สกู๊ป น.1 : แกะรอยเลื่อยคอ ‘พระนาคปรก’ มรดก ‘ปลายบัด’

ยิ่งขุดลึก ยิ่งค้นหา ก็ยิ่งพบเค้าลางความรุ่งโรจน์ของอารยธรรมเก่าแก่บริเวณเขาปลายบัด อันเป็นที่ตั้งของปราสาทปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์อายุกว่า 1,200 ปี ที่มีกระแสการทวงคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยเชื่อว่าถูกลักลอบนำออกนอกประเทศไทยในช่วงสงครามเวียดนาม

ล่าสุด “มติชน” ได้ลงพื้นที่สำรวจและสืบเสาะข้อมูลจากชาวบ้านผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ลักลอบขุดปราสาทอย่างมโหฬารในอดีต กลับได้พบเรื่องราวเหลือเชื่อไม่ต่างจากภาพยนตร์ ดังเช่นปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านยายแย้มพัฒนาที่ไม่เพียงเล่าถึงการพบพระ “หลายแขน” ซึ่งหมายถึงพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน ยังล้วนเล่าตรงกันถึง “พระพุทธรูปนาคปรก” องค์ใหญ่ที่ถูกนำไปซ่อนไว้ในบ่อน้ำ จากนั้นเคลื่อนย้ายไปยังศาลาในหมู่บ้าน ก่อนจะถูกตำรวจจับ เจ้าหน้าที่ราชการนำของกลางไป แล้วชาวบ้านก็ไม่ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปดังกล่าวอีกเลย

“ยุคนั้นมีการพบพระองค์ใหญ่ มีการช่วยกันหามลงมาจากเขาปลายบัดในตอนกลางคืน เพราะต้องหลบตำรวจ ส่วนพระโพธิสัตว์องค์เล็กๆ วางรวมอยู่เป็นกอง มีชาวบ้านรับจัดหาของไปขายนายทุน ส่วนใหญ่ตายไปหมดแล้ว” ตาเพือย พลจั่นสุข ในวัย 80 ปี เล่าย้อนถึงความทรงจำครั้งเก่าที่ตนเองไม่เคยลืม เพราะเป็นเรื่องใหญ่โตในยุคนั้น ที่รุ่นลูกหลานในปัจจุบันยังได้ยินสืบมาจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็น “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” ของชาวบ้านที่ไม่มีจดจารในเอกสารใด

(จากซ้าย) นายเพือย พลจั่นสุข, นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ , นางพิม ดีมาก
(จากซ้าย) นายเพือย พลจั่นสุข, นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ , นางพิม ดีมาก

พยานปากเอกอีกรายคือยายพิม ดีมาก วัย 79 ปี ที่ยืนยันในเหตุการณ์นี้ เพราะบิดาคือนายฤทธิ์ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่โดนตำรวจจับขังคุกไป 3-4 วัน

Advertisement

“ตอนนั้นมีการขุดกันเยอะ มีพระพุทธรูปนาคปรกทำจากหินสีเขียวสวยมาก แทบไม่มีรอยแตกรอยบิ่นเลย บางองค์มีหลายแขน เวลาขุดๆ อยู่แล้วตำรวจมา ต่างคนต่างวิ่งไม่คิดชีวิต พอได้ของมาแล้ว บางคนเอาไปขาย ได้เงินมาซื้อรถขับ”

ยายพิมยังเล่ารายละเอียดปลีกย่อยที่ชวนตื่นเต้นว่า น้องเขยซึ่งขณะนั้นบวชเป็นพระสงฆ์ ได้รับการนิมนต์ให้ไปดูพระพุทธรูปที่ยึดได้ บอกว่ามีคนพยายามตัดเศียรพระ แต่ไม่สำเร็จ เชื่อว่าถ้าเห็นอีกครั้ง จะจำได้โดยให้สังเกตที่พระศอ จะมีรอยบากจากของมีคม

นอกจากนี้มีชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งจำได้ว่า ผู้ที่ขุดพระพุทธรูปดังกล่าว ชื่อ ตาสิง อยู่บ้านโนนเจริญ ซึ่งเป็นชุมชนลาวติดกับบ้านยายแย้มที่เป็นชุมชนเขมร “มติชน” จึงออกติดตามตัวพยานสำคัญรายนี้จนพบตัว

Advertisement

ตาสิง วิเวก ในวัย 77 ปี พยักหน้ายอมรับว่าเป็นคนขุดพบพระพุทธรูปนาคปรก พร้อมด้วยสีหน้าแปลกใจที่เวลาผ่านไปกว่า 50 ปีแล้ว กลับมีคนต่างถิ่นมาถามถึงเรื่องดังกล่าว

“เพื่อนมันชวนขึ้นไปขุดบนเขาปลายบัด มีกัน 5-6 คน ก่อนขุดเตรียมธูปเทียน ดอกไม้บูชาเจ้าที่เจ้าทางขอให้เจอพระจะได้เอาไว้บูชาในหมู่บ้าน พอขุดหลุมหน้าปราสาทลึกประมาณเข่าก็เจอพระนาคปรกนอนตะแคงอยู่ เลยเอาท่อนไม้มีเชือกรัดพระช่วยกันหามลงจากเขา หนักมาก ทางไม่ดีด้วย เลยลื่นล้มกางเกงขาดที่ก้นเลย พอถึงตีนเขาช่วยกันแอบซ่อนไว้แถวริมคลองปูน แต่กลางคืนมันออกแสง ชาวบ้านรู้กันหมด เลยเอาขึ้นมาตั้งที่ศาลากลางบ้าน ราวๆ 2 วัน นายอำเภอชื่อสมพร มาถามหาคนขุด เพราะมีคนไปแจ้ง ทุกคนหนีกันหมด ตาก็กระโจนลงหลังบ้านเลยรอด มารู้ทีหลังว่ามีเพื่อนถูกจับไป 2 คนชื่อ พองกับเคน ถูกขังอยู่ 3-4 วัน เขาก็ปล่อยออกมา”

ชาวบ้านตำบลยายแย้มพัฒนา อำเภอประโคนชัย ให้ข้อมูลเรื่องการลักลอบขุดโบราณวัตถุบนเขาปลายบัดเมื่อ 50 ปีก่อน (คนกลาง-นายสิง วิเวก หนึ่งในผู้ร่วมขุดจากการชักชวนของเพื่อน ผู้พบพระพุทธรูปนาคปรก)
ชาวบ้านตำบลยายแย้มพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ให้ข้อมูลเรื่องการลักลอบขุดโบราณวัตถุบนเขาปลายบัดเมื่อ 50 ปีก่อน (คนกลาง-นายสิง วิเวก หนึ่งในผู้ร่วมขุดจากการชักชวนของเพื่อน ผู้พบพระพุทธรูปนาคปรก)

เพื่อยืนยันคำบอกเล่าเหล่านี้ เมื่อนักวิชาการผู้เคลื่อนไหวผลักดันทวงคืนโพธิสัตว์อย่าง ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นำภาพพระพุทธรูปนาคปรกที่ปรากฏในบทความชิ้นหนึ่งให้ตาเพือย ยายพิม นายสิง และชาวบ้านคนอื่นๆ ได้ชม ทุกคนจำได้แม่นยำว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวกัน

บทความดังกล่าวก็คือผลงานของเอ็มมา ซี บังเกอร์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ ที่เขียนเรื่องประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอีสานใต้ โดยมุ่งเน้นไปที่พระโพธิสัตว์และพระพุทธรูปจากปราสาทปลายบัดไว้ในวารสารอาร์ต ออฟเอเชีย ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายน ค.ศ.2002 ระบุที่อยู่ปัจจุบันของพระพุทธรูปนาคปรกองค์นั้นว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร” กรุงเทพฯ

“มติชน” ได้เดินทางตามลายแทงไปยัง พช.พระนคร มุ่งหน้าอาคารมหาสุรสิงหนาทอันเป็นที่ตั้งของห้องศิลปะลพบุรี ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุภายใต้ศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย เพื่อค้นหาพระพุทธรูปตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน และได้พบพระนาคปรกองค์หนึ่งซึ่งป้ายจัดแสดงระบุเพียงสั้นๆ ว่ามาจากบุรีรัมย์

พระนาคปรก ปลายบัด

พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ขมวดพระเกศาสลักเป็นก้นหอยแนบกับพระเศียร ปีกพระนาสิกกว้าง พระโอษฐ์ใหญ่ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบแนบพระวรกาย ซึ่งสามารถกำหนดอายุอยู่ในศิลปะเขมรแบบบาปวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่แสดงความเป็นท้องถิ่น เช่น ขอบจีวรที่ห่มเฉียงพาดพระวรกายยาวลงมาถึงขอบสบง นาค 7 เศียร แผ่พังพานปรกพระวรกาย ขนดนาค 3 ชั้นสลักเสลาเป็นเกล็ดงดงามราวกับมีชีวิต พร้อมลวดลายด้านหลังอันวิจิตรบรรจง

เมื่อค้นหาข้อมูลตามทะเบียนของทางพิพิธภัณฑ์ ปรากฏชื่อนายสมพร พงษ์สวัสดิ์ นายอำเภอละหายทราย จ.บุรีรัมย์ มอบให้หน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย ในนามของนายพอง ยังมี และนายเคน บุ้งทอง ราษฎรบ้านยายแย้ม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2509

เมื่อสังเกตดูพระศอตามคำบอกของชาวบ้านก็พบรอยเลื่อยหรือรอยบากจากของมีคมทั้งด้านหน้าและหลัง คล้ายจงใจตัดเศียรแต่ไม่สำเร็จ ข้อมูลเหล่านี้ตรงตามปากคำของชาวบ้านทุกประการ ยกเว้นอย่างเดียวคือ ไม่มีชาวบ้านคนใดรู้เลยว่าพระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ที่ พช.พระนคร

“กรมศิลปากรต้องทำงานเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ เพื่อเรียกศรัทธาของคนในชุมชนกลับคืน ไม่ใช่เอาของไปเก็บไว้ให้คนที่ไม่เคยได้รับรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ดู และได้รับรู้เพียงแค่ความงามของโบราณวัตถุเท่านั้น ควรมีการจำลองพระนาคปรกองค์นี้กลับคืนท้องถิ่นเพื่อให้  ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชาตามความประสงค์ของชุมชน จะเป็นการปลูกจิตสำนึกให้อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ” นี่คือความเห็นของทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการผู้ผลักดันการทวงคืนโพธิสัตว์

พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกรุสมบัติมหาศาลบนเขาปลายบัด ซึ่งไม่ใช่เพียงมูลค่าที่วัดกันจากเม็ดเงิน หากแต่เป็นสิ่งสะท้อนถึงความร่ำรวยทางวัฒนธรรมมาแต่ครั้งโบราณกาล และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ควรได้รับการเผยแพร่ความรู้กลับสู่ชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image