‘ภูพระบาท’ อุดรธานี 10 ปี ยังไม่ผ่านมรดกโลก

โบราณสถานทำโดยดัดแปลงแท่งหินธรรมชาติ ที่ถูกกัดกร่อนจากลมและฝน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี) ได้รับประกาศรายชื่อเบื้องต้นของมรดกโลก (กรุงปารีส ฝรั่งเศส) ตั้งแต่ พ.ศ. 2547

จากนั้นต้องจัดทำเอกสารแสดงความสำคัญด้านต่างๆของอุทยานฯ เพื่อขอเป็นมรดกโลก แล้วส่งคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาภายใน 10 ปี

ปีสุดท้ายไทยส่งเกือบไม่ทัน เมื่อ พ.ศ. 2558

Advertisement

คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาเอกสารที่ไทยใช้เวลาทำ 10 ปี มีมติส่งคืนให้แก้ไข เพราะมีข้อสงสัยหลายเรื่องให้ทำเพิ่มเติม เท่ากับที่ทำไปยังใช้ไม่ได้

สะท้อนประสิทธิภาพทั้งวิธีคิดและวิธีทำงานของทางการที่เกี่ยวกับมรดกโลก

ระยะเวลา 10 ปี ที่ไทยว่าจ้างคณะทำงานหลายคณะจัดทำเอกสาร (แต่ทำไม่เสร็จ ต้องจ้างคณะใหม่ไปเรื่อยๆ) ใช้งบประมาณไม่น้อย ซึ่งมีผู้รู้ภายในบอกว่าแต่ละคณะเน้นความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ (ซึ่งมีไม่มากบนภูพระบาท) และคณะกรรมการมรดกโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อย แต่ให้ความสำคัญมากเรื่องประโยชน์ใช้สอยร่วมกันในวิถีของความเป็นมนุษย์

Advertisement

ภูพระบาท เป็นชื่อใหม่ที่ทางการใช้เรียกรวมๆจากเดิมมี 2 ชื่อต่อเนื่องกัน คือ ภูพระบาทบัวบาน กับ ภูพระบาทบัวบก

เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ราว 2,500 ปีมาแล้ว ของกลุ่มชนดั้งเดิมทั้งสองฝั่งโขง มีหินตั้งปักอยู่ทั่วไป

ครั้นรับศาสนาพุทธ ราวหลัง พ.ศ. 1000 ก็ปรับเปลี่ยนหินตั้งเป็นเสมาหิน ยกย่องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐเวียงจัน ที่มีอำนาจเหนือดินแดนแถบนั้น

ราว 50 ปีมาแล้ว เป็นที่รู้ทั่วกันว่าพระสงฆ์จากที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลมักธุดงค์ไปนั่งวิปัสสนาบนภูพระบาท แสดงให้เห็นความสำคัญร่วมกันของคนลุ่มน้ำโขงโดยไม่จำกัดชาติพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image