กรณีโบราณวัตถุ’เกาะแกร์’ บทเรียนจากกัมพูชา โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

กรณีการทวงคืนโบราณวัตถุที่เป็นคดีครึกโครมไม่น้อยในระยะหลังมานี้หนีไม่พ้นกรณีที่ทางรัฐบาลกัมพูชาดำเนินความพยายามติดตามทวงถามโบราณวัตถุหลายชิ้นจากสถานจัดแสดงงานศิลปะและวัตถุโบราณหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนเป็นโบราณวัตถุที่เชื่อว่าถูกลักลอบนำออกไปขายในต่างประเทศโดยผิดกฎหมายจากแหล่งโบราณคดีสำคัญที่ “นครเกาะแกร์” เมืองหลวงเก่าแก่ในจังหวัดพระวิหาร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาที่มีอายุย้อนหลังไปราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 แห่งอาณาจักรพระนคร

โบราณวัตถุในคดีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ในทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสำนักเอเชียศึกษาแห่งฝรั่งเศส (อีเอฟอีโอ) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกมาจาก “ปราสาทเจน” ในยุคสงครามกลางเมืองในกัมพูชา บางคนถึงกับขนานนามวัตถุโบราณเหล่านี้ว่า “โบราณวัตถุเลือด”

ปราสาทเจน เป็นหนึ่งในกลุ่มปราสาทเก่าแก่จำนวนหลายสิบหลังของนครเกาะแกร์ จัดอยู่ในกลุ่มปราสาททางใต้ของแนวบาราย เช่นเดียวกับปราสาทกรอม และปราสาทพราหมณ์ ทางขวาของบารายคือกลุ่มปราสาทตอนเหนือ ส่วนทางซ้ายคือกลุ่มปราสาทธม

ปราสาทเจน ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนัก เพราะหลงเหลือเพียงซากชนิดแทบไม่เหลือวี่แววขององค์ปราสาท มีเพียงแนวกำแพงรอบนอก กับแนวกำแพงปราสาทให้เห็นอยู่ กับบางส่วนของ “โคปุระ” หรือซุ้มประตูที่ทรุดโทรมเป็นซากปรักหักพัง

Advertisement

“โคปุระ” ของปราสาทเจนมี 2 ด้าน คือ “โคปุระตะวันออก” กับ “โคปุระตะวันตก” ทั้งสองด้านเดิมน่าจะเป็นโถงขนาดใหญ่ สำหรับประดิษฐานรูปสลักหินทรายลอยตัวจำนวนหนึ่งไว้ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก

โคปุระตะวันออก ประดิษฐานประติมากรรมตามท้องเรื่องรามเกียรติ์ หรือรามายณะ มีรูปสลักพระรามประทับยืน จับตามองการต่อสู้ระหว่าง “พาลี” กับ “สุครีพ” และมี “หนุมาน” ทหารเอกแห่งองค์พระรามจับตามองการต่อสู้อยู่ด้วย

รูปสลัก “พระราม” ที่ไร้เศียร ไปโผล่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ถูกระบุว่าได้มาเมื่อปี 2529

Advertisement

รูปหนุมาน ไปปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์ ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ถูกระบุว่าได้มาในปี 2525

ในส่วนของโคปุระตะวันตก เป็นโถงประดิษฐานรูปสลักหินทราย แต่จำลองเหตุการณ์ตามท้องเรื่องมหากาพย์ยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ มหาภารตยุทธ รูปสลักหินลอยตัวขนาดใหญ่สูงท่วมหัว จำลองฉากการต่อสู้ระหว่าง “ภีมะ” กับ “ทุรโยชน์” โดยมีประติมากรรม “4 พี่น้องปาณฑพ” ที่เหลือ นั่งเป็นผู้ชมคอยระวังอยู่ด้านข้างเพื่อให้ความช่วยเหลือ “ภีมะ”

“ภีมะ” ตกอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑสถาน นอร์ตัน ไซมอน ในเมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2519

“ทุรโยชน์” ไปอยู่ในความครอบครองของเอกชนรายหนึ่งในเบลเยียม สถานประมูล “โซธบีส์” นำออกประมูลแต่ต้องถอนการประมูลออกไปเมื่อปี 2554 และกลายเป็นคดีความยืดเยื้อเพราะทางการกัมพูชาติดตามทวงถามเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

รูปสลักพี่น้องปาณฑพในสภาพแยกเป็นชิ้น 4 ชิ้น ทยอยกันตกเป็นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะมหานคร ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างปี 2530-2535

กระบวนการติดตามทวงคืนสมบัติชาติของกัมพูชาเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2554 เหตุผลก็เป็นเพราะสถานประมูลโซธบีส์ เตรียมนำเอารูปสลักทุรโยชน์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของเอกชนรายหนึ่งออกประมูล “เออริค บูร์ดองโน” นักวิชาการโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ที่เคยเดินทางลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีในแหล่งเกาะแกร์ จดจำได้ว่า ในแคตตาล็อกสำหรับการประมูลนั้น น่าจะเป็นองค์ทุรโยชน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของรูปสลักจากปราสาทเจน และแจ้งเรื่องนี้ไปยังองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สำนักงานกัมพูชารับทราบ ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากทางยูเนสโกและทางการกัมพูชาเพื่อคัดค้านการประมูลดังกล่าวและอ้างสิทธิเหนือโบราณวัตถุชิ้นนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่สัมฤทธิผลในทันที ทำให้ในตอนปี 2555 สำนักงานอัยการแห่งรัฐของสหรัฐอเมริกาในฐานะตัวแทนของรัฐบาลกัมพูชา ยื่นฟ้องร้องต่อศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา กล่าวหา โซธบีส์ และผู้ครอบครองรูปสลักหินดังกล่าวว่า ทำผิดกฎหมายด้วยการนำวัตถุโบราณที่ได้มาในครอบครองโดยผิดกฎหมายออกประมูลขาย

คดีนี้ต่อสู้กันยืดเยื้อ ยังไม่มีวี่แววว่าจะลงเอยอย่างหนึ่งอย่างใด โซธบีส์ และเอกชนผู้ครอบครอง ตัดสินยอมเจรจาทำความตกลงกันนอกศาล ยินยอมคืนรูปสลักหินทุรโยชน์ให้กับทางการกัมพูชา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยุติการดำเนินคดี กัมพูชาได้รูปแกะสลักหินนี้กลับคืนเมื่อปี 2556

ระหว่างที่คดีกำลังดำเนินไป ทางการกัมพูชาดำเนินการเจรจาอย่างเงียบๆ กับผู้ครอบครองวัตถุโบราณในกลุ่มเดียวกันจากปราสาทเจนทั้งหมด

พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหานคร นครนิวยอร์ก ตกลงคืนรูปสลักพี่น้องปาณฑพ 2 ชิ้นคืนให้กับทางการกัมพูชาในปี 2556

พิพิธภัณฑสถาน นอร์ตัน ไซมอน ตัดสินใจส่งตัวแทนเดินทางมาเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาถึงกรุงพนมเปญเมื่อเดือนมีนาคมปี 2557 หลังจากตรวจสอบทุกอย่างแล้วตัดสินใจคืนรูปสลักหิน “ภีมะ” ให้กับทางการกัมพูชาในอีกไม่นานต่อมา

พอถึงเดือนพฤษภาคม สถานประมูลคริสตีส์ ที่เตรียมนำประติมากรรมพี่น้องปาณฑพ ชิ้นหนึ่งซึ่งเคยนำออกประมูลมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2543 ครั้งที่สองในปี 2552 มีผู้ประมูลไปในราคา 146,500 ดอลลาร์ (ราว 5.274 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ตัดสินใจยกเลิกการประมูลหลังการหารือกับผู้ครอบครองซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ แล้วมอบรูปแกะสลักหินพี่น้องปาณฑพดังกล่าวคืนให้กับทางการกัมพูชา

รวมแล้วรัฐบาลกัมพูชาได้คืนโบราณวัตถุจากปราสาทเจนที่เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ คืนมาจำนวน 5 ชิ้น จากจำนวนทั้งหมด 9 ชิ้น อีก 2 ชิ้นคือรูปพระรามและหนุมาน อยู่ระหว่างการเจรจา ส่วนอีก 2 ชิ้นที่เหลือนั้นเชื่อกันว่าอยู่ในความครอบครองของเอกชน ที่ยากต่อการแกะรอย สืบสาวแหล่งที่อยู่ให้ชัดเจนได้ในเวลานี้

บทเรียนสำคัญประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากกรณีนครเกาะแกร์นี้ก็คือ การเข้ามาเกี่ยวข้องของนักวิชาการด้านโบราณคดีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอีเอฟอีโอก็ดี หรือแม้กระทั่งยูเนสโกก็ดี ล้วนมีความสำคัญไม่น้อย ทั้งในแง่ของการเริ่มต้นการติดตามทวงถาม และกระบวนการดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีหรือการให้ความเห็น เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ต่างๆ

ยังมีนักโบราณคดีและนักวิชาการด้านศิลปะอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านการ “ปล้นสะดม” สมบัติของชาติอื่นนำมาจัดแสดงเช่นนี้

คดีฟ้องร้องโซธบีส์เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน หากไม่มีความช่างสังเกตและความรอบรู้ของเออริค บูร์ดองโน และหากไม่เกิดคดีโซธบีส์ ก็ยังไม่แน่นักว่า พิพิธภัณฑสถานต่างๆ รวมถึงสถานประมูลคริสตีส์ จะคืนโบราณวัตถุเหล่านั้นคืนมาให้ด้วย “ยินดี” เช่นที่ปรากฏ

คดีโซธบีส์นี้จึงควรได้รับความสนใจ ขยายความกันโดยละเอียดต่อไป

เพราะแน่นอนว่า ระหว่างการพิจารณาคดี มีรายละเอียดหลายสิ่งหลายอย่างถูกเปิดโปงกันออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image