‘สุกรี’ โชว์ต้นฉบับสมุดรวมโน้ต ยัน ‘ชูรอฟสกี้’ แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมี

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีคณวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะเดินทางไปยังหอสมุดแห่งกรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย เพื่อขอดูต้นฉบับสมุดรวบรวมตัวโน้ตเพลงประจำชาติที่ ปิโยต ชูรอฟสกี้ นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซีย รวบรวมไว้เมื่อ พ.ศ. 2434 เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า ชูรอฟสกี้ เป็นผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ยังใช้บรรเลงมาจนปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากติดต่อกับเจ้าหน้าที่หอสมุด และค้นหาหนังสือต้นฉบับสักพัก ก็พบต้นฉบับหนังสือรวมโน้ตเพลงประจำชาติ ปกหนาลายทอง ภายในมีบทเพลงประจำชาติต่าง ๆ รวมทั้งเพลงประจำชาติสยาม ซึ่งมีชื่อปีโยต ชูรอฟสกี้ เป็นผู้ประพันธ์ ทั้งนี้ ร.ศ.ดร.สุกรี ได้อ่านตัวโน้ต และพบว่าเป็นทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทย

รศ.ดร.สุกรีกล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ค้นพบต้นฉบับของจริงที่ยืนยันว่าชูรอฟสกี้เป็นผู้ประพันธ์ทำนองบทเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งที่ผ่านมาตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีแต่ข้อสันนิษฐาน ตนพยายามหาหลักฐานตัวจริงมายืนยัน เคยเดินทางไปตามเส้นทางตามหลักฐานในประวัติศาสตร์เขียนไว้ เพื่อค้นหาแต่ก็ไม่พบต้นฉบับตัวจริง กระทั่งเดินทางมารัสเซียครั้งนี้

Advertisement

“ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงประกาศประกวดแต่งเพลงประจำชาติไทย โดยชูรอฟสกี้ได้ประพันธ์แล้วส่งให้ทูตไทยในปารีส ทูตไทยได้ส่งโน้ตเพลงกลับสยาม ระหว่างนั้นได้พบกับเฮวุดเซน นักเปียโนชาวดัชต์ ทูตไทยจึงให้ลองเล่นให้ฟัง กระทั่งเกิดความเข้าใจไปว่านักเปียโนชาวดัชต์คนนั้นเป็นผู้ประพันธ์ อย่างไรก็ตามบทเพลงสรรเสริญพระบารมีนี้เมื่อมาถึงสยาม เมื่อบรรเลงและรัชกาลที่ 5 ทรงได้ยินก็ทรงโปรด ต่อมาได้พระราชทานกล่องยานัตถุ์เงินแกะสลักให้ปีโยต ชูรอฟสกี้ด้วย” ร.ศ.ดร.สุกรีกล่าว

ร.ศ.ดร.สุกรีกล่าวต่อไปว่า ในภายหลังเมื่อเกิดความสับสนว่าใครกันแน่เป็นผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญพระบารมีระหว่างนักเปียโนชาวดัชต์คนนั้นกับชูรอฟสกี้ ขณะที่ตนเชื่อว่าชูรอฟสกี้น่าจะเป็นผู้ประพันธ์ และพยายามหาต้นฉบับตามเส้นทางในประวัติศาสตร์ แต่ไม่พบ และยังไม่เคยเดินทางมารัสเซีย จนกระทั่งมีโอกาสเดินทางมาครั้งนี้จึงค้นพบ และยืนยันว่าชูรอฟสกี้คือผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญพระบารมี
สำหรับบทเพลงสรรเสริญพระบารมีนี้ภายหลังนายจาคอบ ไฟท์ บิดาของพระเจนดุริยางค์ได้เรียบเรียงเสียงประสาน และนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image