บางข้อความเขียนเมื่อ ค.ศ. 1986 หรือ พ.ศ. 2529 รอยใหม่ยังไม่เจอ ขณะนี้กำลังส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาด ถ้าไม่ได้ผลก็จะแจ้งไปยังกลุ่มอนุรักษ์ที่กรุงเทพให้ขึ้นมาดู สาเหตุที่ปล่อยไว้ ยังไม่ทำความสะอาดแม้จะพบมานานแล้ว เพราะต้องใช้สารเคมีค่อยๆลบ หากล้างไปเฉยๆ จะกระทบกระเทือนภาพเขียนสีเก่าที่อยู่ข้างใต้ รอยบางรอยที่เขาขีดเขียนมันไปทับกับภาพสีเก่า เลยต้องค่อยๆหาวิธีทำความสะอาด ซึ่งปัญหาคือเรื่องของงบประมาณ ก่อนหน้านี้ทางค่ายประตูผา จะหางบประมาณและใช้กำลังพลที่ค่ายเข้าไปทำความสะอาดเหมือนกัน เบื้องต้นคงทำได้แค่ป้ายห้ามตักเตือน เพราะทางสำนักศิลปากรและค่ายทหาร ไม่สามารถเฝ้าดูได้ตลอดเวลา” นายจตุรพรกล่าว

(จากซ้าย) จตุรพร เทียมทินกฤต นักโบราณคดีชำนายการ สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน , ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบรารคดี ม.ศิลปากร
(จากซ้าย) จตุรพร เทียมทินกฤต นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน , รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ภาพเขียนสีที่ถ้ำประตูผา มีอายุกว่า 3,000 ปี เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีไม่มากนักในภาคเหนือ ความพิเศษคือการเป็นพื้นที่ซึ่งพบภาพเขียนสีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่มาก โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการชื่อดังเคยเรียกพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า ‘หุบผาศักดิ์สิทธิ์’ เพราะเป็นสถานที่เสมือนหนึ่งที่ประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ ความศักดิ์สิทธิ์อาจอยู่ที่การพื้นที่ฝังศพ ซึ่งถูกรมควันแล้วห่อด้วยเครื่องจักสาน แสดงถึงพิธีปลงศพซึ่งค่อยพบมากนัก ในมุมมองของนักโบราณคดี ถือว่า ภาพเขียนสีคือบันทึกเรื่องราวความคิดของคนในอดีต ทั้งยังสะท้อนให้ทราบถึงสิ่งแวดล้อมในสมัยโบราณอีกด้วย

Advertisement

ค่าประตูผา

“ภาพเขียนสีคือบันทึกเรื่องราวความคิดของคนในอดีต และประสบการณ์ของตนผ่านสิ่งที่เขียน สมมติเขาวาดรูปสัตว์ อย่างประตูผา สะท้อนสภาพแวดล้อมที่ถูกบันทึกไว้จากสายตาจากคนก่อนประวัติศาสตร์ ให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นเป็นอย่างไร บางส่วนมีภาพสัญลักษณ์ ภาพคน และภาพมือซึ่งนักโบราณคดีตะวันตกหลายคนคิดว่ามือเป็นสัญลักษณ์ของการบันทึกว่าตัวเองมาเยี่ยมเยือนที่นี่แล้ว ทำให้เข้าใจว่ามีการย้อนกลับมาอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจเป็นตรงกลางของแกนวัฒนธรรม เป็นแหล่งรวมที่ใหญ่ที่สุด เพราะเป็นหน้าผาที่ยาวมาก” ดร.รัศมีกล่าว และว่าสำหรับปัญหาจากการทำลายจากการขีดเขียน ไม่ควรตำหนิผู้กระทำเพียงอย่างเดียว เพราะอาจไม่ทราบถึงความสำคัญ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมศิลปากร รวมถึงสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นควรให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว และมีการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้เป็นแหล่งเรียนรู้

ค่ายประตูผา

“จะตำหนิคนที่มือบอนเลย 100 เปอร์เซนต์คงไมได้ เพราะไม่รู้ว่าความรับรู้ของเขามีมากน้อยแค่ไหน ต้องไม่สันนิษฐานไปเองว่าเขารู้ ต้องสันษฐานว่าเขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่โดยนิสัยของคนที่ไปเที่ยวสถานที่แบบนี้จะชอบจารึก ชอบบันทึกว่ามาถึงแล้ว สิ่งที่ควรทำก่อนอื่นคือ ป้ายบอกว่า กรุณาอย่าเขียนบนผนัง อย่างที่สอง คือระดมความคิด จัดการให้มีคนดูแล มีไกด์ท้องถิ่น อย่างน้อยที่สุดเวลาคนไปก็เดินเล่าเรื่อง ตรงนั้นเป็นที่สำคัญมาก แต่ขาดการให้ความหมายความสำคัญ มีของสำคัญมาก เช่น สิ่งที่จะต้องปลูกจิตสำนึกคือความสำคัญของแหล่งฯ สมมติว่าเขารู้แล้วจากป้ายที่บอก ว่าตรงนี้เป็นโบราณสถาน เป็นของเก่าแล้วยังทำอยู่ อันนี้แย่ ซึ่งจริงๆแล้ว มีกฎหมายลงโทษได้ ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ในต่างประเทศ มีคนไปเขียนในปิระมิด เหมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าฉันมาถึงแล้ว ภาพเขียนสีในภาคอีสานอีกหลายที่ เช่น เขาจันทน์งาม จังหวัดนครราชสีมา ก็มีการเขียนชื่อบอกว่า มาแล้วนะ และลงวันที่ไว้ด้วย”

ดร.รัศมี ยังกล่าวอีกว่า คนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งกรมศิลปากร ต้องทำงานนหนักในการให้ความรู้และความสำคัญของแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้ไม่เหมือนวัด แต่ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสุสาน ซึ่งคนโบราณประกอบพิธีกรรมของศาสนาแรกเริ่มในเรื่องของผี จึงควรถูกเคารพด้วยไม่ใช่เฉพาะวัดเท่านั้นที่ควรถูกเคารพ
“ถ้าเป็นไปได้ สิ่งที่ควรทำก็คือ รื้อฟื้นพิพิธภัณฑ์ โดย อบต. กรมศิลป์ ม.ราชภัฏในท้องถิ่นควระดมความคิดว่าจะทำอย่างไร ที่จะฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม โรงเรียนก็น่าจะทำหลักสูตรท้องถิ่น ชมรมมัคคุเทศก์น้อยให้มีไกด์ท้องถิ่น ไม่ต้องเยอะ แต่ควรมีคนอยู่ประจำ”

ค่ายประตูผา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image