พบอีก’พระโพธิสัตว์’ที่นิวยอร์ก จี้ทวงคืน-ยกย่องสวยงามที่สุด

นักวิจัยไทยในสหรัฐเจออีกรูปปั้น’พระโพธิสัตว์’จาก อ.ประโคนชัย อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก ชี้เป็นองค์ที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุด เป็นโบราณวัตถุจากปราสาทปลายบัด

คืบหน้ากรณีกระแสการทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งถูกบริษัทแห่งหนึ่งนำมาประมูลขาย โดยมีผู้ซื้อไปในราคา 92,500 ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา กล่าวว่า ในพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ยังมีโบราณวัตถุที่ถูกระบุว่าได้มาจาก อ.ประโคนชัย และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ที่ได้รับยกย่องว่างดงามที่สุด โดยมีสภาพสมบูรณ์กว่าองค์ที่มีการประมูลขาย

Met museum

Advertisement

ดร.รังสิมากล่าวว่า ตนเห็นว่าโบราณวัตถุที่มาจากเมืองไทยควรกลับคืนสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นต้นกำเนิด ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันมาตลอดว่าควรนำสมบัติของประเทศอื่นมาเก็บรักษาและจัดแสดงหรือไม่ โดยนักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่าการอยู่ในต่างประเทศจะมีผู้เข้าชมมากกว่า ทำให้ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าของใคร ใครก็รักและหวงแหน นอกจากนี้ ยังสามารถอธิบายถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกด้วย จึงอยากให้กลับบ้านเกิดมากกว่า

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มาจากจังหวัดบุรีรัมย์องค์หนึ่งใน The Metropolitan Museum of Art เป็นองค์ที่มีความสำคัญมาก โดยได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุด เป็นตัวแทนของโบราณวัตถุจากปราสาทปลายบัด อยากให้กลับไปอยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นสิ่งที่บอกเรื่องราวอันยาวนานและอธิบายได้ถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ บ้านกงรถ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเคยมีวัตถุคล้ายกงรถ แต่ความจริงคือธรรมจักรโบราณ แต่ถูกนำเก็บรวบรวมเข้าพิพิธภัณฑ์ ชาวบ้านเลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วชื่อบ้านนามเมืองของตัวเองมาจากไหน เพราะของซึ่งเป็นที่มาไปอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไม่ได้อยู่ในท้องถิ่น”

ดร. รังสิมา กุลพัฒน์
ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา

ดร.รังสิมากล่าวว่า สำหรับการจัดแสดงโบราณวัตถุจากประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่ของตัวเองนั้น เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมาตั้งแต่มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นในโลก ว่าควรเอาสมบัติคนอื่นมาเก็บไว้หรือไม่ อย่างประเทศไทยก็มีโบราณวัตถุจากอินเดีย ประเทศในตะวันตกซึ่งในอดีตเป็นผู้ล่าอาณานิคมก็มีโบราณวัตถุจากอียิปต์ เมโสโปเตเมีย และที่อื่นๆ ในขณะที่ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเดิมมีแค่ภาพถ่ายหรือของจำลองแล้วแปะป้ายไว้ว่าของจริงอยู่ที่ไหน อย่างโรเซตตา สโตน ซึ่งมี 3 ภาษา เป็นโบราณวัตถุที่สำคัญมาก อียิปต์พยายามทวงจากบริติชมิวเซียม ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาเป็นร้อยปี ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะดึงดูดคน หรือประติมากรรมพระนางเนเฟอร์ติติ ก็ยังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

Advertisement

 

(ซ้าย) ประติมากรรมที่คาดว่ามาจากไทยหรือินโดนีเซีย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน ซื้อมาจากมูลนิธิจิม ทอมสัน (ขวา) พระพุทธรูปล้านนา มีผู้บริจาคให้พิพิธภัณฑ์ ฯ
(ซ้าย) ประติมากรรมที่คาดว่ามาจากไทยหรืออินโดนีเซีย เป็นโบราณวัตถุส่วนหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน ซื้อร่วมกับของขวัญจากมูลนิธิจิม ทอมสัน (ขวา) พระพุทธรูปล้านนา มีผู้บริจาคให้พิพิธภัณฑ์ ฯ

 

 

ดร. รังสิมากล่าวอีกว่า ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศมักไม่จัดแสดงโบราณวัตถุที่ไม่มีที่มา เพราะเกรงข้อครหาเรื่องการรับของโจร หรือของที่ถูกลักลอบออกนอกประเทศ ดังนั้น ในคลังพิพิธภัณฑ์บางแห่งจึงมีของที่ไม่สามารถนำออกมาจัดแสดงได้ เพราะจะถูกตั้งคำถาม สำหรับการทวงคืนภายใต้กฎหมาย อาจเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนที่มีนักวิชาการเสนอว่าควรใช้วิธีการพูดคุยระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศนั้น มองว่าประเทศไทยอาจไม่มีอำนาจการต่อรอง ดังนั้น วิธีที่อาจทำได้คือการทวงด้วยศีลธรรม และความรู้สึกผิดที่เก็บสมบัติของคนอื่นไว้ ทั้งที่ไม่ใช่ของตัวเอง เชื่อว่ากลุ่มคนไทยในอเมริกา หากทราบเรื่องดังกล่าวและมีกระแสความต้องการทวงคืนจากคนที่อยู่ในประเทศไทย ก็ยินดีประสานงานและให้ความร่วมมือในการดำเนินการอย่างแน่นอน

“ทวงด้วยกฎหมายคงไม่สำเร็จ ต้องทวงด้วยจริยธรรม ศีลธรรม และความรู้สึกผิดที่ครอบครองของคนอื่น ส่วนตัวแล้วอยากได้ของไทยในพิพิธภัณฑ์คืนทั้งหมด แต่คงเป็นไปไม่ได้ว่าทุกชิ้นจะกลับไปได้  อยากขอคืนให้ได้มากที่สุด ตอนนี้คาดหวังแบบชิ้นต่อชิ้น ถ้าสามารถกลับเมืองไทยได้จริง เราต้องพร้อมในการดูแลและอนุรักษ์ด้วย” ดร.รังสิมากล่าว

ภาพประกอบทั้งหมด ถ่ายโดย ดร.รังสิมา กุลพัฒน์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image