วิจารณ์หนังสองแนว The Hitman’s Bodyguard และ The Beguiled

วิจารณ์หนังสองแนว The Hitman’s Bodyguard และ The Beguiled

The Hitman’s Bodyguard: แสบซ่าส์ แบบว่าบอดี้การ์ด

ถ้าอยากจะพักสมองดูหนังสบายๆ ไม่ต้องคิดถึงตรรกะ เหตุผล ความสมจริง ต้องเรื่องนี้เลย หนังแอคชั่นคอมเมดี้ ที่ฮีโร่จากค่าย มาร์เวล โคจรมาพบกัน ไรอัน เรย์โนลด์ (Deadpool) แซมมวล แอล แจ็คสัน (Nick Fury) แถมด้วย อิโลดี ยัง (Elektra) จากซีรีส์ Daredevil

หนังยาวไปหน่อยเกือบสองชั่วโมง แต่พอดูไหว มุขตลกของหนังก็แล้วแต่จริตคนดูแต่ละคน ที่ผู้วิจารณ์ชอบมากได้แก่ โปสเตอร์โฆษณาที่เป็นภาพเรย์โนลด์อุ้มแจ็คสัน ล้อหนังรักอมตะ The Bodyguard ที่เควิน คอสต์เนอร์ อุ้ม วิทนีย์ ฮุสตัน ซ้ำหนังโฆษณายังนำเพลง I Will Always Love You มาประกอบฉากยิงกันสนั่นเมือง ดูแล้วขำได้อารมณ์ที่ตรงข้ามกันกับเนื้อเรื่อง

เพราะในหนังเรื่องนี้ บอดี้การ์ดหน้าตาย ไมเคิล ไบร์ซ (ไรอัน เรย์โนลด์) ถูกส่งมาอารักขานักฆ่าหน้าดำ ดาเรียส คินเดค (แซมมวล แอล แจ็คสัน) ซึ่งเป็นคู่อริและเกลียดขี้หน้ากันอย่างรุนแรง เพราะโดยอาชีพ ก็อยู่กันคนละขั้ว ฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ปกป้องไม่ให้คนถูกฆ่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นนักฆ่าระดับพระกาฬ ที่เคยพยายามฆ่าบอดี้การ์ดคนนี้มาแล้วถึง 28 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ หนังโปรยว่า Everyone’s out to get them … If they don’t kill each other first.

คู่กัดทั้งสองจำใจต้องเดินทางร่วมกันจากอังกฤษไปกรุงเฮก เพื่อไปเป็นพยานศาลกล่าวโทษประธานาธิบดีเผด็จการภายใน 24 ชั่วโมง ระหว่างทางต้องเผชิญกับนักฆ่ารับจ้างที่ฝ่ายผู้ร้ายส่งมากำจัดเขาทั้งสอง ทำให้ทั้งคู่ต้องหันมาจับมือเพื่อปกป้องกันและกัน

Advertisement

ระหว่างคู่หูไม้เบื่อไม้เมาที่ทั้งความคิดและพฤติกรรมต่างกันโดยสิ้นเชิงนี้ คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเชียร์ไบร์ซมากกว่าคินเดค เพราะทั้งรูปลักษณ์และอาชีพ ก็น่าจะเลือกข้างไม่ยากนัก แต่มีคำพูดน่าคิดจากคินเดคว่า ชายที่ฆ่าคนชั่ว กับ ชายที่ปกป้องคนชั่ว คนไหนเลวกว่ากัน หนังเหมือนจะบอกว่า เราไม่ควรมองคนแต่เพียงผิวเผิน

ฉากแอคชั่นหนังเรื่องนี้โดดเด่นและจัดเต็ม (พอๆ กับบทสนทนาที่หยาบคายสุดๆ ตะโกนโหวกเหวกทะเลาะกันโดยมีคำ Mother F*cker ที่พ่นออกมานับครั้งไม่ถ้วน จนหนังได้เรท R) หนังไล่ล่าฆ่าฟันกันแบบไม่ให้คนดูหยุดพัก โดยเฉพาะฉากท้ายๆ ที่ใช้ทั้งมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และเรือ ไล่ซิ่งยิงกันทั้งบนถนนและในลำคลอง รถรา บ้านเรือนพังพินาศ เป็นฉากแอคชั่นบ้าระห่ำที่ดูสนุก แต่ไม่ตื่นเต้นหรือชวนลุ้น เพราะพล็อตเรื่องเดาง่าย และชัดเจนอยู่แล้วว่า ในที่สุดไบรซ์ก็จะสามารถพาคินเดคไปขึ้นศาลเพื่อกล่าวโทษประธานาธิบดีผู้ชั่วร้ายได้ทัน จึงเป็นฉากที่ดูเอามัน แต่คงถูกใจคอหนังแนวนี้ที่ได้ดูความพินาศสันตะโรอย่างจุใจ

ไรอัน เรย์โนลด์ และแซมมวล แอล แจ็คสัน รับส่งมุขได้ถึงใจและเป็นธรรมชาติ คนหนึ่งหน้าตาย คนหนี่งกวนทีน มีดาราคนหนึ่งที่โผล่มาเป็นน้ำจิ้มแต่เซ็กซี่น่าดูมากคือ ซัลมา ฮาเยก ที่แสดงเป็นซอนย่า เมียคินเดค มุขปากจัดด่าผัวไฟแลบของเธอ ตลก และเข้าได้ดีกับผัวแสนถ่อยและหยาบคายแบบคินเดค

Advertisement

หนังมีประเด็นสนุกๆ เกี่ยวกับความรักระหว่างคู่รักนักฆ่า คินเดคกับเมียปากตลาดที่ด่าผัวด้วยความรัก กับ คู่รักที่กำลังหมางใจกันระหว่าง ไบรซ์ และ รุสเซล ตำรวจสาว ที่กว่าจะเข้าใจกันต้องให้นักฆ่าเป็นผู้โค้ชชิ่ง เป็นฟิลที่ให้อารมณ์แบบตลกๆ

เพลงประกอบหนังเรื่องนี้น่าฟัง มีหลายเพลง ทั้งคึกคักและไพเราะ นอกจากเพลง Hello ของ ไลโอเนล ริชชี่ ที่ใช้ประกอบฉากที่คินเดคพบซอนย่าครั้งแรก ในบรรยากาศที่ซอนย่ากำลังตะลุมบอนกับผู้ชายที่มารังแกเธอ และเป็นเพลงที่คินเดคร้องให้ซอนย่าฟังทางโทรศัพท์แล้ว ยังมีเพลงอื่นๆ เช่น I Want To Know What Love Is เพลง Nobody Gets Out Alive ที่แจ็คสันร้องเอง

The Hitman’s Bodyguard เป็นหนังตลาดที่ดูได้เพลินๆ นอกจากแอคชั่นมันโหดเลือดสาดกระจายที่หลังฉากเป็นโลเคชั่นสวยงามของอัมสเตอร์ดัมแล้ว ยังมีมุขตลกที่ขำบ้าง เลี่ยนบ้าง แต่ก็ไม่เลวนัก ถ้าจะพักสมองและหลบฝนเข้าไปชม

The Beguiled: เล่ห์ลวง พิศวาส ปรารถนา

The Beguiled เป็นหนังย้อนยุคที่เกิดขึ้นช่วงสงครามกลางเมืองปี 1864 เรื่องราวของทหารฝ่ายเหนือบาดเจ็บ ที่ถูกพบและพาไปรักษาตัวที่โรงเรียนประจำสตรีซึ่งมีแต่ผู้หญิงล้วน อะไรจะเกิดขึ้นในบ้านที่มีแต่ชาย 1 หญิง 7

ดูจากหนังตัวอย่าง เหมือนจะเป็นหนังดราม่าระทึกขวัญที่น่าจะรุนแรงและมีเรื่องเพศ แต่ขอสปอยล์เลยว่า หนังไม่ใช่แบบที่คิด เป็นหนังน่าสนใจที่ไม่ปฏิเสธว่ามีบรรยากาศความตึงเครียดทางเพศ แต่ถ้าคาดหวังว่าจะเห็นความรุนแรง หรือซีนร้อนแรงเรื่องเพศละก็ คงต้องไปดูเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่งานกำกับหนังของโซเฟีย คอปโปลา ผู้กำกับหญิง Celebrity ที่หนังของเธอเป็นหนังสวยมีรสนิยม และสะท้อนความเป็นเชื้อไม่ทิ้งแถวในฐานะลูกสาวของผู้กำกับหนังยิ่งใหญ่ในตำนาน ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ผู้กำกับหนัง The Godfather ทั้งสามภาค

คอปโปลาได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2017 ผลงานของเธอมีลายเซ็นโดดเด่น และมีสไตล์ของตัวเอง นอกจากชอบเขียนบทเองแล้ว หนังเกือบทุกเรื่องของเธอ จะมีความเป็น Visual Aesthetic (สุนทรีย์ศาสตร์ด้านภาพ) สูง

ในหนัง The Beguiled มีงานกำกับภาพที่สวยงามซึ่งถ่ายทำโดยใช้แสงจากธรรมชาติและแสงเทียนเป็นหลัก มีการใช้ควันบางๆ เพื่อเพิ่มบรรยากาศ ภาพที่ออกมานุ่มนวล สมเป็นหนังยุคเก่า และให้ความรู้สึกเหงาๆ สอดคล้องกับอารมณ์หญิงต่างวัยทั้ง 7 คน ที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะภาวะสงคราม บรรยากาศป่าหลังโรงเรียนดูลึกลับเกือบจะเหมือนป่าช้า สื่อถึงความดำมืดของสงคราม และอาจจะสัญชาตญาณดิบในจิตใจคน

The Beguiled ดัดแปลงจากนิยายแนวกอธิค เรื่อง A Painted Devil ของโธมัส พี คัลลิแนน เคยถูกสร้างเป็นหนังมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1971 โดยผู้กำกับ ดอน ซีเกล นำแสดงโดย คลินท์ อีสต์วูด และเคยสร้างเป็นเวอร์ชั่นหนังไทย เมื่อปี 1986 ในชื่อว่า พิศวาสซาตาน กำกับและแสดงนำโดย พิศาล อัครเศรณี โดยเปลี่ยนจากทหารบาดเจ็บ เป็นนักโทษหนุ่มที่แหกคุกหนีออกมาเจอคฤหาสน์กลางป่าที่มีแต่สาวๆ อาศัยอยู่

ตัวละครหญิงในหนัง The Beguiled ทั้ง 7 คน มีชีวิตที่โดดเดี่ยว กิจวัตรประจำวันซ้ำซาก ตื่นนอน ทำงานในสวน เรียนภาษา เล่นดนตรี กินมื้อค่ำ สวดมนต์ เข้านอน ไม่เคยใกล้ชิดกับผู้ชาย การมาของจอห์น แมคเบอร์นีย์ (โคลิน ฟาร์เรลล์) ทหารฝ่ายเหนือผู้บาดเจ็บ ปลุกสัญชาตญาณทางเพศของพวกเธอให้เกิดขึ้น ที่เป็นสาวแล้วก็หวั่นไหว ไขว่คว้าหารัก อยากรู้อยากลอง ที่เป็นเด็กก็ตื่นเต้นเหมือนได้พี่ชายเพิ่มมาอีกหนึ่งคน

ปฏิกิริยาของตัวละครเอกหญิง 3 คน มาธาร์ ครูใหญ่ (นิโคล คิดแมน) เอ็ดวินา ครูสาวผู้เรียบร้อย (เคิร์สเตน ดันสต์) และอลิเซีย นักเรียนสาวผู้มีจริต แสดงออกแตกต่างกันตามวัย

คนดูจะไม่เห็นการเรียกร้องความสนใจโดยแสดงออกทางกริยาวาจาที่ก้าวร้าว ชิงดีชิงเด่น แต่ตัวละครจะใช้แววตาและภาษากาย ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก พูดภาษาบ้านๆ คือ การให้ท่าทหารหนุ่มจะทำแบบเนียนๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่ซ่อนนัยยะ เช่น การอ้อยอิ่งเช็ดตัวผู้บาดเจ็บอย่างประณีต การแข่งกันเอาใจด้วยการบอกว่า อาหารที่ชายหนุ่มชื่นชอบ เธอเหล่านั้นมีส่วนร่วมอย่างไร ดูมีมารยาท และสมเป็นโรงเรียนที่ฝึกให้เด็กสาวมีความเป็นกุลสตรี

และความเป็น Stylish ของผู้กำกับ ทำให้เธอกำหนดการแต่งกายของตัวละครหญิงอย่างมีเอกลักษณ์ สวยงามเข้ากับธีมของหนังแต่ไม่เชย มาธาร์เป็นครูใหญ่ ชุดของเธอมักจะติดคอ แบบเรียบ กึ่งลึกลับและแสดงอำนาจในฐานะผู้เหนือกว่า เอ็ดวินา ผู้ตกอยู่ในความรัก แต่งกายออกแนวหวาน ถ้าเสื้อติดคอก็จะมีเข็มกลัด หรือริบบิ้น เพื่อให้ชายที่บอกรักเธอ ได้เห็นถึงความอ่อนหวานและความเป็นหญิง ในขณะที่อลิเซียจะใส่ชุดระบายๆ ทำผมรุ่งริ่ง เพื่อสื่อถึงจริตจกร้านของเธอ

หนังยังดำดิ่งไปสำรวจลักษณะคล้ายสัตว์ของพฤติกรรมมนุษย์ ที่เมื่อถูกกระตุ้น ก็ถึงจุดเดือดที่ระเบิดออกมาเป็นพลังที่แสนจะน่ากลัว สมดังที่หนังต้องการจะสื่อว่า “ความรุนแรงในหัวใจมนุษย์เป็นธีมที่คงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องราวของหนังจะเกิดขึ้นในยุคสมัยใด”

The Beguiled เป็นหนังย้อนยุคที่ดูคลาสสิค ทั้งบรรยากาศในหนัง งานภาพ การออกแบบเครื่องแต่งกาย แถมยังมีเพลง Aura Lee ที่เอลวิสนำไปดัดแปลงเป็นเพลง Love Me Tender เพลงอมตะแสนไพเราะที่คนชื่นชอบมาจนทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image