ทายาท ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ ยื่นกรมศิลป์ จี้ตอบที่มานิทรรศการผลงานดัง หวั่นการันตีความจริงแท้

ทายาท ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ ยื่นกรมศิลป์ จี้ตอบที่มานิทรรศการผลงานดัง หวั่นการันตีความจริงแท้

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา นายทิพย์ แซ่ตั้ง ทายาท “จ่าง แซ่ตั้ง” ศิลปินชื่อดัง โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กบัญชีส่วนตัว ‘Thip Tang’  ซึ่งเป็นภาพของการมอบหมายตัวแทน เข้ายื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกสอบถามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เกี่ยวกับกรณีศึกษา “นิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art ที่จัด ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือหอศิลป์เจ้าฟ้าฯ กรุงเทพฯ” ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม-31 สิงหาคม 2567 โดยระบุข้อความว่า

กรณีศึกษา “นิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art ที่จัด ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือหอศิลป์เจ้าฟ้าฯ กรุงเทพฯ”
จดหมายเปิดผนึก ถึงผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
29/5 หมู่ 2 ต.บางกระทึก
อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

เรื่อง ขอคำชี้แจงกรณีนิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art

Advertisement

เรียน ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

นิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในวันที่ 13 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 โดยนิทรรศการดังกล่าวเป็นผลงานของนักสะสมเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งในเว็บไซต์ของกรมศิลปากรระบุว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักสะสมเอกชนและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

Advertisement

อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เป็นหน่วยงานของรัฐที่ใช้เงินภาษีของประชาชน จำเป็นต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบทางราชการอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และสามารถถูกตรวจสอบได้จากสาธารณะ มิใช่เพียงหน่วยงานของคนใดคนหนึ่งที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ โดยไม่อยู่บนฐานของหลักการและความถูกต้องได้ ข้าพเจ้าในฐานะผู้ชมมีข้อสงสัยบางประการต่อการทำงานของพิพิธภัณฑ์ฯ ในการจัดการนิทรรศการนี้ จึงขอสอบถามดังนี้

1.⁠นิทรรศการนี้มีสถานะเป็นนิทรรศการหลัก รอง หรือนิทรรศการชั่วคราว และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กับนักสะสมเอกชนจริงหรือไม่ เหตุใดผลงานทั้งหมดจึงเป็นผลงานของนักสะสมเอกชนเพียงท่านเดียว ไม่มีผลงานใดๆ ที่เป็นผลงานของบุคคลอื่น หรืองานสะสมของพิพิธภัณฑ์ฯเลย ทั้งๆ ที่ผลงานในชุดสะสมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผลงานที่มีคุณค่าและบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ได้ดีไม่น้อยไปกว่า หรือดีกว่าผลงานสะสมของเอกชน ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

2.⁠กระบวนการในการทำนิทรรศการนี้เป็นไปอย่างปกติหรือไม่ เหตุใดผลงานของนักสะสมเอกชนจึงได้จัดแสดงในพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่จัดแสดงหลักของพิพิธภัณฑ์ และเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารจัดแสดงหลัก ในขณะที่กระบวนการคัดเลือกนิทรรศการชั่วคราว โดยปกติจะอนุญาตให้ใช้เพียงพื้นที่ด้านหลังที่ทำไว้โดยเฉพาะสำหรับนิทรรศการชั่วคราว หากเป็นไปอย่างปกติ นักสะสม ศิลปิน หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการทำนิทรรศการเช่นนี้ จะต้องดำเนินการอย่างไร

3.⁠หากเป็นการทำงานร่วมกัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีส่วนในนิทรรศการมากน้อยแค่ไหน มีหลักการอย่างไรในการคัดเลือกงานและทำนิทรรศการ เป็นการปฏิบัติการภัณฑารักษ์ โดยอยู่บนมาตรฐานเชิงวิชาการอย่างถูกต้องหรือไม่ เหตุใดจึงมีผลงานบางชิ้นในนิทรรศการ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการสงสัยในเรื่องความจริงแท้จากสาธารณะ ตลอดจนความไม่ชัดเจนในเรื่องที่มาของผลงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผลงานจิตรกรรมของขรัวอินโข่ง เฟื้อ หริพิทักษ์ หรือมีเซียม ยิบอินซอย เป็นอาทิ

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเชื่อถือ การมีผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของรัฐระดับหอศิลป์แห่งชาติ จึงมีผลต่อประวัติของผลงาน และยังมีผลต่อราคาในตลาด ตลอดจนมีส่วนทั้งในทางตรงและทางอ้อมในการการันตีความจริงแท้ของผลงานแต่ละชิ้น ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์จากเอกชนได้

นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของนักวิชาการทางศิลปะที่มีชื่อเสียง ก็เป็นการการันตีในทางใดทางหนึ่งด้วยเช่นกัน พิพิธภัณฑ์ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้หรือไม่ เหตุใดจึงปล่อยให้มีการนำผลงานที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน มาจัดแสดงต่อสาธารณะในพิพิธภัณฑ์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาตอบกลับข้อสงสัยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ

ขอแสดงความนับถือ

(นายทิพย์ แซ่ตั้ง)

ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image