ศิลปากรเชียงใหม่ลุย “บ้านโฮ่ง” แหล่งถลุงเหล็กโบราณ เตรียมของบขุด หวังไขปริศนาเทคนิคยุคเก่า

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากร เชียงใหม่ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ยังแหล่งโบราณคดีบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งถลุงเหล็กโบราณ เพื่อเตรียมของบประมาณโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อดำเนินการศึกษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเบื้องต้นมีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำผังบริเวณสำหรับเตรียมเสนอโครงการดังกล่าว เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับช่วงระยะเวลากิจกรรมการถลุง และกระบวนการถลุงแร่เหล็กโบราณในอดีต ซึ่งนักโบราณคดรได้พบหลักฐานเบื้องต้นสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงกระบวนการถลุงแร่เหล็กในพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้

1) แหล่งทรัพยากรแร่เหล็ก จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ดอยกานซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวแหล่ง พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแร่เหล็กปะปนอยู่ในดินจำนวนมาก มีลักษณะเป็นเม็ดสินแร่ขนาดเล็กตามธรรมชาติ จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าพื้นที่ดอยกานอาจเป็นแหล่งแร่เหล็กสำหรับการนำมาถลุงแร่เหล็กในแหล่งที่พบนี้ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่พบลักษณะการทำเหมืองแร่โบราณที่ชัดเจนในพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้กลุ่มโบราณคดีจะขยายพื้นที่สำรวจเพิ่มเติมต่อไป

Advertisement

2) ร่อยรอยกิจกรรมถลุงแร่เหล็กภายในพื้นที่แหล่ง จากการสำรวจพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการถลุงแร่เหล็กดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การนำแร่เหล็กตามธรรมชาติมาเผาภายในเตารูปวงกลม สันนิษฐานว่าน่าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำ 80 เซนติเมตร หลังจากการเผาแร่เหล็กดิบ จะทำให้ได้เป็นก้อนตะกรันแร่ (Slag) ขนาดใหญ่ ขั้นตอนที่ 2 การนำก้อนตะกรันแร่ขนาดใหญ่มาย่อย เพื่อคัดแยกแร่เหล็กไปใช้ พบชิ้นส่วนตะกรันแร่ขนาดเล็กที่ผ่านกระบวนการย่อยจำนวนมากกระจายอยู่เต็มพื้นที่แหล่ง นอกจากนี้ยังพบลักษณะเครื่องมือหินที่ถูกนำมาใช้เป็นค้อนหินเพื่อนำมาย่อยแร่อีกด้วย

จากการสำรวจและเก็บข้อมูลหลักฐานแหล่งถุลงแร่เห็กดังกล่าวอย่างละเอียด สันนิษฐานว่าพื้นที่ดังกล่าวในอดีต น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการนำแร่เหล็กดิบมาถลุงและทำการย่อยตะกรันแร่เพื่อคัดแยกเป็นก้อนแร่เหล็ก (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์) เพื่อนำไปใช้ตีขึ้นรูปต่อไป ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลไม่พบหลักฐานการตีขึ้นรูปเหล็กภายในพื้นที่แหล่งดังกล่าวแต่อย่างใด

สำหรับแนวทางการทำงานในระยะต่อไป โจทย์ที่กลุ่มโบราณคดีได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้คือ 1) การกำหนดอายุแหล่งถลุงแร่เหล็กแห่งนี้ ว่าเกิดกิจกรรมขึ้นในระหว่างช่วงเวลาใด 2)ศึกษาต่อไปว่าเหล็กที่ผ่านการถลุงจากแหล่งแห่งนี้ถูกนำไปใช้ทำเครื่องมือเหล็กในพื้นที่ใดบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image