อาจารย์ศิลปากรหนุนทวงคืน’โพธิสัตว์ประโคนชัย’ ชี้หลักฐานพุทธศาสนาในไทยกว่าพันปี

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิแทน นิวยอร์ก ภาพถ่ายโดย ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ , ภาพเล็ก ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชียวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ

ความคืบหน้ากรณีทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งถูกบริษัทแห่งหนึ่งนำมาประมูลขาย โดยมีผู้ซื้อไปในราคา 92,500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมานักวิจัยรายหนึ่งในสหรัฐเปิดเผยข้อมูลว่าในพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ยังมีโบราณวัตถุที่ถูกระบุว่าได้มาจาก อ.ประโคนชัย และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ ที่ได้รับยกย่องว่างดงามที่สุด จากนั้นนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อผลักดันการทวงคืน อีกทั้งทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์และข้อความปลุกสำนึกในการหวงแหนมรดกวัฒนธรรมนั้น

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ กล่าวว่า หากสามารถนำประติมากรรมพระโพธิสัตว์กลับมาได้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพุทธศาสนาในดินแดนไทยที่ประดิษฐานอย่างมั่นคงมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-13 หลังจากนั้นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจึงค่อยรุ่งเรือง

“นอกจากนี้ ปราสาทปลายบัด 2 ซึ่งเป็นสถานที่พบพระโพธิสัตว์ ยังมีหลักฐานสำคัญคือศิลาจารึก เนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงพระเจ้าศรีอีศานวรมเทวะ มีพระบรมราชโองการต่อขุนนาง ไม่ให้ผู้ครองพื้นที่บริเวณนี้ขึ้นต่อผู้ปกครองท้องถิ่น และห้ามผู้ปกครองท้องถิ่นเรียกร้องเอาทรัพย์สินต่างๆ ด้วย ศักราชในจารึกระบุมหาศักราช 847 ตรงกับ พ.ศ.1468 ซึ่งได้อ่าน-แปลใหม่หลังจากกรมศิลปากรเคยเผยแพร่คำอ่านและคำแปลในวารสารศิลปากร ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2544” ผศ.ดร.กังวลกล่าว และว่า ได้ไปสืบค้นข้อมูลจากหนังสือแผนที่โบราณคดี จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2532 พบว่ามีเนื้อหากล่าวถึงการถูกระเบิดโดยนักขุดหาสมบัติ ทั้งยังระบุถึงการขายรูปเคารพในศาสนามหายาน ก็คือพระโพธิสัตว์ ข้อความในหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า “ปราสาทปลายบัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถาน แต่ถูกระเบิดทำลายโดยนักขุดหาโบราณวัตถุเพื่อประโยชน์ส่วนตน ทำให้รูปลักษณ์ของปราสาทชำรุด จึงปรากฏเฉพาะบางส่วนของปราสาทเท่านั้น ทราบว่านักขุดหาโบราณวัตถุ ได้นำเอารูปเคารพในพุทธศาสนามหายานจำนวนหนึ่งไปจำหน่าย บางองค์อาจไปอยู่ต่างประเทศแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image