พันท้ายนรสิงห์ เป็นนิทานแทรก พงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าเสือ
จะเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์บ้านพลูหลวง หรืออื่นใดก็ตาม
สุดแต่ใครจะตีความและถกเถียงกันได้
แต่ควรถือเป็นสัญลักษณ์การสำรวจภูมิประเทศเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมยุคนั้น
ให้ย่นระยะเดินทางและเวลาจากปากน้ำท่าจีนและทิศทางนั้น เข้าถึงราชธานีกรุงศรีอยุธยา
ที่พระเจ้าเสือมีส่วนหรือไม่มีก็ได้
โดยมีเทคโนโลยีก้าวหน้าจากยุโรปมาใช้กำหนดแนวตามต้องการ มีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่า “ฝรั่งเศสส่องกล้องแก้วดูให้ตรงปากคลอง” แล้วปักกรุยไม้หลักหมายเป็นสำคัญ
พระเจ้าเสือ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2245-2251) โปรดให้เริ่มขุดคลองมหาชัย เมื่อ พ.ศ. 2248
โดยทำคลองโคกขามที่คดเคี้ยวมากให้ตัดตรงต่อจากคลองสนามชัย ให้เชื่อมแม่น้ำ ท่าจีนกับเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกในการคมนาคมขนส่งทางเรือ (เชื่อมทางบก) กับบ้านเมืองทางตะวันตกและทางใต้
ขุดเสร็จในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ราว พ.ศ. 2264 แล้วให้ชื่อ คลองมหาชัย ทำให้การค้าเลียบชายฝั่งทะเลกับบ้านเมืองต่างๆ ทางอ่าวไทยสะดวกขึ้น
คนยุคอยุธยาหลังจากนั้นได้กินอาหารทะเลของแห้งจากหัวเมือง “ปากใต้” เช่น เมืองเพชรบุรี, เมืองแม่กลอง (สมุทรสงคราม), เมืองท่าจีน (สมุทรสาคร) ขนส่งสะดวกผ่านคลองมหาชัย
เส้นทางประวัติศาสตร์ขึ้นไปจอดเรือขายที่อยุธยา
คลองหัวกระบือ ต่อเนื่องคลองโคกขาม คดเคี้ยวมาก พระเจ้าแผ่นดินยุคอยุธยาจึงให้สำรวจแล้วขุดลัดตัดตรง ตั้งชื่อสืบมาว่าคลองมหาชัย อันเป็นเหตุให้มีนิทานพันท้ายนรสิงห์