ย้อนอ่านงาน‘ไมเคิล ไรท์’ เรื่อง‘ประติมากรรมสำริดจากอีสานใต้’กรณีประมูลขาย‘อวโลกิเตศวร’ 1,200 ปีพบที่บุรีรัมย์

เป็นที่ฮือฮาจริงๆ สำหรับกระแสการตั้งคำถามถึงกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพโบราณวัตถุโดยระบุว่า “บัดนี้ ทางบริษัท ซัทเทบีส์ ได้นำโบราณวัตถุของประโคนชัย ออกมาประมูลขาย ประกาศอย่างออกหน้าออกตาว่าได้มาจากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย และได้กำหนดศิลปะประเภทนี้ด้วยว่า อยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยมีการอ้างอิงถึงบุคคลคนนี้ด้วยครับ Emma C.Bunker โดยบริษัท ซัทเทบีส์ นำโบราณวัตถุชิ้นนี้ออกประมูลด้วยราคา 40,000-60,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,427.160.84-2,140,741.26 บาท” ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย

กระทั่ง อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เตรียมประสานกระทรวงการต่างประเทศว่าจะมีแนวทางใดในการติดตามกลับคืนมา โดยรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ระบุว่า ประติมากรรมดังกล่าวคือพระอวโลกิเตศวรในศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง อายุราว 1,200 ปีมาแล้ว คาดว่าถูกลักลอบนำออกนอกประเทศในช่วงสงครามเวียดนาม

สอดคล้องกับ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีที่บอกว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นมานานแล้ว โดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ทรงเคยเขียนเรื่องการสูญหายของกลุ่มประติมากรรมสัมฤทธิ์กว่า 300 องค์ ซึ่งพบที่อำเภอประโคนชัย และอำเภอบ้านฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่ง เอ็มม่า ซี บังเกอร์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์เดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประติมากรรมทั้งหมดออกมา โดยมีการเข้ามาสืบหาว่าตำแหน่งของประติมากรรมชิ้นนี้ อยู่ที่ไหน เนื่องจากมีการตีความกันว่าอยู่ที่ปราสาทหลายแห่ง แต่ภาพถ่ายที่ปรากฏในหนังสือคือปราสาทเขาปลายบัด 2

ทั้งนี้ ข้อมูลจากปลายปากกาของเอ็มมา ซี บังเกอร์ ถูกถอดความโดย ไมเคิล ไรท ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ชื่อบทความ “ประติมากรรมสำริดจากอีสานใต้ ความเข้าใจผิดและข้อเท็จจริง”

Advertisement

มาย้อนอ่านเรื่องราวในตำนานแห่งการค้นหาที่น่าตื่นเต้น และกลับกลายมาเป็นประเด็นฮือฮาในช่วงนี้อย่างไม่มีใครคาดฝัน เพราะจุดเริ่มต้นได้ผ่านไปนานถึง 52 ปี นับแต่มีการพบโบราณวัตถุดังกล่าวเป็นครั้งแรก

ประติมากรรมสำริดจากอีสานใต้  ความเข้าใจผิดและข้อเท็จจริง

โดย ไมเคิล ไรท์

ในปี 1965 หนังสือพิมพ์ในลอนดอนแจ้งว่าในปี 19694 มีการขุดพบประติมากรรมสำริดในพุทธศาสนาจาก “ห้องใต้ดิน” ในวัดร้างที่ “ชายแดนไทย-เขมร” ที่ใหญ่ที่สุด (76-107 เซนติเมตร) และสำคัญที่สุดมีอยู่สามองค์ (รูป 1-4) และยังมีอีกห้าองค์ที่เล็กกว่ากัน รูปสำริดเหล่านี้ต่างกระจายไปอยู่ต่างประเทศ โดยไม่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับจุดขุดพบหรือการณีการขุดพบ

Advertisement

 

ประโคนชัย01

 

ในปี 1967 Jean Boisselier เสนอว่าคงอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 9 และว่าขุดพบที่ “ประโคนชัย” ต่อมา ค.ศ.1972 ท่านเสริมว่าพบที่ “ปราสาทลมธม” (Prasat Lom Thom) ปี 1973 กรมศิลปากรรับรองว่า “ปราสาทลมธม” ของ Boisselier เป็นจุดขุดพบที่ถูกต้อง
จนทุกวันนี้ประติมากรรมสำริดที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “Prakhon Chai bronzes” มีประวัติคลุมเครือและเป็นที่เข้าใจผิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลป์ของอุษาคเนย์ แม้กระทั่งคำว่า “ประโคนชัย” ก็ผิด รูปสำริดเหล่านี้เป็นหลักฐานที่สำคัญมากเกี่ยวกับวิวัฒนาการของประติมากรรมแถบนี้, จึงสมควรที่เราจะพยาบาม “สะสางคดี” ก่อนที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะตายจากไปเสีย

สถานที่ขุดพบ

ขึ้นต้นเรื่อง, สถานที่ขุดพบประติมากรรมสำริดเหล่านี้ที่แท้จริงอยู่ที่เขาปลายบัด ซึ่งเป็นเนินเตี้ยอยู่ห่างหมู่บ้านยายแย้ม 2 กิโลเมตรทางทิศตะวันออก ตำบลยายแย้ม อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เขาปลายบัดอยู่ห่างเมืองประโคนชัยถึง 40 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และห่างปราสาทเมืองต่ำทางทิศตะวันตกเพียง 3 กิโลเมตร มันจึงไม่เกี่ยวกับ “ประโคนชัย” แม้แต่น้อย

ในปี 1964 ปราสาทหินเขาปลายบัดประกอบด้วยปรางค์อิฐองค์เดี่ยว มีผัง 5X5 เมตร ดังเห็นในรูป 5-7 ในปี 1971-1972 ผู้เขียนเคยพิมพ์เผยแพร่ภาพเหล่านี้ แล้วปี 1973 กรมศิลปากรหาว่าภาพดังกล่าวคงถูกลักมาจากหนังสือของ Lunet de Lajonquiere (สมัย ร.5) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีในหนังสือของท่าน

ปราสาทปลายบัด01

ปราสาทปลายบัด02

ปราสาทปลายบัด03

 

เมื่อฉันกลับไปเยี่ยมในเดือนพฤษภาคม 2001 ปราสาทหินเขาปลายบัดมองไม่เห็นเสียแล้วจากถนนลูกรังที่ตีนเขา (รูปที่ 8), และเข้าไปใกล้เห็นองค์ปรางค์สลายไปเกือบสิ้น (รูปที่ 9) อย่างไรก็ตามใช่ว่ากรมศิลปากรไม่รู้จักปราสาทหินเขาปลายบัดเพราะมีแผนผังอยู่ใน “ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย”, 2536, หน้า 34 (รูปที่ 10)

 

ประโคนชัย09

 

ประโคนชัย08

การค้นพบ

ในเดือนสิงหาคม 1964 หลังพายุฝนห่าใหญ่ชาวบ้านคนหนึ่งเดินมาเห็นก้อนหินโผล่เหนือผิวดินด้านทิศเหนือปรางค์ปราสาทหินเขาปลายบัด เขาขุดรอบๆ หินโผล่นั้นแล้วพบพระพุทธรูปหินงามยิ่งยุคคริสต์ศตวรรษที่ 11 (รูปที่ 11) เขาจะนำไปขายแต่ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไว้, พระพุทธรูปองค์นี้จึงรอดถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจนทุกวันนี้ เรื่องนี้ผู้เขียนฟังจากปากชาวบ้านเมื่อเดือนพฤษภาคม 2001 และเข้าใจว่าแหล่งที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

ประโคนชัย04
หลังจากที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านชวนกันสำรวจทั่วบริเวณรอบปรางค์ปราสาทหินเขาปลายบัด ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้องค์ปรางค์ประมาณ 15 เมตร เขาพบแผ่นศิลาแลงเรียงรายตะวันออก-ตะวันตก ขนานกับกำแพงแก้วด้านใต้ งัดแผ่นศิลาขึ้นมาเขาพบหลุม (รูปที่ 12) บรรจุพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ 8-9 องค์ “บางองค์ห่อผ้า” พระพุทธรูปเหล่านี้มีความสูงระหว่าง 50 ถึง 142 เซนติเมตร รอบหลุมดังกล่าวยังพบเทวารูปสำริดขนาดย่อม (สูง 5-50 เซนติเมตร), บางคนว่ามีถึง 200 องค์ จะเป็นเพราะคุณภาพไม่ดีหรือเพราะถูกขายไปได้รวดเร็วไม่มีใครติดตามได้ว่าหายไปไหนจนทุกวันนี้

วัตถุเกี่ยวข้องที่พบในที่อื่น

ยังมีพระสำริดพบในที่อื่นที่ควรกล่าวถึง ในปี 1961 ได้พบชิ้นส่วนของพระศรีอาริย์ขนาดมหึมา (เศียร, บาท และหัตถ์ 3 หัตถ์) ที่บ้านตะโนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา (รูปที่ 13) ใน ค.ศ.1971 ได้พบเทวรูปสำริดอีกสามองค์ ในเนินดินที่บ้านฝ้าย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ห่างเขาปลายบัดไปทางเหนือประมาณ 60-70 กิโลเมตร (รูปที่ 14) ยังมีเทวรูปสำริดอื่นอีกไม่น้อยที่พบในอีสานตอนใต้ที่ควรได้รับการเปรียบเทียบกับเทวรูปที่พบที่เขาปลายบัด

ประโคนชัย05
ลักษณะทางโลหะกรรม

เทวรูปเหล่านี้ล้วนหล่อด้วยสำริด (ทองแดงบางส่วนดีบุกสูง) เทวรูปที่สูงกว่า 20 เซนติเมตร มีโครงเหล็กภายใน ทุกองค์มี (หรือเคยมี) เดือยที่ส้นเท้า, องค์ใหญ่และรุ่นเก่ามีเดือยเป็นรูปแหลม, รุ่นหลังมีเดือยสี่เหลี่ยม, ทำให้น่าเชื่อว่ามาจากโรงหล่อต่างกัน บางองค์มีส่วนผสมเงินสูง
ลักษณะทางศาสนา
เทวรูปส่วนใหญ่คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและเมตไตรย, ซึ่งชวนให้เข้าใจว่าทำขึ้นมาในพุทธศาสนามหายาน (แต่ไม่ใช่วัชรยาน) อันเป็นที่นิยมในอินเดียเหนือครั้งราชวงศ์คุปตะตอนปลาย (คริสต์ศตวรรษที่ 6-7-8) อย่างไรก็ดีพระพุทธรูปมีลักษณะไปในทางศิลปะทวารวดีในภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งเข้าใจกันว่านับถือพุทธศาสนาหีนยาน เรื่องนี้ทำให้สงสัยว่าพุทธศาสนาแถวๆ โคราชในยุคนั้นอาจจะเป็นนิกายต่างหาก ผิดกับทวารวดีและเขมรกลาง แต่เราไม่ทราบว่าเป็นนิกายใดหรือมาจากไหน

ข้อสังเกต

เทวรูปสำริดจากเขาปลายบัดอยู่ในพุทธศาสนาทั้งสิ้นและมีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7-9 ลักษณะการหล่อที่มีความต่างกันเล็กน้อยชวนให้คิดว่าคงมาจากโรงช่างมากกว่าหนึ่งแห่ง และลักษณะทางศิลปะที่ไม่เหมือนกันเสมอไป ทำให้สงสัยว่าคงมาจากท้องถิ่นหรือชุมชนต่างๆ กันในอีสานตอนใต้
แบบศิลปะของเทวรูปสำริดเหล่านี้สะท้อนศิลปะที่อื่นบ้าน (เช่น ศิลปะทวารดีในภาคกลางและศิลปะก่อนพระนครในเขมร) แต่ก็มีลักษณะเฉพาะมากจนน่าจะถือได้ว่าเป็น “แบบที่ราบสูงโคราช” (Korat Plateau Style)
เป็นที่น่าเชื่อว่าเทวรูปสำริดที่พบที่เขาปลายบัดคงถูกรวบรวมเข้ามาจากชุมชนรอบด้านในยามเกิดภัยสงคราม แล้วฝังไว้โดยหมายจะขุดขึ้นมาภายหลัง แต่แล้วคงฝังคงตายหรือกระจัดกระจายในสงคราม กรุนี้จึงถูกลืมเสียจนชาวบ้านมาขุดพบใน ค.ศ.1964

ปัญหาที่ตกค้าง

ปัญหาใหญ่สำหรับเทวรูปสำริดเหล่านี้คือใครสร้าง? และสร้างที่ไหน? แบบศิลปะ “โคราช” นี้ไม่เข้ากันกับวิวัฒนาการของศิลปะเขมรก่อนพระนคร (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฮินดู) และไม่ตรงกับทวารวดี (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพุทธหีนยาน) ในยุคสมัยนั้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-9 อีสานของไทยและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเขมรแบ่งเป็นนครรัฐเล็กๆ หลายหัวเมือง ซึ่งรัฐยุคนั้นที่เรารู้จักจากจารึกสองหลัก (หลัก 117 อยุธยา และ 118 เมืองเสนา) คือ “ศรีจาศปุระ” ซึ่งไม่มีใครทราบว่าอยู่ที่ใด แต่สันนิษฐานกันว่าอาจจะอยู่ที่เมืองศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์) หรือเมืองเสนา (จ.นครราชสีมา) หรือที่อื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตามจนทุกวันนี้เราไม่อาจจะสรุปได้เลยว่าเทวรูปสำริดที่พบที่เขาปลายบัดได้ผลิตที่ไหนกันแน่

ความคิดเพิ่มเติมของผู้เก็บความ

1.พบเทวรูปสำริดฝังดินที่อื่น
ในอินเดียใต้และเกาะลังกามีการขุดพบเทวรูปสำริด (ทั้งพุทธและพราหมณ์) ฝังดินจำนวนมาก โดยมากเป็นชุดๆ เรียงรายในหลุมพื้นทรายแม่น้ำ, วางคว่ำพร้อมเครื่องบูชา, เอาทรายกลบอีกที, แล้วใช้ดินหรือแผ่นหินอำพรางหลุม เชื่อกันว่ามีการฝังเช่นนี้เพื่อหลบภัยกองทัพมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 หรือภัยโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 (ดู Nagaswami, R : Archeological Finds in South India, ใน BEFEO, 1978) แต่เราไม่ทราบถึงภัยสงครามที่อาจจะเกิดในแคว้นโคราชในคริสต์ศตวรรษที่ 7-8

2.พระโพธิสัตว์นุ่งน้อยทำไม?
ลักษณะเครื่องทรงพระโพธิสัตว์โดยทั่วไปโดยมากจะนุ่งผ้ายาวและทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ แต่เทวรูปที่พบที่เขาปลายบัดและใกล้เคียงไม่ทรงเครื่องและนุ่งแต่ “ชั้นใน” เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นเชนนี้เพราะท่านตั้งใจให้สาธุชนบูชาเทวรูปเหล่านี้ด้วยการถวายเครื่องทองฝังอัญมณีและเครื่องนุ่งห่มที่ทำด้วยผ้ามีราคา เช่น ที่บูชาพระชินราชด้วยผ้าอังสะและสร้อยสังวาลจนทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามเทวรูปที่นุ่งน้องห่อน้อยแบบนี้หาไม่ง่ายตัวอย่างที่ผมนึกได้มีแต่หมู่ “เทวรูปก่อนพระนคร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระวิษณุ และพระกฤษณะยกเขาโควัฒนะที่ขุดพบที่เมืองศรีเทพ (และปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพฯ) ซึ่งต่างนุ่งเพียงผ้าเตี่ยว เป็นไปได้ไหมว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างเมืองศรีเทพ (ที่หนักไปทางศาสนาพราหมณ์) และแคว้นโคราช (ที่หนักไปทางพุทธศาสนา) ในคริสต์ศตวรรษที่ 7-8?

3.เรื่องหนวดๆ
ในบรรดารูปพระโพธิสัตว์ (และแม้กระทั่งพระพุทธรูป) ที่พบที่เขาปลายบัดและใกล้เคียง มีหลายองค์ทรงหนวด ซึ่งไม่ค่อยจะพบในที่อื่นใดในศิลปะอินเดียหรืออุษาคเนย์ ทั้งนี้เพราะหนวดเป็นเครื่องหมายของยักษ์หรือของคนใจพาล พระโพธิสัตว์จะทรงหนวดเฉพาะในศิลปะคันธาระ (ปากีสถานและอัฟกานิสถานปัจจุบัน ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะกรีก-โรมัน) ซึ่งแพร่ไปทางเอเชียกลางถึงจีน, เกาหลี และญี่ปุ่น บันดาลให้มีพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ทรงหนวดโดยทั่วไป
เป็นไปได้ไหมว่าศิลปะตระกูล “ปลายบัด” ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคันธาระในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1-6)? หรือได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน? อย่าลืมว่าที่อีสานได้พบพระพิมพ์ดินเผาศิลปะทวารวดีที่ด้านหลังมีจารึกอักษรจีน

4.ความสัมพันธ์กับบันทายศรี?
เป็นที่น่าสังเกตว่า ชฎา (เรือนผม) ของพระโพธิสัตว์เขาปลายบัดหาอะไรเหมือนได้ยากมากในศิลปะอินเดียหรืออุษาคเนย์ อย่างไรก็ตามบรรดาเทวรูปทวารบาล (สลักหิน) ที่สถานพระอิศวร “บันทายศรี” ซึ่งอยู่เหมือนนครธมราว 30 กิโลเมตร ล้วนแต่ทรงชฎาเหมือนพระโพธิสัตว์ที่เขาปลายบัด
เป็นไปได้ไหมว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างปราสาทบันทายศรีกับอีสานตอนใต้? บันทายศรีสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 ใกล้เคียงกับอายุของพระโพธิสัตว์เขาปลายบัด และยังมีจารึกของศรีอินทรวรมัน (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14) ซึ่งเข้าใจกันว่าอาจจะเป็นคนเดียวกันกับ “ศรีอินทราทิตย์” (พญาผาเมือง) ในจารึกหลักที่ 2

สรุป

เรื่องนี้สำคัญเพราะบรรดาเทวรูปสำริดเขาปลายบัดและใกล้เคียงเป็นศิลปะชั้นเอกระดับโลกที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ถูกอำพรางทั้งโดยคนพื้นเมือง, อาชญากรระหว่างประเทศ และเจ้าของใหม่ในต่างประเทศ
เท่าที่ผมทราบ อาจารย์ Emma C. Bunker เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มีคุณวุฒิ ได้ศึกษาศิลปะในสยามอย่างละเอียดถี่ถ้วน และไม่มีผลประโยชน์ได้เสียในเรื่องเทวรูปสำริดเขาปลายบัด ข้อเสนอของท่านจึงควรเป็นที่น่าเชือถือ อย่างไรก็ตามท่านอาจจะเข้าใจผิดพลาดบ้าง หรืออาจจะถูกป้อนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบ้าง ท่านผู้อ่านจึงควรสงสัยอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image