จนท.ศิลปากรเข้าซ่อมแซม ภาพเขียนสีถูกเขียนทับแล้ว เตรียมทดสอบลอกสีไม่ให้กระทบฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 มีนาคม เจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิทยาศาสตร์ เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร ได้เดินทางมายังภาพเขียนสีประตูผา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อทำการตรวจสอบสภาพปัญหา และเริ่มดำเนินการอนุรักษ์ภาพเขียนสีดังกล่าว ที่ถูกขีดเขียนลงไปในผาหิน และภาพเขียนสีโบราณ ซึ่งมีอายุเก่าแก่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งคาดว่าน่าจะราว 2,800 – 3,000 ปี โดยเป็นภาพเขียนสีที่มีความยาวสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภาพเขียนสีที่ถูกขีดเขียนทับลงไปนั้น ทาง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้เคยเดินทางมาตรวจสอบสภาพเบื้องต้น และพบเห็นปัญหากับตา ว่า ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และถือว่าส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสีแห่งนี้อย่างมาก จึงสั่งให้ทุกฝ่ายเร่งเข้าตรวจสอบ และเร่งดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมโดยเร็ว เพราะถือว่าจะเป็นการสร้างความเสื่อมค่าของภาพเขียนสีโบราณแห่งนี้

โดยในการเร่งเข้าดำเนินการแก้ไข และซ่อมแซมในครั้งนี้นั้น ทางเจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิทยาศาสตร์ เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร ได้เริ่มในจุดที่มีการขีดเขียนข้อความสีดำลงทับบริเวณภาพเขียนสีโบราณประตูผาก่อน เพื่อทดสอบน้ำยาทางเคมีวิทยาศาสตร์ ว่า จะสามารถลอกสีดำที่เขียนทับลงไปออกได้หรือไม่ โดยที่จะไม่ทำให้ภาพเขียนสีโบราณ ซึ่งเป็นสีแดงให้หลุดลอกออกมาพร้อมกันด้วย ซึ่งหากดำเนินการได้ก็จะเริ่มดำเนินการทุกจุด ก่อนที่จะไปแก้ไขซ่อมแซมในจุดอื่นที่เขียนตามหน้าผาหิน ซึ่งนับรวมกว่า 30 จุด เพื่อให้ภาพเขียนสีโบราณประตูผาแห่งนี้กลับมามีคุณค่าทางโบราณสถานอีกครั้ง และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีสืบไป

สำหรับภาพเขียนสีประตูผา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง แห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับศาลเจ้าพ่อประตูผา ริมถนนสายลำปาง-งาว-พะเยา โดยเป็นหน้าผาหินปูนที่สวยงาม และมีความใหญ่สูงชันประมาณ 80-90 องศา โดยมีความสูงกว่า 50 เมตร ซึ่งนอกจากภาพเขียนสีที่พบแล้ว บริเวณใกล้เคียงยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีถ้ำที่ใช้เป็นหลุมศพของกลุ่มคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ถูกค้นพบโครงกระดูก โลงศพไม้ และมีการห่อศพด้วยใบไม้ และเปลือกไม้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมของคนในอดีตยุคก่อนประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ในการค้นพบในอดีต ยังพบภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และลายจุด ลูกปัดหิน กำไลหิน เส้นใยพืช ผ้า เครื่องจักสาน และเครื่องมือหิน เครื่องมือกระดูก ทัพพีไม้เขียนลายสีแดง ดินเทศ และหินสีแดง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้เขียนภาพสีในอดีต นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ สำหรับปัจจุบันนี้เส้นทางขึ้นไปเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดี ได้รับการพัฒนาให้มีทางเดินขึ้นไปอย่างสะดวกสบาย จำนวน 200 ขั้นบันได ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่วิ่งผ่านเส้นทางดังกล่าวได้แวะขึ้นไปเที่ยวชม เพราะเป็นภาพเขียนสีโบราณที่หาชมได้ยาก โดยภาพเขียนสีแบ่งเป็น 7 กลุ่ม นับภาพโบราณได้ประมาณ 1,883 ภาพ โดยสามารถจำแนกประเภทของภาพได้ 1,239 ภาพ จึงถูกกล่าวกันว่าเป็นภาพโบราณที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

201603091638433-20110510201751

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image