นักวิชาการห่วงกรมศิลป์มุ่งผิดทาง เหตุภาพเก่าพระโพธิสัตว์-ปลายบัดไม่มี แนะใช้ประวัติศาสตร์บอกเล่า

นักวิชาการห่วงกรมศิลป์มุ่งผิดทาง เหตุภาพเก่าพระโพธิสัตว์-ปลายบัดไม่มี แนะใช้หลักฐานคำบอกเล่าของชาวบ้านที่น่าเชื่อถือ นักวิชาการแนะขอความร่วมมือรัฐบาลอเมริกันคุยพิพิธภัณฑ์ที่นิวยอร์กมอบคืน

ความคืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่ วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อผลักดันการทวงคืน อีกทั้งมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนว คิดการทวงคืนนั้น

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จะนำเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ของปราสาทเขาปลายบัด ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก เช่น ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากสัมภาษณ์ของชาวบ้านในท้องถิ่นเรื่องการลักลอบขุดค้น เมื่อกว่า 50 ปีก่อน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทปลายบัด สถานที่พบประติมากรรมพระโพธิสัตว์ที่คาดว่ามีจำนวนกว่า 300 องค์ ไปมอบให้นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ รองอธิบดีกรมศิลปากร หัวหน้าคณะทำงานในการขอคืนโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินการต่อไป โดยได้นัดหมายกับนายสหภูมิแล้ว จะนำเอกสารทั้งหมดไปมอบให้ที่โรงละครแห่งชาติ บริเวณท้องสนามหลวง ในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม เวลา 10.00 น. เนื่องจากนายสหภูมิจะเดินทางไปร่วมงานเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์อาเซียน ในวันเวลาดังกล่าว

นายทนงศักดิ์กล่าวอีกว่า กรณีนายสหภูมิขอความร่วมมือจากนางอมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) ให้ประสานไปยังภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนนั้น ตนเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของนางอมรา เนื่องจากได้เห็นผลงานมานาน แต่ห่วงเรื่องความสับสนบางประการ โดยทั่วไปมักยึดติดว่าต้องมีหลักฐานภาพถ่ายเท่านั้นจึงจะยืนยันได้ว่าโบราณ วัตถุมาจากปราสาทปลายบัด แต่แท้จริงแล้วประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวบ้านเป็นสิ่งยืนยันตรงกัน ตนใช้เวลาในการลงพื้นที่พูดคุยนานหลายปีจึงได้ข้อมูล นอกจากนี้หนังสือแผนที่ทางโบราณคดี จ.บุรีรัมย์ ทางกรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ.2532 โดยมีนางอมรา ศรีสุชาติ เป็นผู้เรียบเรียงเองนั้น ก็ยังกล่าวถึงหลักฐานที่ถูกลักขุดบนปราสาทเขาปลายบัด 2 อีกด้วย

Advertisement

“ชาวบ้านที่ลักลอบขุดเมื่อปี 2507 ไม่มีกล้องถ่ายรูป หลักฐานรูปถ่ายหาไม่ได้ แต่ก็ยืนยันว่าขุดเจอ หลักฐานที่สำคัญคือพระพุทธรูปนาคปรกที่มีรอยเลื่อยที่คอ คนร้ายพยายามตัดแต่ไม่ขาด เมื่อไปดูที่พระองค์นี้ก็มีรอยที่คอจริง ชาวบ้านไม่เคยเห็นพระองค์นี้เลยตั้งแต่ถูกยึดและนำส่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทำไมยังเล่าได้ถูกต้องตรงกัน เมื่อได้เห็นภาพถ่ายก็ชี้ว่าเป็นองค์เดียวกัน กรมศิลปากรสามารถแสวงหาความจริงได้ไม่ยาก ยกพระองค์นี้กลับไปให้ดู หรือเชิญคนเหล่านี้ไปดูก็รู้ว่ามีเหตุการณ์ลักลอบขุดจริงหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานรูปถ่ายยืนยันและไม่ควรอ้างว่าต้องให้นักโบราณคดีขุด แต่งปราสาทเพื่อหาหลักฐานก่อน คงมีโอกาสเจอน้อยเนื่องจากบนเขาถูกลักขุดจนพรุนทั้งพื้นที่ไปแล้ว หนังสือแผนที่ทางโบราณคดี จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่เอง เมื่อปี 2532 นางอมรา ศรีสุชาติ เป็นผู้เรียบเรียงเอง กล่าวถึงหลักฐานที่ถูกลักขุดบนปราสาทเขาปลายบัด 2 ว่าได้อะไรไปขายยังต่างประเทศ ถามว่ายังจำเป็นต้องยืนยันว่ามีเหตุการณ์นี้จริงอยู่อีกหรือ” นายทนงศักดิ์กล่าว

นายโชติวัฒน์ รุญเจริญ
นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การทวงคืนครั้งนี้เป็นสิทธิ สำนึก และหน้าที่ของคนไทยที่จะติดตามโบราณวัตถุกลับบ้านเกิด ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร อินเดีย จีน อียิปต์ เคยได้โบราณวัตถุคืนจากต่างชาติ สำหรับการทวงคืนโพธิสัตว์ครั้งนี้อาจมีอุปสรรคและความยากลำบากบ้างเป็น ธรรมดา บางคนอาจถอดใจท้อแท้ แต่ก็มีคนไทยจำนวนมากที่หันมาสนใจประเด็นนี้ จึงอยากให้ผู้มีอุดมการณ์แบบเดียวกันมาเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินการครั้ง นี้ ซึ่งจะส่งผลให้โอกาสในการได้คืนมีมากขึ้นไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image