ศิลปากรเตรียมส่งจนท.เก็บภาพประตูผา เพิ่มฐานข้อมูลในระบบ วอนปชช.-นักเที่ยวอย่าทำลายอีก

นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ซึ่งเป็นผู้ดูแลโบราณสถานในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายโบราณคดีของสำนักเดินทางไปยังภาพเขียนสีประตูผา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในวันที่ 2 มีนาคม นี้ เพื่อใช้กล้องบันทึกภาพเขียนสีโบราณในจุดที่สำคัญทุกจุด เพื่อรวบรวมข้อมูลล่าสุดของภาพเขียนสีแห่งนี้ไว้ เป็นการเพิ่มในฐานข้อมูลของโบราณสถานดังกล่าว ซึ่งภาพเขียนสีโบราณ อายุเก่าแก่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กว่า 3,000 ปี นั้น จัดว่าเป็นภาพที่มีมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีภาพเขียนสีกว่า 1,800 ภาพ นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ จึงวอนประชาชน และนักท่องเที่ยวอย่าได้เกิดความคึกคะนอง หรือเกิดการเลียนแบบเข้าไปเที่ยวชม และกระทำการขีดเขียนสิ่งใดลงไป เพื่อรักษาไว้ให้อยู่คู่พื้นที่สืบไป ซึ่งภาพได้อยู่มานานกว่า 3,000 ปีแล้ว อย่าได้ถูกทำลายในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ นี้เลย ซึ่งไม่เพียงแต่ที่นี้ แต่รวมถึงโบราณสถานที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติของชาติ ที่อยากให้ชาวไทยรักษ์ และหวงแหน

นอกจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ที่จะเข้าไปเก็บภาพโบราณที่ประตูผาแล้ว ยังจะได้นำรายชื่อที่ได้จากการเขียนชื่อลงไปในหน้าผาหิน และภาพเขียนสี เข้าตรวจสอบกับทะเบียนราษฎรของ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ด้วย เพื่อหาที่อยู่ของชื่อที่ถูกเขียนลงไปในประตูผา ก่อนที่จะนำข้อมูลจากทะเบียนราษฎรที่ได้รายงานส่งไปยังอธิบดีกรมศิลปากรทราบ จากนั้นทางอธิบดีถึงจะได้มีหนังสือมอบอำนาจกลับมายังสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน เพื่อนำชื่อ และเอกสารมอบอำนาจเข้าแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่เมาะ เพื่อติดตามตัวบุคคลตามชื่อให้เข้ามาพบกับพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เนื่องจากได้กระทำให้โบราณสถานเสียหาย และเสื่อมค่า สำหรับการนำรายชื่อเข้าแจ้งความนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญมาก เพราะไม่รู้ว่าบุคคลตามชื่อนั้นจะยังมีชีวิตอยู่ หรือเป็นชื่อจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ แนวทางซ่อมแซม และแก้ไข รวมถึงแนวทางป้องกัน ที่ทุกฝ่ายใน จ.ลำปาง จะต้องระดมพลังกันในการช่วยดูแลพร้อมกับทางสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน

ในการตรวจสอบภาพเขียนสีที่ถูกทำลายไปนั้น ได้มีการแยกสีที่เขียนลงไปในหน้าผาหิน และภาพเขียนสี เป็นทางปากกาเคมี สีสเปรย์ และถ่านดำ ซึ่งในส่วนของข้อความเก่าที่เป็นสีสเปรย์ และปากกาเคมีดำนั้น ถือว่าสีได้ยึดติดลงไปในเนื้อหินที่แห้ง จนการลบเบื้องต้นนั้นไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย เพราะสีได้ซึมเข้าไปลึกในเนื้อชั้นหินแล้ว ส่วนข้อความที่ถูกเขียนด้วยถ่านดำนั้น จาการตรวจสอบพบว่าเป็นข้อความใหม่จากข้อความเดิม จึงทำให้มองว่ายังคงเกิดการเลียนแบบในการเข้ามาเขียนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เป็นสิ่งที่น่าห่วง ที่จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแล เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ประตูผาแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่า จะกลายเป็นแหล่งที่ถูกขีดเขียนทำลายจนทำให้โบราณสถาน อายุกว่า 3,000 ปี เสื่อมค่า และหมดคุณค่าไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image