ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องสมุทรสาคร เผยสุดเก่าแก่ ชี้ไทยจีนสัมพันธ์นับพันปี

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 14.00 น. ที่วัดใหญ่จอมปราสาท อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีการถ่ายทอดสดรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “ชุมชนเก่าแก่ แม่น้ำท่าจีน สมุทรสาคร” ผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” มีผู้สนใจรับชมจำนวนมาก

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาคร เดิมเรียกว่า “บ้านท่าจีน” ในอดีตเป็นชุมชนชาวจีนที่มีอาชีพค้าขายทางเรือ เรียกว่า ค้าสำเภา นอกจากนี้ ยังต่อเรือสำเภา และซ่อมเรือสำเภาด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นที่อยู่ของชาวประมงซึ่งออกหาปลาในทะเลอ่าวไทย ปัจจุบันบ้านท่าจีนเป็นย่านวัดใหญ่จอมปราสาทบริเวณเหนือคลองสุนัขหอน ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมติดต่อบ้านเมืองต่างๆ เช่น ทางเหนือ ตามแม่น้ำท่าจีนถึงเมืองนครปฐมและเมืองสุพรรณ, ทางตะวันออก มีคลองครุ และคลองอื่นๆ เชื่อมเมืองบางกอก, ทางตะวันตก มีคลองสุนัขหอน เชื่อมบ้านเมืองทางแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า บ้านท่าจีน ได้รับยกฐานะเป็นเมืองสาครบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ในช่วงหลัง พ.ศ.2000 นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการขุดคลองโคกขาม เป็นคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ในสมัยอยุธยาแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า “คลองมหาชัย”

Advertisement

นายสุจิตต์กล่าวว่า ย้อนหลังไปเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว คือหลัง พ.ศ.500 มีบ้านเมืองเก่าที่สุดบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองที่อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จากนั้นราวหลัง พ.ศ.1000 คือในยุคทวารวดีการค้าโลกมาถึงแม่น้ำท่าจีน โดยมีบ้านเมืองใหญ่ ตั้งห่างจากแม่น้ำท่าจีน มีลำน้ำสาขาเชื่อมการคมนาคม ได้แก่ เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เอกสารจีนเรียกจินหลินหรือกิมหลิน, เมืองกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมืองนครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม เอกสารจีนเรียก “หลั่งยะสิว” และ “เล่งเกียฉู่” หมายถึงย่านลูกหลานมังกร

“เรื่องใหญ่มากคือจีนต้องการแผ่อิทธิพลมาย่านนี้ตั้งแต่ยุคทวารวดี การค้าข้ามคาบสมุทรกับจีนทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนเพราะต้องการมาค้ากับจีน ตรงนี้ทำให้เกิดภาษากลางทางการค้าคือ ภาษาตระกูลไต-ไท แม่น้ำท่าจีนเป็นตัวดึงดูดให้คนจากลุ่มน้ำโขงให้ลงมาเอาทรัพยากร ทำให้เกิดรัฐไทยในภายหลัง หลักฐานมีมาก รวมถึงนิทานซึ่งถูกหลงลืมไป” นายสุจิตต์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรรับเชิญ กล่าวว่า ชื่อ “ท่าฉลอม” มาจากชื่อเรือฉลอม ต่อจากไม้กระดาน ขนาดไม่ใหญ่นัก คาดว่ามาจากภาษาตระกูลมอญ-เขมร ในสมุทรสาครมีวัดสำคัญหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือวัดใหญ่จอมปราสาท เชื่อว่าเก่าถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา มีอุโบสถเก่าและใหม่คู่กัน แผนผังน่าสนใจ เพราะมีการสร้างปรางค์ด้านหลัง ซึ่งแสดงถึงความเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนต้นหรือกลาง อย่างไรก็ตาม รูปแบบศิลปะที่หลงเหลือคือยุคปลายอยุธยาแล้ว เช่น ซุ้มประตูทรงปราสาท ลายกาบบนที่หุ้มเสาประตู กระหนกที่เกิดจากการกรีดปูน เป็นต้น

“สมัยปลายอยุธยา มีเทคโนโลยีการก่อผนังหนา อุโบสถนี้จึงไม่มีเสา เป็นเทคนิคช่างตะวันตกหลังยุคพระนารายณ์ สำหรับเพชรเม็ดงามซึ่งเป็นงานชิ้นเอกที่นี่คือบานประตูสลักไม้ ซึ่งเป็นฝีมือช่างชั้นครู คือ สลักลึกถึงสามชั้น โดยจะเห็นได้ว่าไม่มีลายกระหนกแบบไทยประเพณี ลายพันธุ์พฤกษาขด รูปลิง รูปดอกโบตั๋นมีสัตว์ต่างๆ ด้านล่างมีกวาง เป็นงานช่างแบบจีน” ผศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอดีตตนเคยเดินทางมายังสมุทรสาครโดยนั่งรถไฟสายแม่กลองมากับนายสุจิตต์ ตนได้รับประทานกล้วยแขก ราคา 50 สตางค์ กับโอเลี้ยง หรือกาแฟ ราคา 40 สตางค์ ยุคนั้นยังต้องระวังเขม่าจากรถไฟตกโดนเสื้อ โดยนอกจากรถไฟแล้วยังสามารถเดินทางมาด้วยเส้นทางน้ำซึ่งสมัยก่อนใสสะอาด อุดมสมบูรณ์มาก ยังไม่มีประตูน้ำ มีแม่ค้านำของทะเลจากมหาชัยพายเรือมาขาย เช่น อาหารทะเล และน้ำปลา ตนจำเสียงเรือได้ สมัยยังเด็กยังเคยไปเกาะเรือแล้วเขาก็ให้หอยแมลงภู่มา มีครั้งหนึ่งเจอมุกในหอยด้วย โดยระหว่างทางมามหาชัย แถวท่าข้ามยังมีลิงห้อยโหนตามต้นไม้ให้ดูเพลิน สำหรับเรือที่ใช้เรียกกันว่า “เรือเครื่อง” เป็นเรือรับจ้างแบบเรือแท็กซี่

ทั้งนี้ การถ่ายทอดสดได้รับการสนับสนุนจาก ซาร่า ลดไข้ บรรเทาปวด, โรงพยาบาลบางมด, กรมการพัฒนาชุมชน, จีพีเอส ไอแอม, ทิพยประกันภัย และอีซูซุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image