งานดอนเจดีย์ ที่สุพรรณ ทุกคืน มีมหรสพเหน่อๆ

งานดอนเจดีย์ ที่สุพรรณ เริ่มวันนี้ มีข่าวจากทางการว่าจัดประกวดสุนทรพจน์สำเนียงเหน่อ แล้วมีโขนและเพลงอีแซวแสดงทุกคืน

เหน่อสุพรรณ (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงลาว (ลุ่มน้ำโขง) ปัจจุบันยังเหลือสืบเนื่องอยู่ในสำเนียงลาวเหนือ เช่น สำเนียงหลวงพระบาง

ลาวคัง (ครั่ง) ที่บ้านโคก อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ลาวคัง (ไทยเรียกลาวครั่ง) ทั้งในสุพรรณบุรีและจังหวัดอื่นๆ ในไทย พูดสำเนียงลาวเหนือ เพราะโยกย้ายลงมาตั้งแต่สมัย ร.3 จากภูคัง (ภูเขาชื่อคัง) เมืองหลวงพระบาง ถ้าอยากเทียบสำเนียงว่าใกล้กันจริงไหม? ไปฟังได้เมื่อชาวบ้านพูดสำเนียงลาวคังในชีวิตประจำวัน

Advertisement

ราวหลัง พ.ศ.1900 เหน่อสุพรรณ เป็นสำเนียงหลวงอยุธยา แล้วเป็นสำเนียงเจรจาโขน เพราะพระราชาจากรัฐสุพรรณภูมิยึดอำนาจ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนั้น เพลงอีแซว เมืองสุพรรณ ก็ได้ชื่อเรียกตามคำลาว เพราะคำว่า “แซว” ยังมีใช้ในคำลาว หมายถึง แจวเรือ, ตีกรรเชียงเรือ ฯลฯ

Advertisement

อี เป็นคำยกย่องเรียกสิ่งของเป็นเพศหญิง เช่น อีดาบ คือ มีดดาบ ส่วนอีแซว คือ ไม้แซว ใช้ตีกรรเชียงเรือ และให้จังหวะเพลงอีแซวนี้

สมัย ร.5 ยังใช้คำว่าแซว แปลว่า แจว, ถ่อ ฯลฯ มีในนิราศเมืองหลวงพระบาง [ของ นายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2434] พรรณนาตอนปราบฮ่อที่เมืองแถน (เดียนเบียนฟู ในเวียดนาม) เสร็จแล้ว ยกทัพกลับเมืองน่านทางน้ำ โดยต่อแพล่องลงมา ให้ทหารถ่อพายจากลำน้ำนัว เข้าลำน้ำอู มีกลอนตอนหนึ่งว่า

แพลอยวนคนแซวไม่แคล่วคล่อง ช้ากว่าล่องแพเนื่องจากเมืองเหนือ

จะพายถ่อก็ไม่คล่องเหมือนล่องเรือ เห็นเต็มเบื่อวิบากกรรมต้องทำเนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image