ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
หนองหานหลวง อ. เมือง จ. สกลนคร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีน้ำเติมตลอดปีจากแหล่งน้ำหลายสายจากเทือกเขาภูพาน และจากที่อื่นๆ จึงมีชุมชนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้วอยู่โดยรอบหนองหานหลวง แล้วมีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่อยู่ริมหนองตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000
มีศาสนสถานสำคัญๆ อยู่โดยรอบ เช่น พระธาตุเชิงชุม (ทรงบัวเหลี่ยม สร้างครอบศาสนาสถานเก่าที่มีมาก่อน), พระธาตุนารายณ์เจงเวง ฯลฯ
มีนิทานหนองหานหลวง อยู่ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) จะสรุปมาดังนี้
นาคสองตัวเป็นเพื่อนมิตรสนิทกันมา มีหลักแหล่งอยู่ในทะเลสาบหนองแส (เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน)
ตัวหนึ่งเป็นใหญ่อยู่หัวหนอง อีกตัวหนึ่งเป็นใหญ่ท้ายหนอง ชื่อธนะมูลนาค เรียกสั้นๆ ว่า มูลนาค มีหลานอยู่ด้วยชื่อชีวายนาค เรียกสั้นๆ ว่า ชีนาค
ต่อมานาคสองตัวทะเลาะกันใหญ่โตเรื่องแบ่งปันอาหาร แล้ววิวาทบาดถลุงกัดกันในหนอง จนถูกไล่จากเทวดาผู้เป็นใหญ่ให้ไปอยู่ที่อื่น
มูลนาคหนีลงทางทิศใต้ ถึงแก่งหลี่ผีไปต่อไม่ได้ จึงคุ้ยควักดินเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเป็นแม่น้ำมูล
ชีนาคผู้หลานคุ้ยควักดินจากแม่น้ำมูลอ้อมไปเป็นแม่น้ำชี แล้วเป็นหนองหานหลวง (สกลนคร) และหนองหานน้อย (อุดรธานี)
นิทานนาคแยกย้ายกันไป เป็นสัญลักษณ์กลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมจากตอนใต้ของจีน เคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอีสานรอบหนองหานหลวง อันอุดมสมบูรณ์
ต่อจากนั้นจึงขยับขยายโยกย้ายไปที่ต่างๆ เช่น ไปสถาปนาเมืองเวียงจัน
คำอธิบายภาพประกอบ
หนองหานหลวง จ.สกลนคร