อ.โบราณฯ สืบปริศนาสุโขทัย ผ่าน ‘รอยพระพุทธบาท’ แนะยึดหลักฐาน ดราม่าวุ่นเพราะ ‘สุดขั้ว’

อ.โบราณคดี ย้อนตำนาน ‘รอยพระพุทธบาท’ สืบรากยุคสุโขทัย ชี้ปัจจุบันหยิบปวศ. สร้างดราม่าวุ่น ลั่น ‘อย่าไปสุดขั้ว’ แนะยึดหลักฐานนำ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง พร้อมด้วยพันธมิตร จัดกิจกรรม ‘Happy Journey with BEM มรดกสยาม 3 สมัย’ ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ตั้งแต่ช่วงเช้า มีประชาชนเดินทางหลั่งไหลมาร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก ซึ่งอัดแน่นด้วยกิจกรรมตลอดทั้งวัน ทั้งทริปเดินทัวร์ประวัติศาสตร์ กิจกรรมเวิร์กช็อป เข้าชมพิพิธภัณฑ์ และเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นต้น

เวลา 15.15 น. เริ่มกิจกรรม Exclusive Talk หัวข้อ “ปริศนาประวัติศาสตร์สุโขทัย” นำโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินรายการโดย นายปิยวัฒน์ สีแตงสุก บก.สำนักพิมพ์มติชน

ADVERTISMENT

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าในการศึกษาทางโบราณคดี มีมากขึ้นตามลำดับ ทำให้เรารู้ว่าดินแดนไทยมีผู้คนและดินแดนโบราณที่เก่ากว่าสุโขทัยอยู่อีกมาก จนเกิดคำถามว่ามีเมืองอื่นที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนหรือไม่ เพียงแต่เขาไม่ได้ใช้ภาษาไทยจนแพร่หลาย ซึ่งอาจจะเป็นภาษามอญ หรือ ขอม

ADVERTISMENT

“เกิดเป็นประเด็นว่าสุโขทัย มันเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยหรือไม่ แต่หลายคนก็ยังมองตามต้นภาษา และการปกครองว่าสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของไทย” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า หลักฐานทางโบราณสถานที่เป็นซากปรักหักพังมีความสำคัญมาก ซึ่งเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ สถูปเจดีย์ พระพุทธรูปน้อยใหญ่ที่ส่วนมาก ก็แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ ที่เอามาร้อยเรียงจนเรื่องราวตามยุคสมัย ซึ่งสิ่งของบอกเล่าเรื่องได้ไม่ต่างจากลายลักษณ์อักษร ถ้าเราไปดูหลักฐานช่วงสุโยทัยจะเห็นได้ว่า เป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง

“นอกจากเรื่องศาสนาแล้ว ความเชื่อของผู้คน ตัวโบราณสถาน ก็พบว่า คนยุคสุโขทัยมีความคิดสร้างสรรค์ เอาอย่างละเล็กละน้อยจากเมืองที่เขาติดต่ออย่าง ศรีลังกา เขมร เมืองพระนคร พุกาม เอามาผสมผสานจนกลายเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นตัวโบราณสถานของสุโขทัย จึงมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ตามจริงแล้วสุขโขทัยมีปริศนาเยอะมาก เอาจึงคุยกันว่าเอาของที่ใกล้ตัวมาคุยกัน อย่างของศักดิ์สิทธิทั้งหลาย โดยเฉพาะการสร้างบ้านแปลนเมือง กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นพลังของผู้คนที่อย่างเดียว มันไม่ได้เป็นไปตามที่ตาเนื้อเราเห็นปกติ แต่ต้องมีสิ่งที่คุ้มครองบ้านเมืองให้มั่นคงรอดพ้นจากภัยพิบัติ อย่างซ้ายมือของตน มีพระสิหิงค์ ศาลหลักเมือง พระแก้วมรกต หรือพระปรางค์วัดอรุณ ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น

“ช่วงสุโขทัยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมืองคล้ายกับวัฒนธรรมไทย เพราะสืบทอดกันมาหลายร้อยปี เช่น เรื่องพระพุทธศาสนา พระพุทธบาท พระอิศวร พระนารายณ์ หรือ พิธีกรรมที่เป็นเฉพาะก็เป็นของที่เป็นคู่กันมานาน คือ เรื่องผี ผสมผสานกันมานานในสังคมไทย” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ระบุ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ผีมีทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ ภูเขา หรือ บูรพกษัตริย์ท่านไม่ได้ไปไหน ยังคงปกป้องบ้านเมืองอยู่ ซึ่งก็นับเป็นแนวคิดเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยสุโขทัย

“เรื่องพระบรมสารีริกธาตุเป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด รองจากพระพุทธรูป ซึ่งพูดง่ายๆ คือพระอัฐิของพระพุทธเจ้าที่แตกเป็นองค์เล็กองค์น้อยได้อีกมากมาย หลายคนอาจจะสงสัยว่าพระธาตุที่เราไหว้ เป็นของจริงหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า สมัยสุโขทัยเขาเชื่อว่าถ้าเป็นของแท้ของจริง ต้องมาจากศรีลังกา เพราะเขาเป็นศูนย์กลางศาสนาตอนนั้น อินเดียเขามีความเชื่ออื่นเข้าแทนไปแล้ว ศรีลังกาจึงเป็นศูนย์กลางจนเผยแพร่มาไทย นอกจากคำสอนแล้ว เขาเอาพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเรื่องราวเหล่านี้เอามาจากศิลาจารึก อย่าง กำแพงเพชร ก็เอามาจากจารึกนครชุม

พระยาลิไท เอาพระบรมสารีริกธาตุมา พร้อมกับพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งตอนที่เขามาแล้วต้องประดิษฐานกลางเมือง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ความมงคลแก่บ้านเมือง มีหลักฐานว่าบูรพกษัตริย์ทำพิธีเจริญพุทธมนต์ให้เป็นศรีแก่เมือง โดยนอกจากท่านทรงประดิษฐ์อักษรไทยแล้ว ยังทรงสร้างเจดีย์พระสารีริกธาตุกลางเมือง สังเกตุว่าตัวพระธาตุจะไม่ได้ไปอยู่บนเจดีย์ ส่วนที่สำคัญจะอยู่ที่ดิน เพื่อให้มีความเป็นสิริมงคลของแผ่นดินก็จะฝังเอาไว้” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ชาวพุทธนิกายเถรวาทอย่างไทยและเพื่อนบ้าน มีการบูชาพระบีมสารีริกธาตุเป็นของที่เชื่อมโยงกันได้อยู่แล้ว แต่รูปทรงของเจดีย์และสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไม่เหมือนกัน อย่างพม่า เราจะนึกถึงเจดีย์ชเวดากอง พอนึกถึงลาวเราจะนึกถึงพระธาตุหลวง หรือ ไทยก็จะนึกถึงพระปรางค์วัดอรุณ โดยเจดีย์ที่บรรจุจะต่างต่ากันออกไปตามแต่ละชาติพันธุ์

“รูปทรงเจดีย์ของสุโขทัย พุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ ทรงดอกบัวตูม ที่สร้างโดยช่างยุคสุโขทัย ถ้าเราไปเห็นจะรู้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับสุโขทัยไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เราจะสามารถพอบอกเขตแว่นแคว้นสุโขทัยที่มาจากเดิมได้

ถ้าเราไปที่สุโขทัย นอกจากตัวพระธาตุเจดีย์ที่อยู่กลางสุด และยังมีที่อื่นมากมายที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่อีกหนึ่งที่คิดว่าเป็นเจดีย์แนวสุโขทัย คือช้างอยู่ที่ฐาน ซึ่งต้องย้อนกลับไปว่าพระพุทธศาสนาสายหลักมาจากศรีลังกา เป็นศูนย์กลางแทนอินเดีย พอลังกาวงศ์เข้ามา ไม่ได้รับแค่คำสอน แต่ยังรับพุทธศิลป์เข้ามา รูปแบบพระธาตุแบบลังกา ก็เข้ามาด้วย” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ศรีลังกาเองก็มีพุทธศาสนาหลานนิกาย หนึ่งในนั้นคือเถรวาท เขามีศูนย์กลางอยู่ที่วัดเกลาณียะราชมหาวิหาร เรียกว่ามหาสถูปศักดิ์สิทธิ์ สร้างขึ้นหลายพันกว่าปีแล้ว ฐานเขามีรูปช้างล้อมอยู่ เมื่อไทยรับแบบลังกาเข้ามาเราจึงรับ เจดีย์ทรงระฆังเข้ามา และฐานช้างล้อมแบบลังกาเข้ามาด้วย สุดท้ายแล้วความนิยมแบบฐานช้างล้อม สุโขทัยเป็นคนทำให้แพร่หลาย เช่น องค์ที่โดดเด่นที่สุด คือ เจดีย์ที่วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย ถ้าเราอ่านหนังสือเก่าของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านจะบอกว่าพ่อขุนรามคำแหง สร้างขึ้น แต่ข้อมูลปัจจุบันพบว่าน่าจะเป็นพระยาลิไทย หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 มากกว่า ที่ท่านทรงอุปถัมภ์ประพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเนิ่นนานเป็นพันปี ที่ปัจจุบันเรายังไหว้อยู่ คือ รอยเท้าของพระพุทธเจ้า หรือ รอยพระพุทธบาท ถ้าเราแบ่งแบบเข้าใจง่าย คือ รอยแบบที่ฝังติดอยู่กับแผ่นดิน แบบที่สระบุรี รอยเว้าที่อยู่ภูเขา กับรอยจากหิน สำริดที่เรายกไปไหนต่อได้ สิ่งที่เราสนใจคือ แบบฝังลงจากดินและหิน เรามักจะเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามาเจริญรอยพระพุทธบาทให้ อันนี้เป็นการเชื่อมโยงว่า ลพบุรี เชื่อมโยงกับแผ่นดินสมัยอยุธยาตอนกลาง จนมีความสำคัญมาถึงแผ่นเดินรัตนโกสินทร์ ที่พระเจ้าแผ่นดินต้องไปเจริญรอยพระพุทธบาท” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า แบบหินมักจะแต่งตำนานว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาตรงนี้ ทำให้แผ่นดินเจริญรุ่งเรือง อย่างตำนานเมืองเหนือมีเยอะมาก แต่เราไม่ได้มีหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงสุโขทัย อาจจะมีแต่บันทึก แต่เหลือไม่ถึงยุคเรา

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า จากอดีตถึงปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าไทยจะเปลี่ยนศูนย์กลาง แต่ว่าการถูกทิ้งร้างโดยสิ้นเชิงจนความทรงจำอดีตหายไป มันไม่ได้ถึงกับเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ดังนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติกันในยุคของเรา ซึ่งก็สามารถย้อนกลับไปได้เรื่อยๆ ตั้งแต่รัตนโกสินทร์ ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา อาจจะสามารถต่อเนื่องไปถึงสมัยสุโขทัยได้ มันจะมีหลายอย่างเช่นประเพณีที่เราสืบทอดมาในปัจจุบัน หลายอย่างก็มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

หลายท่านในที่นี้ อาจจะบอกว่าประวัติศาสตร์น่าเบื่อมาก แต่อย่างน้อยที่สุดความคึกคักของการจัดงานในครั้งนี้ ถือว่าคนเยอะมาก จริงๆ แล้วคนไทยผมว่าลึกๆ แล้วมีความภูมิใจในมีมรดกวัฒนธรรมของไทย มรดกทางประวัติศาสตร์อะไรต่างๆ ของไทยอย่างมาก ผมว่าการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์มาอาจจะมีอยู่ 2 แบบ คือในแบบที่นักวิชาการจะต้องลงลึก อันนี้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบางเรื่องบางประเด็นศึกษาแล้วก็จบไป คือ การตอบคำถามเชิงลึกที่อาจจะต้องไปคุยกันในระดับมหาวิทยาลัยเชิงลึก” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ระบุ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวด้วยว่า มีประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนวงกว้าง คือการศึกษาว่ามันมีประโยชน์ต่อปัจจุบันและจะเชื่อมโยงต่อไปสู่อนาคตได้อย่างไร

“จริงๆ แล้วจำต้องพูดว่า ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์มันทำให้เกิดดราม่าเยอะเหลือเกิน ในการใช้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในการเชิดชู จนบางทีมันเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน

“ตามจริงแล้วผมว่าการศึกษาทางประวัติศาสตร์ หรือการที่เราจะภาคภูมิใจในวัฒนธรรมมันไม่ผิด เป็นสิ่งที่ปกติมากและทำกันได้อย่างเปิดเผย แต่ก็ต้องระมัดระวังในแง่ว่าประวัติศาสตร์มันควรจะเป็นไปตามความจริงของหลักฐาน ฉะนั้นการภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ประเทศชาติ มันไม่ผิด แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าของฉันเหนือกว่าคนอื่น อันนี้ต้องระวังแล้ว” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า รวมถึงประวัติศาตร์แบบสายคลั่งชาติ กับประวัติศาสตร์แบบชังชาติ ก็คือประเภทบรรพบุรุษทำอะไร ก็ดีทั้งนั้น มีข้อคำถามไปหมด คือคำถามถามได้แต่สุดท้ายมันต้องวนกลับมาที่หลักฐานจริงๆ เป็นแบบไหน ก็คือให้หลักฐานนำไป แต่อย่าไปสุดขั้ว ไม่ว่าจะคลั่ง หลง หรือว่าชังไปเลย มันก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้

ทั้งนี้ งาน ‘มรดกสยาม 3 สมัย’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00-20.00 น. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สนใจสามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย ทางออกที่ 1 จากนั้นขึ้นรถ EV มาต่อ บริการฟรี ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.30 น. ระหว่าง MRT สถานีสนามไชย – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไม่เสียค่าใช้จ่าย

อ่านข่าว : เบิกเนตร ‘กรุงเทพอีกมุม’ วัยเกษียณปลื้ม ‘ต้า’ แฟนพันธุ์แท้วัดไทย พาซอกแซก ‘วัดโพธิ์’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image