เปิดภาพเก่าย่าน “คลองสาน” ก่อนจะเป็นหอชมเมือง-ไอคอนสยาม อดีตเคยเป็นที่ตั้งโรงสีข้าว

ภาพจาก Dekwat (ซ้าย) และ เพจ 77ppp

หลังจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ( 27 มิถุนายน) คณะรัฐมนตรีประกาศไฟเขียวให้ก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร มูลค่า 4,621 ล้านบาท บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3257 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 4-2-34 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบในการน้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นและสัญลักษณ์แห่งยุค

ครั้งนี้กระทรวงคมนาคมเสนอข้อยกเว้นให้เกิดโครงการพัฒนาดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าในขั้นตอนการประมูล โดยหอชมเมืองใหม่นี้ จะดำเหนินการก่อสร้างโดย มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน โดยกรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้สิทธิในการเช่าและพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว อายุสัญญาเช่นไม่เกิน 30 ปี (อ่านเพิ่ม ย้อนรอย หอชมเมืองกทม. ยุคไทยแลนด์4.0)

จึงก่อให้เกิดกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ไม่น้อย !

Advertisement

รวมไปถึงเพจต่างๆ ที่นำเอาภาพเก่าครั้งอดีตของพื้นที่ราชพัสดุ และบริเวณใกล้เคียงที่อนาคตอันใกล้จะกลายไปเป็นหอชมเมืองและศูนย์การค้าดิไอคอน สยาม ย่านคลองสาน ถนนเจริญนคร

“ถนนเจริญนคร” ถือเป็นถนนสำคัญเส้นหนึ่งย่านฝั่งกรุงธนบุรี โดยตัดขึ้นราวปี พ.ศ.2482-2483 ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างถนนต่อจากถนนสมเด็จเจ้าพระยา กิ่งอำเภอคลองสานขึ้นอำเภอธนบุรี ไปถึงตำบลปากคลองดาวคะนองฝั่งใต้ อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี พุทธศักราช 2482 ถนนเจริญนครเป็นถนนสายแรกที่สร้างเป็นถนนขนาดกว้างถึง 30 เมตร เมื่อสร้างถนนเสร็จ เทศบาลนครธนบุรีได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งชื่อถนนให้ ในชั้นแรกกระทรวงมหาดไทยจะตั้งชื่อถนนว่า “ถนนมไหสวรรย์” ตามราชทินนามของพระยามไหสวรรย์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครธนบุรี แต่พระยามไหสวรรย์ขอให้ใช้ชื่อถนนเจริญนครเพื่อล้อกับชื่อ “ถนนเจริญกรุง” ที่อยู่ในแนวขนานเดียวกันของฝั่งพระนครนั่นเอง

โดยในอดีตบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการดิ ไอคอน สยาม และ โรมแรมมิลเลเนียม ฮิลตันแต่เดิม เคยเป็นที่ตั้งของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ชื่อ “โรงสี 19” รวมถึงอาคารพานิชย์จำนวนไม่น้อย อย่าง บริษัทศรีกรุง และท่าเรือด่วน ที่ปัจจุบันยังคงมีเรือข้ามฝากบริการอยู่ทุกวัน

Advertisement

ภาพถ่ายแม่น้ำเจ้าพระยาขณะเรือด่วนเข้าเทียบท่าสี่พระยาราวปี พ.ศ.2530 มองไปฝั่งตรงข้ามเห็นไซโลของบริษัทศรีกรุงและโรงสี 19 ย่านคลองสานตั้งเรียงราย (ปัจุบันคือโรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตันและสถานที่ก่อสร้างโครงการไอคอนสยาม) เครดิตภาพ Irving Snider,Canada และแฟนเพจ รักษ์คลองสาน

ภาพถ่ายถนนเจริญนครกว่า 50 ปีก่อน ถ่ายจากบริเวณที่ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างศูนย์การคัาไอคอนสยาม แนวต้นไม้คือสถานที่ซึ่งภายหลังก่อสร้างอาคารพานิชย์ริมถนนช่วงเจริญนครซอย 2 ถึงซอย 4 ในปัจจุบัน เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณชัยวัฒน์แห่งร้านเอี๊ยบฮั่วไถ่ตลาดศิรินทร์ในอดีต และเพจรักษ์คลองสาน
โรงสีสิบเก้า โรงสีข้าว 19 ถ่ายเมื่อปี ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) โดย Paul (Found Slides), United States และเพจ 77PPP
โรงสีสิบเก้า ธนบุรี พ.ศ.2495 ภาพจากเพจ 77PPP

บรรยากาศภายในร้านเอี๊ยบฮั่วไถ่ซึ่งขายของจิปาถะอยู่ในตลาดศิรินทร์ในยุคกว่า40ปีที่แล้ว (ตลาดศิรินทร์อยู่บริเวณเดียวกับโรงสี 19 ในอดีต ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่กำลังก่อสร้างโครงการไอคอนสยาม ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากคุณชัยวัฒน์แห่งร้านเอี๊ยบฮั่วไถ่ในอดีต และเพจรักษ์คลองสาน
ขอขอบคุณ ภาพประกอบจากหนังสือสมโภช 100 ปี เขตคลองสาน และเพจรักษ์คลองสาน
บรรยากาศในอดีต ภายในสถานีรถไฟปากคลองสาน สถานีรถไฟสัมปทานเอกชนสายแรกๆ สายหนึ่งของประเทศไทยซึ่งดำเนินสัมปทานโดยบริษัท ท่าจีนเรวเวลกัมปนีลิมิเต็ดทุนจำกัด เปิดเดินรถวันแรกตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2447 จากสถานีปากคลองสานถึงสถานีมหาชัย ปัจจุบันสถานีคลองสานถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่1มกราคม2504คงเหลือช่วงทางตั้งแต่สถานีวงเวียนใหญ่-สถานีมหาชัยในปัจจุบัน
ขอขอบคุณ ภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเพจรักษ์คลองสาน

ขอบคุณภาพจากเพจ รักษ์คลองสาน และ 77PPP

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image