ศาลพระภูมิ-เจ้าที่ เทพ ผี ใบเสมา และความเปลี่ยนแปลง โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ศาลพระภูมิ (ที่มา http://www.sujitwongthes.com/)

ศาลพระภูมิ-เจ้าที่ เทพ ผี ใบเสมา และความเปลี่ยนแปลง

มักมีผู้ถามผมว่า ความเชื่อเรื่องพระภูมินี่เป็นของศาสนาใด (ซึ่งท่านคงอยากให้แน่ว่าใจว่านี่เป็นของพราหมณ์)

ผมก็ตอบไปว่า “ผี”

พอได้ยินอย่างนั้นหลายท่านคงนึกเถียงผมในใจ จะผีได้ยังไง ก็พระภูมิท่านเป็นถึงองค์เทพเทวดา ก็เห็นท่านแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างเทวดาหรือเจ้า จะสวดจะบูชาก็ยังต้องใช้ภาษาแขกคือบาลี ใช้ “พราหมณ์” ทำพิธี แถมยังมีตำนานแขกๆ เรื่องเจ้ากรุงพาลีมารองรับอีก ท่านจึงน่าจะเป็นความเชื่อพราหมณ์หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะเป็นเทวดาพุทธในจำพวก “รุกขเทวดา”

หลายท่านคิดว่าปัจจุบันนี้คนไทยมีความรู้ดี จึงแยกผีกับเทวดาชัด

Advertisement

ผีเจ้าที่เขาตั้งศาลให้ต่ำกว่าศาลพระภูมิ เรียกว่าศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย

ความแตกต่างจากพระภูมิคือต้องมีสี่เสาและไม่ใช่รูปแบบปราสาทราชวัง แต่เป็นเรือนไทย มีรูปเคารพชาวบ้านหรือโล่งๆ ไว้

หลายบ้านจึงตั้งทั้งศาล “พระภูมิ” เสาเดียวอันเป็นของ “เทวดา” กับศาล “เจ้าที่” หรือศาลตายายซึ่งมีสี่เสา อันเป็นที่สถิตของ “ผี” ไปพร้อมๆ กัน

Advertisement

และดูเหมือนว่าจะมีความนิยมเช่นนี้แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากสองศาลในสถานที่เดียว บางอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ยังมีศาลของเทพเจ้าฮินดูเพิ่มขึ้นไปอีก

กลายเป็นมีสามศาลสี่ศาลในสถานที่เดียว

ผมเคยวิเคราะห์ว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อในเรื่องระดับชั้นของอำนาจกับพื้นที่ของคนในเมือง

สำหรับความเชื่อนี้ ศาลขนาดเล็กและพระภูมิไม่อาจมีความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจมากพอที่จะคุ้มครองอาคารและพื้นที่ที่มี “ศักดิ์” สูงขนาดนั้นได้

ทั้งๆ ที่แต่โบราณมา จะบ้านเรือนของไพร่หรือปราสาทราชวังก็ใช้ “ผี” เป็นอารักษ์ทั้งนั้น

ลองเข้าไปมหาวิทยาลัยศิลปากรวังท่าพระสิครับ มหาวิทยาลัยที่มีพระพิฆเนศวร์เป็นสัญลักษณ์ แต่เราจะไม่เจอศาลเทวรูปของพระองค์เลย เพราะวังท่าพระมีศาลของ “เจ้าแม่เฮงหลุย” อยู่แล้ว ซึ่งเฮี้ยนจนไม่สามารถมีเทวรูปของเทพอื่นๆ ที่นั่น

ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ น้อยมากที่จะพบเห็นบ้านเรือนที่มีสองศาลเช่นที่ว่านี้

ถ้าเป็นในต่างจังหวัดบ้านผม ชาวบ้านมักจะทำศาลง่ายๆ แบบสี่เสา ถ้ามีฐานะหน่อยก็อาจซื้อศาลแบบที่มีเสาเดียวมา ซึ่งเป็นของที่มีทีหลัง แต่จะแบบไหนก็เรียกว่า ศาลพระภูมิเจ้าที่หรือตายายปนๆ กันไป

และมีเพียงศาลเดียวเท่านั้น

“ผี”ในศาสนาผีนี่เป็นอะไรที่อธิบายยากนะครับ

แต่คงไม่ใช่แค่ผีในความหมายของวิญญาณของปัจเจกบุคคลอย่างที่เราคิดกันในปัจจุบัน

ผีนั้นอาจเป็นทั้งพลังงานของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ บรรพบุรุษ ผืนแผ่นดินบุคคลในตำนาน ฯลฯ

แต่ที่แน่ๆ ผีมีหน้าที่ดำรงกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างในชุมชนนั้นๆ ไว้ หรือเป็นสิ่งสร้างความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ

อำนาจของผีจึงเป็นแบบ “เฮี้ยน” เพราะถ้าคุณไม่กลัวและไม่เคารพผี กฎเกณฑ์ทางสังคมจะไม่มีคนเคารพอีกต่อไป ผีจึงต้องให้คุณให้โทษได้

ศาลผี หรือศาลเจ้าที่แบบเดิมจึงมีเพียงศาลเดียวในชุมชนหนึ่งๆ เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนทั้งหมด

ต่อเมื่อผู้คนเริ่มแยกตัวเป็นปัจเจกมากขึ้น ศาลพระภูมิสำหรับบ้านแต่ละหลังจึงเกิดขึ้นตามมา

พระภูมินั้น สำหรับผมคือ ผีหรือเจ้าที่ที่ถูก “จับบวช” เป็นพราหมณ์นั่นแหละครับ จะเรียกว่าพระภูมิหรือเจ้าที่คือผีอย่างเดียวกัน

ตำนานพระภูมิที่ปรากฏในบ้านเรา ถ้าพิเคราะห์ดูจะเห็นจับเอาส่วนหนึ่งของตำนานฝ่ายพราหมณ์ คือเรื่องวามาวตารมาผสมกับตำนานพื้นบ้าน

เช่น ชื่อพระบิดามารดาพระภูมิในตำราของเรา คือพระเจ้าทศราชและพระนางสันทาทุกข์ รวมทั้งพระนามพระภูมิทั้งเก้าองค์ ก็ไม่มีปรากฏในปุราณะของแขกแต่อย่างใด รวมทั้งเรื่องพระภูมิด้วย

พระภูมิที่มีอยู่เป็นชุดเก้าองค์นี้ กลับดูคล้าย ชุดของ “แม่ซื้อ” ซึ่งเป็นผีสตรีดั้งเดิมอีกชุดหนึ่งในบ้านเราที่ถูกจับบวชพราหมณ์ด้วยเช่นกัน (แต่ดูเหมือนบวชได้ไม่มากเท่าพระภูมิ เพราะทั้งรูปลักษณ์และพิธีกรรมยังละม้ายผีอยู่มาก)

ผีเจ้าที่เมื่อบวชแล้วได้แต่งองค์อย่างใหม่ใส่มงกุฎชฎา และประทับในปราสาทราชวังแทนที่ศาลผีอย่างเดิม

กระนั้นผมคิดว่าพระภูมิยังคงรักษาความเป็นผีอย่างเหนียวแน่นด้วยลักษณะสำคัญหลายประการ

กล่าวคือ

อย่างแรก ถ้าจะจัดพระภูมิเป็นเทพ พระองค์ก็เป็นเทพแบบ “ไหว้ดีพลีถูก” คือให้คุณให้โทษได้ ผู้ที่สนใจจะตั้งศาลพระภูมิจึงมักได้รับคำเตือนว่า ถ้าทำดีดูแลดีพระภูมิก็ให้คุณ ถ้าทำไม่ดีก็ให้โทษได้เช่นกัน ลักษณะนี้เป็นแบบเดียวกับเทพระดับล่างๆ ของพวกพราหมณ์ เช่นพระไภรวะ หรือเจ้าแม่ต่างๆ คือยังคงมีลักษณะอำนาจดิบๆ อย่างผีอยู่

สอง พระภูมิยังโปรดเครื่องเซ่นเป็นภักษาหารอยู่ คือยังต้องมีอะไรอย่างพื้นเมือง เช่น หัวหมู กุ้งพล่าปลายำ และเหล้าข้าวสุราบาน ผิดกับเทพแขกที่มักไม่เสวยภักษาหาร

ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระภูมิจึงขาดสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้เลย เพราะท่านยังเสวยแบบผีพื้นเมืองอยู่ อันแปลว่าท่านยังเป็นผีอย่างเก่า

สาม ที่จริงคนจะทำพิธีเกี่ยวกับพระภูมิได้นั้นมีขอบเขตกว้างมาก แต่เดิมชาวบ้านซึ่งไม่มีพราหมณ์ ก็ใช้ “หมอ” หรือ “หมอพราหมณ์” ในภาษาชาวบ้าน ซึ่งไม่ใช่พราหมณ์ในความหมายของผู้สังกัดศาสนาพราหมณ์ฮินดูหรือพราหมณ์ราชสำนัก แต่คือผู้มีความรู้ทางพิธีกรรมเป็นผู้ตั้งศาลได้ กระทั่งความนิยมประเพณีพิธีกรรมแบบพราหมณ์ราชสำนักเพิ่มมากขึ้น พราหมณ์หลวงจึงได้ออกไปประกอบพิธีให้ชาวบ้าน พิธีเกี่ยวกับพระภูมิจึงมีทั้ง พราหมณ์ หมอพราหมณ์ หมอผี พระ หรือแม้แต่เจ้าของบ้านเองที่มีความรู้ก็สามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ พระภูมิไม่ได้สังกัดศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะไงครับ แม้จะมีพื้นเพเป็นผี แต่ก็ถูกจับบวชไปทั้งพุทธและพราหมณ์จนทุกคนจากแต่ละศาสนาสามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์ได้

สี่ พิธีกรรมเกี่ยวกับพระภูมินี่ยังมีอะไรโบราณๆ ที่ไม่ใช่ของพราหมณ์หลายอย่าง เช่น ถ้าจะทำพระภูมิต้องขุดหลุม “ฝังเสา” นะครับ คือกำหนดมาด้วยว่า ถ้าจะทำอย่างพระภูมิให้ใช้เสาเดียวและฝังลงในพื้นที่

แบบนี้ทำให้ผมคิดได้ว่า ความสำคัญของศาลพระภูมิมิได้อยู่ที่ตัวศาลแต่อย่างเดียว เสาของศาลพระภูมินั่นด้วยที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เสาถึงมีข้อกำหนดและมีความหมายในพิธีกรรมเกี่ยวกับพระภูมิ คล้ายเสาผีของวัฒนธรรมพื้นเมือง

นอกจากนี้ วัตถุบูชาในศาล เขาไม่เรียก “เทวรูป” นะครับ แต่เรียกว่า “เจว็ด” ซึ่งหมายถึงรูปเคารพ และที่สำคัญ เดิมเจว็ดพระภูมิเขาไม่ได้หล่อมาเป็นเทวรูปเป็นองค์ๆ อย่างที่นิยมในปัจจุบัน

ของเก่านั้นเจว็ดพระภูมิเขาทำเป็นรูป “ใบเสมา” นะครับ โดยใช้แผ่นไม้มาสลักเป็นรูปเสมา แล้ววาด “เทวดา” ตรงกลางเข้าไป

ผมเคยไปเที่ยวชมนิทรรศการว่าด้วยเทวสตรี ยังพบรูปเคารพเจ้าแม่ในใบเสมาแกะสลักเช่นนี้ ซึ่งเป็นของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเมื่อไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาก็ยังพบเจว็ดเทวดาในใบเสมาสมัยอยุธยาด้วย

ปัจจุบันใบเสมามักถือว่าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก และของเก่าๆ ก็มักพบในภาคอีสานซึ่งอยู่ในราวสมัยทวารวดี แต่ ไมเคิล ไรท์ ผู้ล่วงลับเคยชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในพุทธบัญญัติก็มิได้บอกว่าต้องทำสัญลักษณ์เขต “พัทธสีมา” ให้อยู่ในรูปใบเสมา ในลังกาแต่เดิมพระอุโบสถก็ไม่ได้มีเสมาอย่างบ้านเราด้วย ที่จริงใบเสมาคงเป็นของเก่าแก่ในวัฒนธรรมหินตั้งของศาสนาผีมาแต่โบราณ ใช้วงรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผี ซึ่งจะถูกซ้อนทับด้วยพุทธสถานอีกทอดหนึ่ง

หนังสือ ทวารวดีในอีสานของ อ.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง มีเรื่องเสมาอธิบายอย่างน่าสนใจครับ หาอ่านกันต่อได้

ดูเหมือนวัฒนธรรมหินตั้งหรือเสมาแม้จะถูกบวชพุทธไปนานมากแล้ว แต่ที่จริงเสมาในคติผีนี่อยู่ยั้งยืนยงมากครับ การซ้อนทับกันของพื้นที่จนเสมากลายเป็นสัญลักษณ์ของพุทธสถานอย่างที่เราเข้าใจกันนั้น

ที่จริงนอกจากวัด เสมายังได้ล้อมรอบอีกสถานที่หนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ “พระบรมมหาราชวัง” ด้วย

ตามโบราณราชประเพณี กำแพงวังที่จะมีเชิงเทินเป็นรูปเสมาได้ กำหนดให้มีเฉพาะกำแพงของพระบรมมหาราชวังที่ประทับของกษัตริย์ และวังของพระโอรสที่เป็นชั้น “เจ้าฟ้า” เท่านั้น

ผมจึงไม่คิดว่า การสร้างกำแพงพระบรมมหาราชวังเป็นรูปเสมาเป็นเพียงความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมหรือขนบนิยมเท่านั้น เพราะมันมีกฎเกณฑ์และข้อบังคับอยู่

ดังนั้น มันน่าจะมีความเชื่อแฝงอยู่ด้วย เพราะในวัฒนธรรมไทย สถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ คือวัดกับวังนะครับ ไม่ใช่เพราะวังเป็นที่ประทับของสมมุติเทพตามคติพราหมณ์ที่รับมาอธิบายทีหลัง

แต่วังเป็นที่ประทับของ “เจ้าฟ้า” หรือ “ผีฟ้า”

ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีต ผีฟ้าหรือฟ้าก็มาจากความเป็นเจ้าเผ่าเจ้าแคว้นในระบบความเชื่อผีที่คลี่คลายมาสู่กษัตริย์ในระบบจักรวาลของพุทธ-พราหมณ์

เป็นไปได้ว่า การมีใบเสมาต้องล้อมรอบพระบรมมหาราชวังนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับ ใบเสมาที่ล้อมรอบศาสนสถานโบราณ ในวัฒนธรรมหินตั้งก่อนสมัยทวารวดี อันเป็นความเชื่อที่เก่าแก่มากๆ เพราะวังนั้นศักดิ์สิทธิ์มากๆ และตรงกับความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิมของผีกว่าวัดเสียอีก

น่าอัศจรรย์นะครับที่ประเพณีและความเชื่อนี้ยังมีมาอยู่ถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับมาที่พระภูมิของเรา ผมจึงคิดว่าการที่เจว็ดพระภูมิ ต้องทำเป็นรูปใบเสมานั้น จึงไม่ใช่การทำอย่างลอยๆ ในแง่ความงาม แต่เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งทีเดียวว่า พระภูมินั้นคือผีแน่ๆ และสะท้อนว่า ใบเสมามิได้เป็นเพียงสิ่งสำหรับปักเขตแดน แต่ตัวมันเองก็เป็นวัตถุแห่งการเคารพบูชาด้วย

เวลานาคจะเข้าโบสถ์ ในประเพณีไทยจึงต้อง “วันทาเสมา” ก่อนนะครับ วันทาเสมานี้ผมเข้าใจว่าไม่มีในพุทธบัญญัติ เพราะบทสวดวันทาเสมาก็เอามาจากบทต้นของบทขานนาคนั่นแหละ

แม้ว่าจะอธิบายกันว่าก็เพื่อแสดงความเคารพต่อพัทธสีมา ซึ่งที่จริงควรเข้าไปแสดงความเคารพในพระอุโบสถซึ่งมีพระพุทธรูปมากกว่า

แต่เพราะใบเสมาคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เป็นสัญลักษณ์ของ “เจ้าที่” ของพระอุโบสถ และมันยังทำหน้าที่กั้นเขตแดนของโลกศักดิ์สิทธิ์กับโลกสาธารณ์ไว้ด้วย เราจึงต้องวันทาเสมาก่อนเข้าโบสถ์

และเราก็กราบไหว้เจว็ดพระภูมิในรูปใบเสมาเช่นกัน

ที่จริงแก่นของพระภูมิก็คือ “เจ้าที่” หมายถึงอำนาจทิพยศักดิ์ที่ครอบครองบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่ได้ลอยไปลอยมา ส่วนเสมาในหน้าที่หนึ่งนั้นก็เป็นสิ่งแสดง “อาณาเขต” หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นเดียวกัน

แก่นของพระภูมิและแก่นของใบเสมาจึงตรงกันพอดี เจว็ดพระภูมิที่เป็นรูปเสมานั้นจึงมีที่มาและความหมาย

ในปัจจุบัน จะหาเจว็ดพระภูมิแบบใบเสมายากเสียแล้ว เพราะไม่ค่อยโก้เท่าที่เป็นเทวรูป

และแม้แต่ศาลพระภูมิก็มีรูปแบบวิจิตรพิสดารขึ้นเรื่อยๆ มีแม้กระทั้งศาลสไตล์รีสอร์ตหรือโมเดิร์น

ในอดีตผีพยายามปรับตัวโดยการยอมบวชเป็นพราหมณ์หรือพุทธ และในขณะเดียวกัน ของจากศาสนาในอินเดีย ผีก็จับมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบผีโดยไม่รู้ตัว

มาถึงปัจจุบัน ผีต้องยอมปรับเปลี่ยนรูปแบบภายนอกอีก เพื่อจะดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ และเพื่อจะให้สอดคล้องกับระบบทุน

ในอนาคต ไม่แน่นะครับ เราอาจเห็นเจว็ดพระภูมิเปลี่ยนเครื่องทรง จากมงกุฎชฎามาใส่สูทผูกไท้

เลิกถือพระขรรค์กับถุงเงิน แต่ถือสมาร์ตโฟนและบัตรเครดิตแทนก็เป็นได้

แต่ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้ท่านได้ถือบัตรเลือกตั้งมากกว่า

เพราะสำหรับหลายคนแล้ว บัตรนี้น่าจะมีค่ากว่าถุงเงินถุงทองเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image