สุจิตต์ไขที่มา “กลิ่นทุเรียนเหมือนขี้ซำปอกง” ที่แท้มาจากนิทานแต้จิ๋ว

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “อาหารจีนยุคอยุธยา มากับซำปอกง” มีเนื้อหาส่วนหนึ่ง ระบุถึงที่มาของคำเปรียบเปรยที่ว่า ทุเรียนมีกลิ่นเหมือนขี้ซำปอกง โดยอ้างอิงข้อเขียนจาก  ปริวัฒน์ จันทร ดังนี้

คำว่า “ทุเรียน” ในภาษาจีนกลาง เจิ้งเหอเป็นคนตั้งชื่อว่า “หลิวเหลียน” หรือสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “โถวเลี้ยง” แปลว่า ความหวนอาลัย หมายถึงผู้ใดที่ไม่เคยรับประทานทุเรียนมาก่อน ลองได้รับประทานเข้าก็จะหลงอาลัยในรสชาติจนยากที่จะลืมเลือนและไม่อยากกลับบ้าน

เชื่อกันว่าผลไม้ทุเรียนนี้ชาวจีนเพิ่งรู้จักครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง โดยลูกเรือของเจิ้งเหอที่ได้ลิ้มลองแล้วติดใจนำกลับไปเล่าขานให้คนที่เมืองจีนฟังกัน

ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยมักเล่าให้ลูกหลานฟังว่า คำว่า “ทุเรียน” นั้นชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกงไส้” หรือ อาจมของซำปอกง?!

Advertisement

กล่าวคือ เมื่อเจิ้งเหอได้เดินเรือมาค้าขายในสยามนั้น ระหว่างทางที่ได้ไปเดินเที่ยวชมตามหมู่บ้าน ท่านเกิดปวดท้องหนัก เมื่อถ่ายแล้วจึงได้นำก้อนอาจมนั้นห่อใบไม้ นำปีนขึ้นไปแขวนไว้บนกิ่งไม้

บังเอิญในขณะนั้นมีชาวบ้านที่ทราบว่าซำปอกงเดินผ่านมา จึงได้มาขออาหารจากเจิ้งเหอที่ชาวจีนเชื่อว่าท่านเป็นผู้ที่มีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จึงได้ชี้ขึ้นไปบนต้นไม้ บอกว่าให้ปีนขึ้นไปบนนั้น ข้างบนมีทุเรียนอยู่

ชาวบ้านคนนั้นจึงเชื่อ แล้วปีนขึ้นไปแกะห่ออาจมออกมาดู พบว่าข้างในเป็นผลทุเรียนสีเหลืองที่ส่งกลิ่นอันหอมหวนชวนรับประทานไปในพลัน!

ฉะนั้นใครที่ไม่ชอบกลิ่นของทุเรียนที่หอมฉุน ก็มักจะอ้างว่าทุเรียนมีกลิ่นเหม็นเหมือนขี้ซำปอกง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image