สกู๊ป น.1 : ย้อนตำนาน “ปราสาทเขาปลายบัด”

พลันที่กระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์ประโคนชัยจากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐเริ่มเข้มข้นมากขึ้นทุกที ชื่อของ ‘ปราสาทเขาปลายบัด’ ที่แทบไม่เคยอยู่ในความรับรู้ของคนไทย ก็ถูกสปอตไลต์ฉายส่องพร้อมปักหมุดขุดเรื่องราวในอดีตอันเร้นลับ

ย้อนกลับไปกว่า 50 ปีก่อนในยุคสงครามเวียดนาม ราว พ.ศ.2507 ซึ่งมีการลักลอบขุดหาสมบัติบนปราสาทแห่งนี้อย่างมโหฬาร แล้วถูกนำออกนอกประเทศจำนวนมาก

กระทั่งมีบริษัทเอกชนนำออกประมูลโดยตีราคาไว้ระหว่าง 1.4-2.5 ล้านบาท แล้วมีผู้ควักกระเป๋าซื้อไปในราคา 92,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.2 ล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านเผยว่า ราคาขายในยุคนั้นเพียง 3-5 พันบาทเท่านั้น สร้างความตกตะลึงให้คนไทยโดยเฉพาะชาวบุรีรัมย์ซึ่งหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของบรรพชน

ต่อมา นักวิจัยรายหนึ่งในสหรัฐเผยข้อมูลว่าใน The Metropolitan Museum of Art หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ยังมีโบราณวัตถุที่ถูกระบุว่าได้มาจาก อ.ประโคนชัย และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายชิ้น

Advertisement

หนึ่งในนั้นคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ ที่ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุด จุดประกายความหวังในการทวงคืนกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ที่สำคัญคือป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ระบุชัดเจนว่าประติมากรรมดังกล่าว พบที่ “ปราสาทเขาปลายบัด”

“มติชน” ซึ่งเกาะติดเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงนาทีนี้ ได้ลงพื้นที่ยัง อ.ประโคนชัย อันเป็นที่ตั้งของปราสาทดังกล่าวบน “เขาปลายบัด” ทิวเขาที่ทอดยาวกินพื้นที่ราว 6 ตารางกิโลเมตร ในเขต อ.ละหานทราย และ อ.ประโคนชัย มีปากปล่องของภูเขาไฟเดิม ซึ่งดับสนิทแล้วกว้างประมาณ 200 เมตร และมีสัณฐานเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก ประกอบด้วยหินบะซอลต์สีดำปนเทา ตั้งอยู่ห่างจากภูเขาไฟพนมรุ้ง อันเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพนมรุ้ง อันเลื่องชื่อลงไปทางใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร

จากเชิงเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์พรสวรรค์ ในหมู่บ้านโนนเจริญ ต.ยายแย้มพัฒนา อ.ประโคนชัย ใช้เส้นทางเลียบไหล่เขา ซึ่งรถยนต์ยังเข้าถึงได้ ไม่กี่อึดใจก็ถึงลานที่มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ จากจุดนี้ ต้องเดินเท้าขึ้นไปยังตัวปราสาท ผ่านป่าโปร่ง ซึ่งมีแสงแดดจ้าส่องลงมาถึง เพียง 5 นาที จะเริ่มสังเกตเห็นเศษซากศิลาแลงขนาดใหญ่แซมอยู่ในพุ่มไม้ลิบๆ นั่นคือ ชิ้นส่วนกำแพงปราสาทที่ร่วงโรย

Advertisement

เร่งฝีเท้าอีกไม่กี่สิบก้าว สถาปัตยกรรมเก่าแก่นับพันปี ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า พร้อมป้ายตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากรว่า “ปราสาทเขาปลายบัด 2” เพราะเขาลูกนี้ มีปราสาทมากกว่าหนึ่งแห่ง ทว่า แห่งที่มีความสำคัญ ทั้งยังเป็นจุดที่ลักลอบขุดพบโบราณวัตถุล้ำค่าก็คือที่นี่

ปราสาทแห่งนี้ ก่อด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง ล้อมรอบด้วยกำแพงทำจากศิลาแลงเช่นกัน โดยมีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก สภาพปัจจุบัน ส่วนยอดพังทลาย โครงสร้างเริ่มเอียงจนต้องนำแท่งโลหะค้ำยันป้องกันไม่ให้ล้มครืนลงมา รอบปราสาทมีชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เศษอิฐ และศิลาแลงกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก

แม้จะอยู่ในสภาพย่ำแย่ แต่ก็ยังมองเห็นเค้าลางแห่งความงดงามของศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์-แปรรูป ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15 หากยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะมองเห็นปราสาทสามหลังตั้งตระหง่านอยู่บนฐานเดียวกัน มีรูปครุฑประดับ

ความผุพังของปราสาทหลังนี้ นอกจากเป็นไปตามกาลเวลาแล้ว เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการลักลอบขุด

“สุจิตต์ วงษ์เทศ” คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน” บอกว่า มีเรื่องเล่าสืบมาในแวดวงโบราณคดี ว่า เคยมีการนำลวดสtลิงฉุดยอดปราสาทให้พัง เพื่อค้นหาวัตถุล้ำค่า แต่ไม่สำเร็จ จึงใช้วิธีระเบิดปราสาทแล้วขนโบราณวัตถุไปตามใจชอบ

ในบทความของ “เอมม่า ซี บังเกอร์” ที่เดินทางมาสำรวจเขาปลายบัด แล้วเขียนถึงประติมากรรมสัมฤทธิ์แบบประโคนชัย ตีพิมพ์ในวารสารอาร์ต ออฟ เอเชีย เมื่อ ค.ศ.1970 ได้ปรากฏภาพถ่ายของปราสาทเขาปลายบัด 2 หากเทียบกับสภาพในปัจจุบัน ก็ดูจะไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะในภาพชุดดังกล่าว ตัวปราสาทก็พังทลายลงมาแล้ว โดยเฉพาะส่วนยอด

ขณะที่ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ ได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทดังกล่าว พบว่า ในหนังสือแผนที่โบราณคดี จ.บุรีรัมย์ ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2532 มีเนื้อหากล่าวถึงการถูกระเบิดโดยนักขุดหาสมบัติ ทั้งยังระบุถึงการขายรูปเคารพในศาสนามหายาน ซึ่งก็คือพระโพธิสัตว์ ข้อความตอนหนึ่งว่า

“ปราสาทปลายบัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถาน แต่ถูกระเบิดทำลายโดยนักขุดหาโบราณวัตถุเพื่อประโยชน์ส่วนตน ทำให้รูปลักษณ์ของปราสาทชำรุด จึงปรากฏเฉพาะบางส่วนของปราสาทเท่านั้น ทราบว่า นักขุดหาโบราณวัตถุได้นำเอารูปเคารพในพุทธศาสนามหายานจำนวนหนึ่งไปจำหน่าย บางองค์อาจไปอยู่ต่างประเทศแล้ว”

สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่กลายเป็นหนึ่งในตำนานแห่งการขุดกรุหาสมบัติอย่างแทบไม่ผิดเพี้ยน !

นอกเหนือจากข้อมูลเรื่องการระเบิดปราสาทแล้ว หนังสือดังกล่าวยังระบุถึงศิลาจารึก ที่ “นายพูน เลื่อยคลัง” ราษฎรหมู่บ้านยายแย้ม ซึ่งในยุคนั้นยังอยู่ใน ต.สถาวร อ.ละหานทราย นำมาจากปราสาทปลายบัด แล้วมอบให้กรมศิลปากร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2513 โดยเพิ่งมีการเผยแพร่คำอ่านและคำแปลในวารสารศิลปากร ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2544

ล่าสุด หลังเกิดกระแสงทวงคืนโพธิสัตว์ ผศ.ดร.กังวลได้เผยแพร่คำอ่าน-แปลใหม่ผ่านเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงพระเจ้าศรีอีศานวรมเทวะ มีพระบรมราชโองการต่อขุนนาง ไม่ให้ผู้ครองพื้นที่บริเวณนี้ ขึ้นต่อผู้ปกครองท้องถิ่น และห้ามผู้ปกครองท้องถิ่นเรียกร้องเอาทรัพย์สินต่างๆ ด้วย ศักราชในจารึกระบุมหาศักราช 621 ตรงกับ พ.ศ.1468

นักวิชาการบางท่านตีความว่า ศิลาจารึกดังกล่าวแสดงถึงอำนาจจากเมืองพระนครที่ไม่อาจมีเหนือต่อชาวพุทธในบริเวณนี้

สำหรับความสำคัญของปราสาทเขาปลายบัด 2 “ทนงศักดิ์ หาญวงษ์” นักวิชาการอิสระ ผู้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทวงคืนพระโพธิสัตว์ประโคนชัย บอกว่า นอกจากตัวปราสาทแล้ว โบราณวัตถุที่พบบริเวณปราสาทหลังนี้ ทั้งศิลาจารึกและประติมากรรมสัมฤทธิ์แบบประโคนชัย อันเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งพบมากในปราสาทหลังนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของดินแดนแถบที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของชาวพุทธที่มีความมั่นคงมาโดยตลอด

ทั้งยังแสดงถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรอิสระที่เรียกว่า “ศรีจนาศะ” อันเป็นที่ยอมรับกันว่าคือเมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งพบประติมากรรมสัมฤทธิ์แบบเดียวกันนี้ที่วัดธรรมจักรเสมารามอีกด้วย

ล่าสุด กรมศิลปากรส่งคนงานขึ้นมาเคลียร์พื้นที่สำหรับการดำเนินงานทางโบราณคดี โดยเริ่มจากขุดหลุมตรวจสอบการกระจายของหลักฐาน และชั้นทับถมเพื่อวางแผนการบูรณะ

ส่วนที่มีผู้เสนอให้ผลักดันปราสาทเขาปลายบัด 2 ให้เป็นมรดกโลกร่วมกับปราสาทหินพิมาย พนมรุ้ง และเมืองต่ำ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้การทวงคืนโพธิสัตว์ง่ายขึ้นนั้น “วสันต์ เทพสุริยานนท์” หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เผยว่า แท้จริงแล้ว กรมศิลปากรมีแผนจะผนวกปราสาทแห่งนี้เข้าร่วมด้วยอยู่แล้ว อยู่ในขั้นรวบรวมข้อมูล เรียกเสียงเฮจากกลุ่มผู้ผลักดันได้ระลอกหนึ่ง

อดีตอันรุ่งโรจน์ของอารยธรรมเขมรโบราณ กับเหตุการณ์ลักลอบขุดสมบัติมหาศาล มาจนถึงความร่วงโรยของปราสาทที่ถูกหลงลืมจากความทรงจำของคนไทย กลายเป็นภาพซ้อนทับของประวัติศาสตร์อันย้อนแย้ง ทว่า นำมาซึ่งกระแสทวงคืนที่ต้องเกาะติดอย่างไม่กะพริบตา !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image